รองนายกรัฐมนตรีแนะ กกต.แจงข้อสงสัยอะไรทำได้หรือไม่ได้ในช่วงประชามติให้ชัด
วันนี้ (2 พ.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 14.00 น. นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่าอะไรทำได้และไม่ได้ ตาม พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 ว่า หลักเกณฑ์ดังกล่าวต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้ประชาชนได้รับทราบโดยทั่วกัน และประกาศดังกล่าวไม่ถือเป็นกฎหมาย เป็นเพียงคำอธิบายขยายความ จะผิดหรือไม่ผิดไม่ได้กำหนดในประกาศดังกล่าว สุดท้ายต้องไปยึดตาม พ.ร.บ.การออกเสียงประชาร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 หากใครยังมีความสงสัยในหลักเกณฑ์สามารถยื่นให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) อธิบายเพิ่มเติมได้ และตนเองอยากให้เขาชี้แจงให้ชัดเกี่ยวกับข้อสงสัยต่างๆ
ต่อมาเวลา 15.45 น. นายวิษณุ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่มีการเรียกร้องให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขยายความชัดเจนเรื่องข้อห้ามอะไรทำได้หรือไม่ได้ในการทำประชามติว่า สิ่งที่นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ได้อธิบายในเฟซบุ๊กส่วนตัวเมื่อ 1 – 2 วันที่ผ่านมา อาจจะช่วยแก้ปัญหาความสงสัยไปได้ แม้หลายคนดูแล้วระบุว่าไม่เข้าใจเหมือนเดิม แต่ตนไม่รู้จะเติมอะไรต่อ เพราะรัฐบาลไม่มีอำนาจในการกำหนด เป็นเรื่องของกกต.ที่ต้องช่วยชี้แจง แต่อยากย้ำว่าเกณฑ์ในเรื่องนี้มีอยู่ในมาตรา 7 และ 61 ของพ.ร.บ.การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญแล้ว ส่วนใครที่อ่านแล้วไม่เข้าใจนั้น ก็เหมือนกับอ่านกฎหมายทั้งหลายแล้วยังไม่เข้าใจ ซึ่งมันไม่มีใครมีหน้าที่อธิบายกฎหมายนอกจากแสดงความคิดเห็นเป็นส่วนตัว ส่วนถูกหรือผิดไม่รู้ เมื่อไปถึงศาลท่านจะเป็นคนตีความเอง แต่เชื่อว่าเกณฑ์ของกกต.นั้นจะช่วยลดความเสี่ยงให้ประชาชนได้เยอะ เพราะทำให้ประชาชนพอเข้าใจมากขึ้น
“ความจริงในส่วนของประชาชนทั่วไปผมเชื่อว่าแม้จะงงๆ อยู่ว่าอะไรทำได้หรือไม่ได้ แต่คนโดยทั่วไปก็บอกว่าถ้าอะไรไม่แน่ใจหรือมันเสี่ยงเขาก็ไม่ทำเท่านั้นเอง แต่วันนี้ที่พยายามคาดคั้นให้ออกมาให้ได้ เพราะว่าเผื่อมันได้ก็จะได้ทำ แสดงว่ามีความมุ่งมาดปรารถนาอะไรอยู่เหมือนกัน ซึ่งผมพูดต่อไม่ถูกเหมือนกัน แต่กรุณารับทราบว่าเป็นความเสี่ยงส่วนบุคคล”นายวิษณุ กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า มีการตั้งข้อสังเกตจากบางฝ่ายว่าอะไรไม่ได้เขียนไว้แสดงว่าไม่ผิด นายวิษณุ กล่าวว่า แต่พอไปถึงศาลศาลอาจบอกว่าที่นึกว่าไม่ได้เขียนแต่จริงแล้วเขียนไว้ เพราะซ่อนอยู่ในคำแล้ว เช่น หยาบคาย รุนแรง และปลุกระดม แปลว่าอะไร เราอ่านแล้วอาจนึกว่าไม่ใช่ แต่เมื่อไปถึงศาลศาลมีอำนาจตีความ เยอะแยะไปที่อ่านกฎหมายแล้วนึกว่าไม่ได้ครอบคลุม ดังนั้น เป็นความเสี่ยงของคนที่คิดว่าจะทำอะไรที่สุ่มเสี่ยง ทางที่ดีจึงอย่าไปสุ่มและไปเสี่ยง
เมื่อถามว่า เท่าที่ดูหลักเกณฑ์ของกกต.ครอบคลุมดีแล้วหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ตนอยากให้ชัดกว่านี้ เวลาเราพูดถึงดูและด้อนท์ เราไม่ได้เป็นการลอกกฎหมายมา แต่ต้องยกเป็นตัวอย่างที่เป็นรูปธรรม แล้วจับเอาสิ่งที่คนเขามักทำกันมายกเป็นตัวอย่าง มันจะได้ชัดเจนขึ้น ทีนี้ที่มีความพยายามคาดคั้นเอาความชัดเจนเพราะมีคนจำนวนหนึ่งในสังคมที่อยากจะทำให้ได้ แต่กล้าๆ กลัวๆ มันถึงได้เป็นปัญหา ดังนั้น ถ้าไม่คิดอะไรมากคือ กลัวเสียและอย่าไปทำ ส่วนกกต.จะไปขยายความเพิ่มเติมหรือไม่นั้นตอบไม่ได้ ตนจะไปรบเร้าไม่ได้ อยู่ที่กกต.เอง