xs
xsm
sm
md
lg

กกต.วาง 31 ก.ค.ประชามติ จ่อชงร่างหลักเกณฑ์ฯ ยังไม่ตอบปม “มาร์ค” ลงส.ส.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ผู้ทรงคุณวุฒิ กกต.เผย กกต.เห็นชอบร่างประกาศหลักเกณฑ์วิธีการออกเสียงประชามติ ชง สนช.สัปดาห์หน้า เปิดเส้นทางสู่ประชามติ กำหนด 31 ก.ค. หย่อนบัตรลงประชามติร่าง รธน. ตอบไม่ได้ “อภิสิทธิ์” ลงสมัคร ส.ส.ได้หรือไม่ รอดูร่าง รธน. ส่วนนั่งหัวหน้าพรรคต่อได้หรือไม่ เร็วไปที่จะตอบ

วันนี้ (7 ม.ค.) นายธนิศร์ ศรีประเทศ ผู้ทรงคุณวุฒิสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แถลงว่า ที่ประชุม กกต.มีมติเห็นชอบร่างประกาศหลักเกณฑ์วิธีการออกเสียงประชามติและจะมีการเสนอไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในสัปดาห์หน้า โดยร่างประกาศฯดังกล่าวมีเนื้อหาสำคัญ 2 ประการ คือ 1. หลักการเผยแพร่ จัดพิมพ์ การแสดงความคิดเห็นของฝ่ายที่เห็นชอบและไม่เห็นชอบ การจัดสรรเวลาออกอากาศ ซึ่งการจัดพิมพ์บัตรออกเสียง ร่างรัฐธรรมนูญ ทาง กกต.ให้นโยบายกับสำนักงานฯให้ใช้วิธีการประกวดราคาตามปกติ การจัดส่งก็จะบริษัทไปรษณีย์จะเป็นผู้ดำเนินการจัดส่งไปยังครัวเรือนของผู้มีสิทธิออกเสียงที่เบื้องต้นกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ระบุว่ามีทั้งหมด 19 ล้านครัวเรือน ส่วนการแสดงความคิดเห็นเบื้องต้นจะมีการออกระเบียบฯ โดยกำหนดให้มีการลงทะเบียนในแต่ละจังหวัดของผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกลุ่มละ 15 คนแล้วให้คัดเลือกตัวแทนเข้ามาบันทึกเทปที่ส่วนกลาง ก่อนที่กกต.จะนำเผยแพร่ทางโทรทัศน์ วิทยุและสื่อต่างๆเพื่อให้ประชาชนได้รับทราบ

2. รูปแบบหลักเกณฑ์และวิธีการออกเสียงประชามติ ที่จะคล้ายกับการเลือกตั้ง ส.ว.ซึ่งใช้จังหวัดเป็นเขตออกเสียงที่เป็นกระบวนการตามปกติอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม กกต.มีข้อกังวล เนื่องจากรัฐธรรมนูญชั่วคราว ไม่ได้กำหนดบทลงโทษกับผู้ที่อาจกระทำผิดในการออกเสียงประชามติ ทั้งฉีกบัตร ขัดขวางการออกเสียงฯ เปิดเผยผลสำรวจความเห็นประชาชนก่อนวันออกเสียง และการซื้อเสียง กกต.จึงจะได้ทำเป็นข้อสังเกตไปยังสนช. ว่าอาจดำเนินการเช่นเดียวกับเมื่อครั้งการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 50 ที่รัฐบาลมีการออก พ.ร.บ.รักษาความเรียบร้อยในการออกเสียงประชามติได้ รวมไปถึงข้อสังเกตอื่นที่อาจะเป็นปัญหาต่อการทำประชามติ เช่น มาตรา 37 วรรค 7 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวที่กำหนดเกณฑ์ออกเสียงประชามติว่าร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านประชามติต้องได้เสียงข้างมากของผู้มีสิทธิออกเสียงทั้งหมด

นายธนิศร์ยังกล่าวอีกว่า ในส่วนการปฏิบัติงานของ กกต.เกี่ยวกับการเตรียมการประชามติ ก็ได้มีการกำหนด เส้นทางสู่ประชามติ (R2R ROAD TO REFERENDUM) ระยะเวลาตั้งแต่ มี.ค.-ก.ค. โดยเริ่มจากโรดแมปของกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ) ที่จะเผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกในวันที่ 29 ม.ค. จากนั้นจะรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเพื่อนำไปปรับปรุงร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งคาดว่า ร่างรัฐธรรมนูญจะเสร็จสมบูรณ์วันที่ 29 มี.ค. ก่อนที่จะส่งให้แก่คณะรัฐมนตรีในวันที่ 30 มี.ค.เพื่อพิจารณา ซึ่งตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวกำหนดให้ ครม.ต้องส่งมาให้ กกต.ดำเนินการออกเสียงประชามติโดยเร็ว แต่ไม่ได้ระบุระยะเวลาว่าภายในเมื่อใด ซึ่งคาดว่าครม.จะมีการส่งมาให้ กกต.ภายใน 1-2 สัปดาห์แรกของเดือน เม.ย.โดยประมาณ หากเป็นไปตามแผนงานดังกล่าว กกต.คาดว่าภายในวันที่ 8 เม.ย.ก็จะเร่มพิมพ์ร่างรัฐธรรมนูญ และเอกสารสรุปสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญตามที่ กรธ.สรุปส่งมาให้ ซึ่งการจัดพิมพ์ฯจะทำควบคู่กับการจัดส่งร่างรัฐธรรมนูญไปยังครัวเรือนของผู้มีสิทธิออกเสียง โดยน่าจะเริ่มจัดส่งได้ตั้งแต่วันที่ 27 เม.ย.เป็นต้นไป และรัฐธรรมนูญชั่วคราวได้กำหนดว่าต้องจัดส่งให้ครัวเรือนไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 จึงจะสามารถประกาศวันออกเสียงประชามติได้ ซึ่งจำนวนร้อยละ 80 ของ 19 ล้านครัวเรือน คือประมาณ 14 ล้านครัวเรือน โดย กกต.เชื่อว่าจะน่าส่งได้แล้วเสร็จภายในวันที่ 20 มิ.ย. รวมระยะเวลาการพิมพ์และจัดส่ง 45 วัน และคาดว่าวันที่ 22 มิ.ย. กกต.จะสามารถประกาศวันออกเสียงประชามติได้ ซึ่งมีการกำหนดวันออกเสียงประชามติไว้เบื้องต้นเป็นวันที่ 31 ก.ค.

แต่ทั้งนี้วันออกเสียงสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามปัจจัยการส่งเอกสารร่างรัฐธรรมนูญของ ครม.มายัง กกต. และการจัดส่งเอกสารร่างรัฐธรรมนูญไปครัวเรือนผู้มีสิทธิออกเสียงที่จะดำเนินการให้ได้ร้อยละ 80 เมื่อใด ส่วนการรณรงค์ของฝ่ายเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย การเผยแพร่ขั้นตอนการออกเสียงก็จะดำเนินการในช่วงเดือน พ.ค.เป็นต้นไป จนถึงวันก่อน ออกเสียงประชามติ สำหรับงบประมาณในการจัดออกเสียงประชามติ ขณะนี้อยู่ระหว่างการประสานกับสำนักงานประมาณและหน่วยงานราชการที่จะต้องเข้ามาสนับสนุนการจัดการออกเสียง รวมทั้งต้องรอดูว่าสนช.จะการเสนอประเด็นให้รัฐบาลทำประชามติเพิ่มเติมหรือไม่ จึงยังไม่สามารถกำหนดได้

นายธนิศร์กล่าวกรณีคุณสมบัติของนายอภิสทธิ์ เวชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ จะสามารถลงสมัคร ส.ส.ได้หรือไม่ว่า ยังไม่สามารถตอบได้ เพราะจะต้องรอดูการร่างรัฐธรรมนูญ และกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าจะกำหนดคุณสมบัติของผู้สมัคร ส.ส.ไว้อย่างไร เช่นในอดีตเคยมีกำหนดว่าต้องจบปริญญาตรี แต่เมื่อมีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ก็ไม่ได้มีการกำหนด ส่วนคำพิพากษาศาลแพ่งจะมีผลต่อคุณสมบัติการเป็นหัวหน้าพรรคของนายอภิสิทธิ์ตาม พ.ร.บ.พรรคการเมือง 2550 ที่ยังมีผลบังคับใช้อยู่หรือไม่ ขณะนี้ทางด้านกิจการพรรคการเมืองของสำนักงาน กกต.กำลังพิจารณาในข้อกฎหมายอยู่ จึงเร็วไปที่จะตอบ


กำลังโหลดความคิดเห็น