xs
xsm
sm
md
lg

“สมชัย” ยัน สนช. ตีตกร่างประกาศประชามติไม่กระทบแผน ปัดส่งสัญญาณ คสช.อยู่ยาว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต. ด้านบริหารงานเลือกตั้ง (ภาพจากแฟ้ม)
กกต. ชี้ วิป สนช. ตีกลับร่างประกาศออกเสียงประชามติ ยังไม่กระทบแผนลงประชามติ 31 ก.ค. ระบุ ยังมีเวลาอีก 2 เดือน พิจารณาให้แล้วเสร็จ ชี้ มี 3 แนวทางที่รัฐบาลควรเลือกดำเนินการให้เกิดความชัดเจน ปัดตอบเป็นการส่งสัญญาณ คสช. อยู่ยาวหรือไม่ ด้าน สนช. ถกร่างประกาศ ชี้ กกต. ควรเป็นผู้ประกาศร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติหรือไม่ ยันหากไม่แก้ไม่ให้ความเห็นชอบ

วันนี้ (2 ก.พ.) นายสมชัย ศรีสุทธิยากร คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านบริหารงานเลือกตั้ง กล่าวถึงกรณีที่วิปสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ตีกลับร่างประกาศหลักเกณฑ์และวิธีการออกเสียงประชามติของ กกต. โดยต้องการให้ กกต. ไปบัญญัติให้ชัดเจนในเรื่องเกณฑ์การออกเสียงประชามติ ว่า การตีกลับร่างประกาศดังกล่าวเบื้องต้น ยังไม่ถือว่าส่งผลกระทบต่อแผนการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญที่ กกต. วางไว้ว่าวันออกเสียงประชามติจะเป็นวันที่ 31 ก.ค. เพราะยังมีเวลาอีกประมาณ 2 เดือนที่จะพิจารณาร่างประกาศดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวเห็นว่า มี 4 แนวทางในการดำเนินการเรื่องนี้ คือ 1. หากรัฐบาลเห็นว่า เนื้อหาสาระของรัฐธรรมนูญชั่วคราวในเรื่องหลักเกณฑ์ประชามติไม่ชัดเจน ก็อาจใช้วิธีสอบถามผู้ร่างฯ ว่าเจตนารมณ์ของการร่างมาตราดังกล่าวเป็นอย่างไร ซึ่งโดยปกติแล้วการร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราวจะมีการบันทึกเจตนาการร่างเอาไว้ ว่า สารสำคัญ ในมาตรานั้น คือยึดเสียงข้างมากของอะไร นี่คือวิธีการที่ง่ายที่สุด

2. ถ้าคิดว่าจะไม่แก้ไข แต่เนื้อหายังกำกวม รัฐบาลในฐานะเป็นผู้ที่ใช้ผลของประชามติ อาจจะเป็นผู้เสนอความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้เกิดการตีความ ว่าสาระของบทบัญญัตินั้น แปลความว่าต้องใช้เสียงข้างมากของอะไร

3. รัฐบาลเสนอ สนช. ให้เกิดการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เกิดความชัดเจน 4. รัฐบาลไม่ทำอะไรเลย ซึ่งทางสุดท้ายนี้ก็จะทำให้สังคมเกิดการถกเถียงกัน เป็นแนวทางที่ไม่น่าจะเป็นผลดี ทำให้คนเกิดความสงสัยกัน ทั้งผู้ที่ไปออกเสียงก็จะไม่รู้ว่าสิ่งที่ตนออกเสียงไปนั้น มันจะนำไปสู่ผลอย่างไร จึงเห็นว่า รัฐบาลควรต้องดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งใน 3 แนวทางมากกว่า

นายสมชัย ยังกล่าวอีกว่า ส่วนตัวเห็นว่า สนช. ไม่จำเป็นต้องตีกลับร่างประกาศดังกล่าว เพราะในฐานะที่ สนช. เป็นผู้ที่มีอำนาจหน้าที่ในการออกกฏหมาย สนช. สามารถแก้ไข หรือร่างประกาศใหม่ได้เพราะเป็นฝ่ายที่มีหน้าที่ออกกฎหมาย เมื่อร่างประกาศมาเป็นอย่างไรแล้ว กกต. ในฐานะฝ่ายปฏิบัติก็พร้อมที่จะปฏิบัติตาม แต่เมื่อตีกลับมาด้วยเหตุผลดังกล่าว กกต. ก็คงต้องนำมาหารือในการประชุม กกต. วันที่ 9 ก.พ. ว่า จะดำเนินการกันอย่างไร ซึ่งก่อนหน้านี้ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ก็เคยแจ้งว่าจะหารือกับ กกต. ในปมปัญหาดังกล่าว แต่ยังไมได้มีการระบุวันเวลาที่ชัดเจน

ทั้งนี้ นายสมชัย ปฏิเสธที่จะตอบว่า การตีกลับร่างประกาศดังกล่าว และที่ก่อนหน้านี้ กรธ. ระบุว่า อาจต้องมีการขยับโรดแมปการเลือกตั้งทั่วไปจากเดิมที่กำหนดจะมีขึ้นในปี 2560 เป็นการส่งสัญญาณว่า อาจไม่มีประชามติ และรัฐบาล คสช. จะอยู่ยาวหรือไม่ โดยระบุว่า เป็นเรื่องที่ต้องไปถามฝ่ายการเมือง ตนไม่ค่อยรู้เรื่องการส่งสัญญาณอะไรทั้งนั้น

รายงานข่าวแจ้งว่า ในการประชุมวิป สนช. วันนี้ นอกจากมีตัวแทนของฝ่าย กกต. นำโดย นายบุณยเกียรติ รักชาติเจริญ รองเลขาธิการ กกต. ด้านบริหารงานเลือกตั้ง ในฐานะรักษาการเลขาธิการสำนักงาน กกต. แล้ว ยังมีตัวแทนของฝ่าย ครม. ร่วมอยู่ด้วย โดยฝ่าย กกต. ได้ชี้แจงถึงหลักการ เหตุผลการเสนอร่างประกาศดังกล่าว รวมถึงชี้ให้เห็นว่า หากการออกเสียงประชามติมีปัญหาเรื่องการกระทำความผิด เช่น ฉีกบัตร ขนคน ประกาศดังกล่าวไมได้กำหนดบทลงโทษเอาไว้ เพราะโทษดังกล่าวเป็นโทษอาญา ไม่สามารถดำเนินการได้ โดยใช้ประกาศ กกต.

ขณะเดียวกัน รัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับแก้ไขเพิ่มเติมก็ไม่ได้เขียนเปิดช่องไว้ให้มีการดำเนินการ ซึ่ง สนช. ก็ไม่ได้ติดใจในประเด็นดังกล่าวมากนัก แต่มีการหยิบยกเรื่องเกณฑ์การออกเสียงประชามติขึ้นมาพิจารณา โดยวิป สนช. ยืนยันว่า หากร่างประกาศดังกล่าวของ กกต. เข้าสู่ที่ประชุม สนช. ก็จะไม่ผ่านความเห็นชอบ เพราะเห็นว่า ร่างประกาศ กกต. ที่บัญญัติว่า เมื่อเสร็จสิ้นการออกเสียงแล้ว กกต. จะรายงานผลการออกเสียงว่าผู้มีสิทธิออกเสียงมีจำนวนทั้งหมดเท่าใด มีผู้มาออกเสียงเท่าไร มีเสียงเห็นชอบ และไม่เห็นชอบเท่าไร ต่อคณะรัฐมนตรี

ส่วนข้อสรุปว่าร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติหรือไม่ เป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ประกาศนั้น ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะโดยหลักแล้ว กกต. ควรเป็นผู้ที่มีหน้าที่ในการประกาศผลการทำประชามติว่าร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวผ่านความเห็นชอบหรือไม่ ซึ่งผู้แทน กกต. ก็ได้ชี้แจงว่า เนื่องจากรัฐธรรมนูญบัญญัติไม่ชัดเจน ทำให้ กกต. ไม่สามารถยกร่างประกาศให้เกิดความชัดเจนตามที่ สนช. ต้องการได้ สนช. จึงให้ กกต. ประสานไปยัง ครม. ในการดำเนินการเรื่องดังกล่าวให้เกิดความชัดเจน และไปยกร่างประกาศดังกล่าวมาเสนอใหม่.


กำลังโหลดความคิดเห็น