กกต.แจงประกาศหลักเกณฑ์ประชามติมาจากคำถามสังคม ไม่ได้นึกเอง เขียนกระชับตามภาษากฎหมาย เชื่อตอบโจทย์ทำให้ประชาชนเข้าใจสิ่งใดควรไม่ควรทำ ย้ำผ่อนปรนไม่ได้เข้มงวด เสรีภาพจะต้องไม่หยาบ ปลุกระดม
วันนี้ (1 พ.ค.) นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวกรณีมีข้อสังเกตว่าประกาศ กกต.ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการในการแสดงความคิดเห็นในการออกเสียงประชามติไม่ชัดเจนว่า การพิจารณาของ กกต.เป็นการนำคำถามของสังคมที่ถามว่าอะไรทำได้หรือทำไม่ได้นับตั้งแต่ พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้มากำหนดให้เป็นรูปธรรมแล้วเขียนเป็นหลักปฏิบัติในรูปแบบของประกาศ กกต. ดังนั้น ประกาศดังกล่าวไม่ได้เขียนมาจากการนึกขึ้นเอง แต่เมื่อต้องเขียนเป็นภาษาทางกฎหมายแล้วจำเป็นต้องเขียนให้กระชับ ไม่สามารถแยกย่อยรายละเอียดลงไปได้ เพราะหากลงรายละเอียดมากขนาดนั้นเกรงว่าจะเป็นประกาศที่มีความยาวมหาศาลจนคนทั้งโลกจะตื่นตระหนกได้
ทั้งนี้ เชื่อว่าหลักการดังกล่าวตอบคำถามต่างๆ ของสังคมได้พอสมควรว่าอะไรทำได้ทำไม่ได้และตอบโจทย์ทุกรูปธรรมที่สังคมเกิดความสงสัย สิ่งที่ กกต.บอกว่าทำไม่ได้ไม่ได้แปลว่าห้ามทำ คนที่คิดจะทำก็ทำได้ แต่เมื่อทำแล้วก็อาจจะมีอีกฝ่ายหนึ่งที่เห็นว่าทำผิด นำพฤติกรรมดังกล่าวไปแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษ ก็เป็นวินิจฉัยของทางตำรวจว่าจะรับแจ้งความหรือไม่ จะส่งอัยการดำเนินการต่อไปหรือไม่ หรืออัยการจะฟ้องศาลหรือไม่ รวมทั้งศาลจะตัดสินอย่างไร ดังนั้น สิ่งที่ กกต.บอกว่าทำได้ ถ้าท้ายสุดมีคนไปร้องแล้วถึงศาล ซึ่งศาลอาจจะตัดสินตรงข้ามได้ หรือสิ่งที่ กกต.บอกว่าทำไม่ได้ ถ้ามีพฤติกรรมเกิดขึ้นจริง ท้ายสุดศาลอาจจะตัดสินว่าทำได้ก็ได้ เพียงแต่ว่าขณะนี้ กกต.ให้แนวปฏิบัติที่ตีความจาก พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงฯเพื่อทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจในระดับหนึ่งและรู้ว่าสิ่งใดควรทำและไม่ควรทำ
“การบอกว่ามาตรการดังกล่าวเป็นมาตรการที่เข้มงวดถือว่าเข้าใจผิดเพราะแนวทางที่ออกมาถือว่าผ่อนปรนมากกว่าปกติ และเป็นแนวทางที่ส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างเต็มที่แล้ว เพียงแต่ว่าสิทธิเสรีภาพถูกจำกัดว่าจะต้องไม่หยาบคาย เป็นเท็จ หรือปลุกระดมให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง”