xs
xsm
sm
md
lg

กกต.แจงร่าง กม.ออกเสียงประชามติไม่ปราบคนเห็นต่าง แนะทำแบบผู้ดี หวั่น 3 พันล้านละลายแม่น้ำ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต. (ภาพจากแฟ้ม)
กกต. ชี้แจงกรณีร่างกฎหมายออกเสียงประชามติ กำหนดโทษสูงไม่ได้ปราบคนเห็นต่าง แต่คุ้มครองให้เดินหน้า เน้นเห็นต่างแบบผู้ดี หวั่นเงิน 3 พันล้าน ละลายแม่น้ำ เตือนใครป่วนช่วงยังไม่ออกกฎหมาย เสี่ยงเจอกฎหมายความมั่นคง เผยโรดแมปประชามติ 3 ช่วง เผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญเมษายนนี้ ก่อนกระตุ้นคนออกไปใช้สิทธิ์ แจงยังไม่มีคนสมัครเลขา กกต. คาดกำลังเขียนวิสัยทัศน์

วันนี้ (17 ก.พ.) สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้จัดงาน กกต. พบสื่อประจำปี 2559 โดยมี นายศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต. และ กกต. ทั้ง 4 คน ร่วมกันแถลงถึงการเตรียมการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ โดย นายศุภชัย กล่าวว่า กกต. มีความพร้อมในการออกเสียงประชามติ ที่คาดว่า จะมีขึ้นในวันที่ 31 ก.ค. มียุทธศาสตร์ และจัดตั้งศูนย์ประชามติ วางวิสัยทัศน์ชัดเจน สุจริตเที่ยงธรรม

นายธีรวัฒน์ ธีรโรจน์วิทย์ กกต. ด้านกิจการพรรคการเมืองและการออกเสียงประชามติ กล่าวว่า กกต. ภูมิใจกับภารกิจประวัติศาสตร์จัดลงประชามติให้บรรลุเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ การจัดทำประชามติครั้งนี้ใช้งบประมาณค่อนข้างสูง เพราะภาวะต่าง ๆ เปลี่ยนไป ใช้งบ 3,000 กว่าล้านบาท ซึ่ง กกต. ตระหนักและระวังว่าจะไม่ให้เงินละลายน้ำ

ส่วนร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยความเรียบร้อยในการออกเสียงประชามติ ที่มีการกำหนดโทษการกระทำผิดในการออกเสียงค่อนข้างสูงนั้น ก็เพื่อคุ้มครองให้ประชามติเดินหน้าไปได้ เพราะมีใครหนึ่งล้มประชามติด้วยวิธีง่าย ๆ เงิน 3 พันกว่าล้านก็จะเสียเปล่า ประเทศชาติเสียชื่อเสียง จึงเป็นมาตรการป้องปราม ไม่ใช่กฎหมายเพื่อปราบปรามคนเห็นต่าง แต่ต้องเห็นต่างบนความถูกต้อง เห็นต่างแบบผู้ดี และคิดว่าคนที่เขามีความคิดสร้างสรรค์ก็จะไม่ใช้วิธีการที่ไม่ถูกต้องในการต่อสู้ทางการเมือง

ด้าน นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต. ด้านบริหารงานเลือกตั้ง ก็กล่าวในประเด็นเดียวกันว่า สาระของกฎหมายดังกล่าวเป็นการกำหนดความผิดที่ไม่ต่างจากความผิดในกฎหมายเลือกตั้ง แต่ในปัจจุบันมีความก้าวหน้าของการสื่อสาร ทำให้กฎหมายนี้จำเป็นต้องรวมความผิดตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์เข้าไปด้วย และไม่อยากให้มองว่าเป็นการออกกฎหมายเพื่อจะป้องปรามฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เพราะแม้แต่ฝ่ายที่รณรงค์ให้รับร่างรัฐธรรมนูญ ถ้ารณรงค์โดยปกปิดข้อมูลบางส่วน โกหกคำโต ก็มีความผิดเช่นกัน ฉะนั้นไม่ว่าฝ่ายการเมือง หรือนักวิชาการ ถ้ารณรงค์ด้วยความสุจริตใจ เสนอข้อมูลตรงไปตรงมา ก็ขอให้สบายใจได้ ซึ่ง กกต. จะก็มีการเสนอร่างกฎหมายดังกล่าวไปยังรัฐบาลตั้งแต่วันที่ 16 ก.พ. ที่ผ่านมา ขึ้นอยู่กับรัฐบาลจะพิจารณาว่าจะออกด้วยวิธีใด

อย่างไรตาม ในขณะนี้ที่เริ่มมีการณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ยังไม่อยู่ในจุดที่ กกต. จะเข้าไปควบคุมอะไรได้ เนื่องจากร่างกฎหมายดังกล่าวยังไม่มีผลบังคับใช้ ซึ่งผู้ทีดำเนินการก็ต้องระมัดระวังเอาเองว่าอาจจะเข้าข่ายผิดกฎหมายความมั่นคง

นายสมชัย ยังกล่าวถึงการออกเสียงประชามติด้วยว่า การทำงานภายใต้หลัก 3 ป. คือ ป. ที่ 1 ประชาชนสะดวกนั้น กกต. ไม่กังวล เพราะเตรียมการมาพอสมควร แต่ที่ยังกริ่งเกรงว่าจะสำเร็จหรือไม่ คือ ป. ประชามติเที่ยงธรรม ซึ่ง กกต. จะพยายามเต็มที่ให้ทั้งฝ่ายสนับสนุนและคัดค้านได้มีการแสดงความคิดเห็นต่อสาธารณะอย่างเท่าเทียม ภายใต้กติกา ไม่ปลุกระดมการเมือง หรือให้เกิดประโยชน์ต่อกลุ่มการเมืองกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ทำให้ชาวโลกเห็นประชามติที่เป็นกลาง ไม่ให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบ โดยได้ออกแบบให้องค์กรที่ประสงค์รณรงค์มาจดแจ้งการรณรงค์กิจกรรม คัดเลือกส่งตัวแทนเข้ามาจัดเวทีอภิปรายกับ กกต. ผ่านทีวีประมาณ 10 ครั้ง เพื่อให้ข้อมูลแก่ประชาชน ส่วน ป. ประชาธิปไตยคุณภาพ ก็เป็น ป. ที่หนักใจมากที่สุด อยากให้ประชามติครั้งนี้ ประชาชนก่อนการออกเสียงมีเหตุผล รู้จริง รัฐธรรมนูญไม่ได้ตัดสินใจบนความรู้สึก หรือ บนพื้นฐานการเมืองเป็นอย่างไร

ทั้งนี้ ในการเผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญภายใต้กรอบที่จะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวจากที่ต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของครัวเรือนที่มีสิทธิออกเสียง มาเป็นอย่างทั่วถึงนั้น กกต. จะมีการจัดพิมพ์ร่างรัฐธรรมนูญแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ 1. จะจัดพิมพ์ร่างรัฐธรรมนูญฉบับเต็ม 1.2 ล้านเล่ม กระจายไปยังจุดต่าง ๆ ที่ประชาชนจะเข้าถึงได้ 2. จัดพิมพ์สรุปสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญ ประมาณ 20 หน้า จำนวน 6 ล้านเล่ม และ 3. จัดพิมพ์สรุปย่อสาระสำคัญ 17 ล้านเล่ม ส่งถึงผู้มีสิทธิทุกครัวเรือน โดยจะส่งไปพร้อมกับหนังสือแจ้งเจ้าบ้าน ซึ่งในเอกสารนี้จะมีเนื้อหาทั้งที่เหตุใดควรรับและไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ โดย กกต. จะให้องค์กรที่ลงทะเบียนรณรงค์กับ กกต. เป็นผู้ส่งข้อมูลมาให้ กกต. จัดพิมพ์ การจัดพิมพ์เอกสารทั้งสามส่วนนี้จะใช้งบประมาณราว 170 ล้านบาท จากเดิม 800 ล้านบาท ซึ่ง กกต. ได้ของบรัฐบาลไปส่วนนี้ 200 ล้าน ไว้กรณีที่อาจจำเป็นต้องจัดพิมพ์เพิ่มเติม

สำหรับการแจกจ่ายให้ทั่วถึงนั้น กกต. จะอาศัยทุกเครือข่ายในการนำเอกสารร่างรัฐธรรมนูญไปให้ถึงมือประชาชน โดยจะผ่านศูนย์ส่งเสริมพัฒนาประชาธิปไตย และการเลือกตั้งตำบล 7 หมื่นกว่าแห่ง รด. กำนัน - ผู้ใหญ่บ้าน สถานศึกษา ในการกระจายข้อมูล รวมทั้งยังมีการจัดทำแอปพลิเคชัน ฉลาดรู้ ให้ความรู้เรื่องรัฐธรรมนูญทั้งแบบยากและง่าย ซึ่งการเผยแพร่หากไม่มีการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญมากไม่เกินสิ้น เม.ย. ก็จะสามารถดำเนินการได้

ส่วนที่เกรงว่าการเผยแพร่เนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญของบุคคลเหล่านี้อาจจะมีการชี้นำให้ผู้มีสิทธิรับหรือไม่รับรัฐธรรมนูญนั้น เห็นว่า เมื่อบุคคลเหล่านี้ได้รับการแต่งตั้งให้ช่วยงาน กกต. ก็ต้องถือเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่ในการออกเสียงประชามติ ถ้าดำเนินการในลักษณะไม่เป็นกลางก็จะมีความผิดกว่าบุคคลทั่วไป อีกทั้ง กกต. ก็มีแอปพลิเคชันตาสับปะรด ซึ่งถ้าผู้มีสิทธิออกเสียงเห็นว่ามีการกระทำความผิดเกิดขึ้น ก็สามารถถ่ายคลิป หรือส่งข้อมูลร้องเรียน ผ่านแอปพลิเคชันดังกล่าวได้

ภายหลังการแถลงข่าว ยังได้มีการตั้งศูนย์เตรียมการและประสานงานการออกเสียงประชามติ โดยมีการจัดทำโรดแมปที่แบ่งระยะเวลาในการทำประชามติเป็น 3 ช่วง คือ 1. ช่วงคิกออฟ เริ่มตั้งแต่วันที่ 30 - 31 มี.ค. 2. ช่วงดีเดย์ เริ่มตั้งแต่วันที่ 4 - 8 เม.ย. ที่จะเริ่มกระบวนการเผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญ และสร้างความเข้าใจให้ประชาชน และ 3. ช่วงบิ๊กเดย์ เริ่มตั้งแต่วันที่ 27 - 29 ก.ค. ที่จะเริ่มกระบวนการรณรงค์ประชามติเพื่อกระตุ้นให้ประชาชนออกไปใช้สิทธิ์ โดยในขณะนี้ กกต. มีความพร้อมในการจัดทำประชามติแล้วประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ อย่างไรก็ตาม ในการทำประชามติครั้งนี้ กกต. มีการตั้งเป้าว่าจะมีประชาชนออกมาใช้สิทธิ์ถึง 80 เปอร์เซ็นต์

นายศุภชัย กล่าวถึงการเปิดรับสมัครเลขาธิการ กกต. ที่เปิดรับสมัครตั้งแต่ 8 ก.พ. ถึง 7 มี.ค. แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีผู้สมัคร ว่า คงไม่ใช่เพราะอดีตเลขาธิการ กกต. ถูกเลิกจ้าง จึงทำให้คนที่คิดจะสมัครเกิดความไม่มั่นใจ เพราะการที่จะเลิกจ้างหรือไม่เลิกจ้างนั้น อยู่ที่สัญญาการว่าจ้าง ถ้าการทำงานของเลขาธิการ กกต. ทำงานไม่เข้าเกณฑ์สัญญาการว่าจ้าง กกต. ก็ไม่จ้างต่อ ซึ่งขณะนี้ผู้ที่จะมาสมัครกำลังเขียนวิสัยทัศน์เพื่อให้กรรมการพิจารณา หรือรอว่าใครมาสมัครบ้าง หากครบกำหนดแล้วไม่มีใครมาสมัครก็จะขยายเวลาเพิ่ม ยืนยันว่า ไม่มีการผลักดันคนใน กกต. สมัครเป็นเลขาธิการ


กำลังโหลดความคิดเห็น