รองเลขาฯ กกต.ย้อน “เรืองไกร” จัดเลือกตั้งงบฯ เหลือไม่ต้องคืน เก็บไว้เป็นเงินสะสมยามจำเป็น เช่นเดียวกับงบฯ จัดประชามติ รบ.ส่งร่าง รธน.ให้ กกต.เริ่มกระบวนการออกเสียงประชามติแล้ว กกต.ห่วงการกระทำผิดช่วงเทศกาลสงกรานต์ ชี้แม้ พ.ร.บ.ออกเสียงฯยังไม่มีผลใช้บังคับ แต่เสี่ยงผิด กม.มั่นคง เตรียมประชุม 18 เม.ย.เคาะวันออกเสียงที่ชัดเจน
วันนี้ (29 มี.ค.) นายธนิศร์ ศรีประเทศ รองเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แถลงข่าวชี้แจงกรณีนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ คณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย ยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อให้ กกต.คืนเงิน 1,126 ล้านบาท ที่เหลือจากการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 ก.พ. 2557 ว่า ยอมรับว่ามีเงินเหลือจริง แต่ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง มาตรา 39 และมาตรา 40 กำหนดชัดเจนว่างบประมาณที่เหลือจ่ายจากการเลือกตั้ง กกต.สามารถเก็บไว้เป็นเงินสะสมได้โดยไม่ต้องส่งคืนคลัง โดยเงินดังกล่าวจะถูกนำไปในกรณีที่มีเหตุจำเป็นซึ่ง กกต.จะต้องสามารถชี้แจงได้ ทั้งนี้ กกต.ก็ได้ประสานกับสำนักงบประมาณอยู่เป็นประจำอยู่แล้ว ในเรื่องการใช้จ่ายงบเหลือจ่าย และเงินเหลือเงินขาด
อย่างไรก็ตาม ในส่วนที่จะมีการออกเสียงประชามติ ในขณะนี้ กกต.ได้ส่งเอกสารการของบประมาณให้สำนักงบประมาณแล้ว เมื่อวันที่ 28 มี.ค.ที่ผ่านมา โดยมีวงเงินค่าใช้จ่าย 2,991 ล้านบาทเศษ โดยแยกเป็นค่าใช้จ่ายในส่วนของสำนักงาน กกต.ประมาณ 2,575 ล้านบาท ซึ่งจะใช้ในเรื่องของการจัดพิมพ์และส่งร่างรัฐธรรมนูญ รวมทั้งการจัดการออกเสียงประชามติ ค่าตอบแทนกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง 97,000 หน่วย และการจัดซื้ออุปกรณ์ต่างๆ นอกจากนั้นเป็นของหน่วยงานสนับสนุน 11 หน่วยงาน ประมาณ 416 ล้านบาท ซึ่งหลังการออกเสียงหากมีงบประมาณเหลือจ่าย กกต.ก็ไม่ต้องส่งคืนคลังเช่นกัน
นายธนิศร์ยังกล่าวด้วยว่า กกต.มีความเป็นห่วงการกระทำใดๆ ที่อาจจะเข้าข่ายความผิดในช่วงที่รัฐบาลได้มีการจัดส่งร่างรัฐธรรมนูญมาให้ กกต.เพื่อเริ่มกระบวนการประชามติแล้ว แต่ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติยังไม่มีผลใช้บังคับ โดยตามขั้นตอนคาดว่ารัฐบาลจะแจ้งให้ กกต.ดำเนินการเรื่องการออกเสียงประชามติหลังได้รับร่างรัฐธรรมนูญแล้วในวันที่ 30 มี.ค. ซึ่งก็ถือว่ากระบวนการออกเสียงประชามติได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว ฉะนั้นการกระทำใดๆ ที่อาจจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ หรืออาจจะรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ในขณะที่ พ.ร.บ.ประชามติยังไม่มีผลบังคับใช้ก็ยิ่งสุ่มเสี่ยงเป็นความผิดตามกฎหมายความมั่นคง ประกาศ คสช.จึงอยากให้มีการระมัดระวัง โดยเฉพาะเทศกาลสงกรานต์ที่จะมาถึง เนื่องจากคาดว่าแม้ร่าง พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติ สนช.จะพิจารณาเสร็จสิ้นได้ตามกำหนดระยะเวลา คือก่อนที่ กรธ.จะส่งสรุปสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญให้ กกต. แต่ในทางปฏิบัติกฎหมายดังกล่าวจะประกาศในราชกิจจานุเบกษาหลังจากที่พ้นช่วงเทศกาลสงกรานต์ไปแล้ว จากนั้นในวันที่ 18 เม.ย.นี้ซึ่งเป็นวันทำการแรกหลังจากหยุดเทศกาลสงกรานต์ กกต.ก็จะมีการประชุมเพื่อกำหนดวันออกเสียงประชามติ ที่ตามรัฐธรรมนูญกำหนดให้ไม่น้อยกว่า 90 วัน และไม่เกิน 120 วัน นับแต่วันที่ กกต.ได้รับสรุปร่างสาระสำคัญจาก กรธ. โดยเบื้องต้นยังคาดว่าวันออกเสียงจะเป็นวันที่ 7 ส.ค.ซึ่งถือว่าเป็นวันที่ 115 ตามกรอบเวลา 120 วัน แต่ทั้งนี้อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงได้ ขึ้นอยู่กับว่า กรธ.จะส่งสรุปสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญมายัง กกต.เร็วหรือช้า
อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลา 15.30 น. เจ้าหน้าที่ของสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้นำสำเนาร่างรัฐธรรมนูญมาส่งยัง กกต. โดยมีนายแสวง บุญมี รองเลขาธิการ กกต.ด้านกิจการพรรคการเมืองเป็นผู้รับมอบแล้ว ถือว่ากระบวนการออกเสียงประชามติได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว