รองนายกรัฐมนตรี ชี้แจงกรณีไม่มีการลงประชามตินอกราชอาณาจักร เพราะสิ้นเปลืองงบประมาณ และเสียเวลา อีกทั้งต้องแจกร่างรัฐธรรมนูญ เช่นเดียวกับที่ไม่มีลงประชามติล่วงหน้า เพื่อไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม ชี้มาเท่าไหร่นับเท่านั้น ไม่ต้องใช้คะแนนเกินครึ่งหนึ่ง ส่วนการรณรงค์ของฝ่ายการเมืองอาจผ่อนคลายเล็กน้อย แต่ขู่โหวตโนมีความผิด
วันนี้ (12 มิ.ย.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการทำประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ภายหลังการเชิญตัวแทน 3 ฝ่าย ได้แก่ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) สำนักงบประมาณ และกรมการปกครอง มาหารือ เมื่อวันที่ 11 มิ.ย. ที่ผ่านมา ว่า เป็นการซักซ้อมทำความเข้าใจ เพื่อทำข้อตกลง เนื่องจาก กกต. ต้องไปออกกฎ กติกา การออกเสียงประชามติ เสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาให้ความเห็นชอบ โดยงบประมาณอยู่ที่ 2,667 ล้านบาท ส่วนที่ไม่ให้มีการออกเสียงประชามตินอกราชอาณาจักร เพราะสิ้นเปลืองงบประมาณ เพราะต้องใช้งบถึง 400 ล้านบาท และเสียเวลา จะเกิดความยุ่งยากกับการแจกตัวร่างรัฐธรรมนูญที่ต้องให้ได้ 80 เปอร์เซ็นต์ของครัวเรือน รวมถึงการออกเสียงลงประชามติล่วงหน้าก่อน 7 วันก็ไม่ต้อง ให้ลงประชามติวันเดียวเลย ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม ส่วนวันลงประชามติไม่ขัดข้องถ้าเป็นวันที่ 10 ม.ค. 2559 แต่นั่นไม่ได้หมายความต้องล็อกตายตัว บวกลบได้อีกนิดหน่อยถึงวันที่ 17 ม.ค. 2559 ส่วนเวลาเปิด - ปิดหีบเลือกตั้งจะเป็นเวลา 08.00 - 16.00 น.
ส่วนเรื่องของเกณฑ์การนับคะแนนที่กำหนดให้ขึ้นอยู่กับเสียงข้างมากของผู้มาใช้สิทธิ ซึ่งกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับแก้ไขเพิ่มเติมแล้ว จะมาเท่าไรก็แล้วแต่ มาเท่าไรนับเท่านั้น ไม่ต้องครึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ์เหมือนประชามติที่ผ่านมา สำหรับบัตรเลือกตั้งมี 3 บัตร 3 สี 3 หีบ เพื่อง่ายต่อการแยกบัตรเสียและการรับคะแนน และคำถามควรมีแค่ถามว่า รับ หรือไม่รับ ใช่ หรือไม่ใช่ และเห็นชอบ หรือไม่เห็นชอบ เท่านั้น และยึดเกณฑ์เดียวกัน คือ เสียงข้างมากของผู้มาใช้สิทธิ ส่วน กกต. จังหวัดที่จะหมดวาระลงกว่า 60 จังหวัดก็ไม่ต้องไปตั้งใหม่ เพราะถ้าตั้งจะอยู่ถึง 4 ปี อาจไม่ได้ทำอะไร แต่ต้องมาจ่ายเงินเดือนตลอด จึงให้ กกต. ไปคิดดูว่าจะทำอย่างไร เพราะต้องเข้ามาช่วยทำประชามติด้วย
เมื่อถามว่า การรณรงค์ออกเสียงประชามติ ฝ่ายการเมืองจะออกมารณรงค์ได้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ต้องหารือกันอีกครั้ง เรื่องนี้ทุกคนรู้ปัญหาอยู่แล้ว อย่างการจัดชุมนุมหรืออะไรต้องหยุดไว้ก่อน ส่วนที่นักวิชาการเป็นห่วงความบริสุทธ์และเป็นธรรมของการออกเสียง ประชามติ ภายใต้คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 3/2557 ของการใช้มาตรา 44 ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ปี 2557 นั้น มันทำให้เป็นธรรมได้ ไม่ใช่เรื่องลำบากอะไร อาจจะผ่อนคลายซัก 1 - 2 อย่างได้ เมื่อถามว่าหากมีการรณรงค์ให้ไม่ออกมาใช้สิทธิมีความผิดหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ถือว่ามีความผิดรวมถึงฉีกบัตร ขัดขวางการลงประชามติ รวมถึงการทำโพลก่อนการทำประชามติ 7 วัน ถือว่ามีความผิดทั้งสิ้น