xs
xsm
sm
md
lg

เปิดร่างกติกาประชามติ ฉีกบัตรคุก 1 ปี - ปลุกระดมโซเชียลฯ ชดใช้เงินพ่วง พ.ร.บ. คอมพ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ภาพจากแฟ้ม
กกต. เปิดร่าง พ.ร.บ. ประชามติร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เสนอที่ประชุมอังคารนี้ กำหนดโทษชัด ขวางประชามติคุก 1 ปี ปรับ 2 หมื่น ใช้กำลังเพิ่มโทษ 2 เท่า สัญญาว่าจะให้ ใช้อิทธิพลคุกคามคุก 10 ปี ปรับ 2 แสน นักเซลฟี่ดูไว้ ถ่ายรูปบัตรออกเสียงฯ คุก 5 ปี ปรับสูงสุด 1 แสน ฉีกบัตรโชว์คุก 1 ปี ปรับ 2 หมื่น ปลุกระดมผ่านสื่อ - โซเชียล ถือก่อความวุ่นวาย ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายประชามติซ่อมใหม่ พ่วงโทษตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ เผย “วิษณุ” สั่งกำหนด หลังคาดรณรงค์ฝ่ายคว่ำร่างฯ ดุเดือด

วันนี้ (14 ก.พ.) รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ระบุว่า ในการประชุม กกต. วันที่ 16 ก.พ. นี้ นอกจากจะรับทราบที่ผลการหารือร่วมระหว่าง กกต. และรัฐบาล เกี่ยวกับการจัดทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 10 ก.พ. ที่ผ่านมาแล้ว จะพิจารณาว่าจะมีการเพิ่มเติม หรือปรับแก้ลักษณะความผิด และช่องทางการกระทำผิดที่จะมีโทษทางอาญา ในร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยความเรียบร้อยในการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ที่ กกต. ได้ยกร่างเสร็จแล้วหรือไม่ รวมทั้งจะมีการปรับเป็นร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ตามที่ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี มีความเห็นในชั้นหารือร่วมกัน หรือเสนอเป็นร่างกฎหมายแล้วให้รัฐบาลไปพิจารณาเองว่าจะตราเป็น พ.ร.บ. หรือ พ.ร.ก.

ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ. ว่าด้วยความเรียบร้อยในการออกเสียงประชามติฯ ที่ กกต. ยกร่างเสร็จสิ้นมีทั้งสิ้น 16 มาตรา ประธาน กกต. เป็นผู้รักษาการ ลักษณะความผิดที่มีการกำหนดนั้นส่วนใหญ่จะเหมือน พ.ร.บ. ว่าด้วยความเรียบร้อยในการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2550 ประกอบด้วย หากเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานออกเสียงฯ ตั้งแต่ กกต. จนถึงผู้ได้รับการแต่งตั้งให้ช่วยเหลือในการปฏิบัติงานออกเสียง จงใจไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ ทุจริตต่อหน้าที่ ขัดขวางมิให้เป็นไปตามกฎหมาย ใช้ตำแหน่งหน้าที่ไปในทางทำให้การออกเสียงไม่สุจริต เที่ยงธรรม มีโทษปรับตั้งแต่ 20,000 - 200,000 จำคุก 1 - 10 ปี และอาจถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี แต่ถ้าปฏิบัติโดยสุจริต ก็ได้รับการคุ้มครองไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่งและอาญา อย่างไรก็ตาม กรณีมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานออกเสียงฝ่าฝืนกฎหมาย กกต. มีอำนาจสั่งให้เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้นยุติ หรือระงับการกระทำที่เห็นว่าอาจทำให้การออกเสียงไม่เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมได้

ขณะที่ผู้ใดขัดขวางเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานออกเสียงทุกระดับมิให้ปฏิบัติตามประกาศ กกต. มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และถ้าการขัดขวางเป็นการ ขู่เข็ญ ใช้กำลัง มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปีหรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เช่นเดียวกับผู้บังคับบัญชา นายจ้าง ถ้าขัดขวาง หน่วงเหนี่ยว ไม่ให้ความสะดวกพอสมควรต่อการไปใช้สิทธิออกเสียงของผู้ใต้บังคับบัญชา หรือลูกจ้าง ก็ต้องรับโทษในอัตราเดียวกัน

ส่วนผู้ทำลายบัตรที่มีไว้การออกเสียงโดยไม่มีอำนาจ หรือทำให้ชำรุด เสียหาย ทำบัตรเสียให้เป็นบัตรที่ใช้ได้ มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หากผู้กระทำเป็นผู้มีหน้าที่เกี่ยวกับการอออกเสียงมีโทษหนักขึ้น จำคุกตั้งแต่ 1 - 10 ปี ปรับตั้งแต่ 20,000 - 200,000 บาท

สำหรับระหว่างเปิดการลงคะแนนออกเสียง ผู้ใดรู้อยู้แล้วไม่มีสิทธิออกเสียงในหน่วยนั้น ผู้ที่ใช้นำบัตรอื่นที่ไม่ใช่บัตรออกเสียง หรือนำบัตรออกเสียง ออกจากที่ออกเสียง ทำเครื่องหมายใดไว้ที่บัตรออกเสียง เพื่อให้ผู้อื่นรู้ว่าเป็นบัตรออกเสียงของตน ใช้อุปกรณ์ใดบันทึกภาพบัตรออกเสียง ที่ตนลงคะแนนออกเสียงแล้ว ขัดคำสั่งกรรมการประจำหน่วยที่สั่งให้ออกไปจากที่ออกเสียง มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000 - 100,000 บาท หรือทั้งจำและปรับ และหากนำบัตรออกเสียงใส่หีบบัตรโดยไม่มีอำนาจ กระทำการใดในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิออกเสียงเพื่อแสดงว่ามีผู้มาแสดงตนออกเสียงผิดไปจากความจริง กระทำการให้บัตรออกเสียงเพิ่มขึ้นจากความเป็นจริง ขัดขวาง หน่วงเหนี่ยว ไม่ให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไปยังที่ออกเสียง ก่อความวุ่นวายในที่ออกเสียง กระทำการรบกวนหรือเป็นอุปสรรคแก่การออกเสียง มีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี และปรับไม่เกิน 200,000 บาท

ส่วนผู้ใดก่อความวุ่นวายไม่ให้การออกเสียงเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ให้ เสนอให้ สัญญาว่าจะให้ จัดเตรียมเพื่อจะให้ทรัพย์สิน ผลประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้แก่ผู้ใด เพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปออกเสียง หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง หลอกลวง บังคับ ขู่เข็ญ ใช้อิทธิพลคุกคาม ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ให้ไปออกเสียง ใช้ หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือทำให้สำคัญผิดในวันเวลาที่ออกเสียง วิธีการลงคะแนนออกเสียง เปิดทำลาย ทำให้เสียหาย ทำให้เปลี่ยนสภาพ ทำให้สูญหาย ไร้ประโยชน์ นำไป หรือขัดขวางส่งหีบบัตรออกเสียง บัตรออกเสียง มีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับไม่เกิน 200,000 บาท และหากเล่น จัดให้มีการพนันอันมีผลจูงใจให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปออกเสียง หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไม่ออกเสียง เรียก หรือ รับเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนและผู้อื่นเพื่อไม่ไปออกเสียง หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับตั้งแต่ 20,000 - 100,000 หรือทั้งจำทั้งปรับ และอาจถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 5 ปี

นอกจากนี้ กำหนดห้ามขาย จำหน่าย จ่ายแจก จัดเลี้ยงสุราทุกชนิดในเขตออกเสียงระหว่างเวลา 18.00 น. ของวันก่อนออกเสียง จนสิ้นสุดวันออกเสียง ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ห้ามผู้ใดจัดยานพาหนะนำผู้มีสิทธิไปหรือกลับจากที่ออกเสียงโดยไม่เสียค่าโดยสาร ค่าจ้างตามปกติ รวมถ้าจูงใจ ควบคุมให้ผู้มีสิทธิออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง มีโทษจำคุก 1 - 5 ปี ปรับตั้งแต่ 20,000 - 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และอาจถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 5 ปี แต่บทบัญญัตินี้ยกเว้นกับหน่วยงานของรัฐที่จัดยานพาหนะเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้มีสิทธิออกเสียง และห้ามเผยแพร่ผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนเกี่ยวกับการออกเสียง 7 วันก่อนการออกเสียง จนถึงเวลาสิ้นสุดการออกเสียงในวันออกเสียง ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน ปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ กรณีกรรมการประจำหน่วยออกเสียง ถ้าจงใจนับบัตรออกเสียง คะแนนออกเสียง อ่านบัตรเสียง รวมคะแนนออกเสียง ผิดไปจากความจริง หรือทำให้บัตรออกเสียง ชำรุด เสียหาย และทำรายงานการออกเสียงไม่ตรงกับความจริง มีโทษจำคุกตั้งแต่ 1 - 10 ปี ปรับตั้งแต่ 20,000 - 200,000 บาท

แต่ส่วนที่มีการกำหนดเพิ่มชัดเจนกว่าร่างกฎหมายปี 50 คือ มีการกำหนดให้ผู้ใดเผยแพร่ ข้อความ ภาพ เสียงในสื่อหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือในช่องทางอื่นใด ที่ผิดไปจากข้อเท็จจริง มีลักษณะรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม ข่มขู่ หรือลักษณะอื่นใดโดยมุ่งหวังเพื่อให้ผู้มีสิทธิไปออกเสียง หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไม่ออกเสียง ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำการก่อความวุ่นวายเพื่อให้การออกเสียงไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดยผู้ที่กระทำผิดทั้งก่อความวุ่นวายฯ ให้ สัญญาว่าจะให้ หลอกลวง บังคับขู่เข็ญ จนทำให้ต้องมีการออกเสียงประชามติใหม่ ผู้นั้นต้องรับผิดชอบในค่าใช้จ่ายในการออกเสียงประชามติใหม่ด้วย แต่กรณีผู้ที่รับเงิน ทรัพย์สิน ประโยชน์อื่นใด สำหรับตนเอง หรือผู้อื่น แล้วมาแจ้งต่อ กกต. ก่อนหรือในวันออกเสียงไม่ต้องรับโทษและไม่ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง

“นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ยกเป็นข้อสังเกตในหารือว่า การรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ อาจใช้วิธีใส่ร้าย บิดเบือน ทำให้ประชาชนเข้าใจผิดในเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญเพื่อหวังผลทางการเมือง โดยเฉพาะกระทำผ่านทางโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ขอให้ กกต. ไปกำหนดความผิดให้ครอบคลุมการกระทำเหล่านี้ รวมถึงความผิดตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ด้วย ซึ่งในร่าง พ.ร.บ. ที่ กกต. ยกร่าง ก็กำหนดความผิดที่กระทำผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงการใช้คำว่า “ช่องทางอื่น” น่ากว้างขวางเพียงพอแล้ว แต่ก็ขึ้นอยู่กับที่ประชุม กกต. พิจารณาอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ร่างกฎหมายนี้แม้ยกฐานความผิดตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยความเรียบร้อยในการออกประชามติเมื่อปี 2550 และความผิดตามกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. มาบัญญัติไว้ แต่ถือว่ามีความรุนแรงกว่า เพราะมีการกำหนดให้ต้องรับผิดชดใช้ค่าใช้จ่ายในการออกเสียงประชามติใหม่ ในความผิดเกี่ยวกับการก่อความวุ่นวายไม่ให้การออกเสียงเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ที่ประเภทความผิดกำหนดไว้กว้าง นอกเหนือจากโทษจำคุกและโทษปรับ อีกทั้งในบางความผิดที่มีโทษเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งฝ่ายการเมืองที่จะรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ก็ต้องระมัดระวัง เพราะหากร่างรัฐธรรมนูญนี้ผ่านมีผลบังคับใช้ ก็จะทำให้ไม่สิทธิสมัครรับเลือกตั้งอีกตลอดชีวิต และถ้าความผิดนั้นถูกพิสูจน์ว่าพรรคการเมืองรู้เห็นเกี่ยวข้องก็ก็มีสิทธินำไปสู่การถูกยุบพรรคได้อีกด้วย” แหล่งข่าว กกต. ระบุ


กำลังโหลดความคิดเห็น