ประธานกรรมการการเลือกตั้ง เปิดแผนทำประชามติหลัง สปช.เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ เบื้องต้น 10 ม.ค. 59 ให้ สปช.-สนช.ตั้งคำถามส่ง ครม. เอาเรื่องอื่นพ่วงกี่ข้อก็ได้ แต่ถ้าไม่เหมาะสมจะชงข้อสังเกตกลับ คาดใช้งบ 3 พันล้าน โยน คสช.ดูแก้คำสั่งเพื่อผ่อนคลายบรรยากาศ หวังไม่มีพวกปลุกระดม
วันนี้ (10 มิ.ย.) ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายศุภชัย สมเจริญ ประธานกรรมการการเลือกตั้ง กล่าวกรณีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เตรียมเสนอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) 2557 เปิดทางให้มีการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ว่า ขณะนี้ทาง กกต.ได้เตรียมความพร้อมไว้รองรับเรียบร้อยแล้ว หากสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ลงมติเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 6 กันยายนตามโรดแมปที่กำหนดไว้ ภายในวันที่ 16 กันยายนทาง สปช.จะต้องส่งต้นฉบับของร่างรัฐธรรมนูญมาให้กกต.จากนั้นวันที่ 30 กันยายน ทาง กกต.จะต้องจัดหาโรงพิมพ์ที่มีศักยภาพและมีประสิทธิภาพเพียงพอในการจัดพิมพ์ร่างรัฐธรรมนูญจำนวน 19 ล้านครัวเรือน หรือร้อยละ 80 ครัวเรือน ให้แล้วเสร็จภายใน 45 วัน หรือภายในวันที่ 15 พฤศจิกายน ก่อนทยอยแจกจ่ายร่างรัฐธรรมนูญเพื่อให้ประชาชนได้ศึกษาเพื่อที่จะตัดสินใจลงประชามติให้ครบทุกครัวเรือนภายในวันที่ 30 พฤศจิกายน โดยกำหนดวันลงประชามติไว้เบื้องต้นในวันที่ 10 มกราคม 2559
นายศุภชัยกล่าวต่อว่า สำหรับการกำหนดประเด็นการตั้งคำถามในการทำประชามตินั้น เป็นหน้าที่ของ สปช.และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่จะต้องเป็นผู้ดำเนินการและเสนอต่อ ครม. หาก ครม.พิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นคำถามที่เหมาะสมก็จะส่งมาให้ กกต.ดำเนินการ โดยคำถามในการทำประชามติจะมีคำถามที่นอกเหนือไปจากการถามว่ารับหรือไม่รับร่างรัฐธรรรมนูญก็ได้ ไม่ได้เป็นปัญหาหรือเป็นเรื่องที่ยุ่งยากต่อการดำเนินการของ กกต.แต่อย่างใด เนื่องจากการทำประชามติไม่จำเป็นต้องมีเพียงแค่ 1 คำถามเท่านั้น สามารถตั้งคำถามได้หลายข้อ แต่ต้องไม่เป็นคำถามที่ชี้นำหรือทำให้ประชาชนเกิดความสับสนหรือเข้าใจยาก หากมีคำถามที่ไม่เหมาะสม กกต.ก็อาจมีการตั้งข้อสังเกตแจ้งให้ ครม.ได้รับทราบได้ แต่ส่วนตัวก็เชื่อว่าทาง ครม.จะพิจารณาตั้งคำถามที่มีความเหมาะสมและรอบคอบ
ขณะที่กระบวนการเผยแพร่และทำความเข้าใจในการทำประชามตินั้น นายศุภชัยกล่าวว่า กกต.ยืนยันว่าสามารถประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการทำประชามติให้ประชาชนเข้าใจได้แน่นอน เนื่องจากได้มีการเตรียมความพร้อมไว้แล้ว โดยงบประมาณที่ใช้ในการทำประชามติคาดว่าอยู่ที่ประมาณ 3,000 ล้านบาท ส่วนจะต้องมีการแก้ไขประกาศหรือคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อผ่อนคลายบรรยากาศในการทำประชามติด้วยหรือไม่นั้นคงต้องรอให้ทางคสช.เป็นผู้พิจารณาถึงความเหมาะสมอีกครั้ง แต่หากเห็นว่ามีส่วนใดที่ขัดต่อการทำหน้าที่ของ กกต.ก็อาจจะเสนอขอให้ คสช.แก้ไขประกาศดังกล่าวได้ คาดว่าพอใกล้ถึงเวลานายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย จะดำเนินการแก้ไขให้เหมาะสมกับสถานการณ์ อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวอยากเห็นการทำประชามติที่สงบเรียบร้อยเป็นไปตามธรรมชาติ ไม่มีการปลุกระดมหรือชี้นำ หากบุคคลใดชี้นำหรือปลุกระดมก็จะมีความผิดตามกฎหมายได้