xs
xsm
sm
md
lg

“สมชัย” แนะ 10 ข้อควรทำ-10 ข้อห้าม ช่วงประชามติร่าง รธน.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

สมชัย ศรีสุทธิยากร (ภาพจากแฟ้ม)
กกต.โพสต์เฟซบุ๊กขยายความว่าสิ่งใดทำได้และทำไม่ได้ ช่วงการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ แนะรูปธรรมที่สุจริตและไม่ขัดต่อกฎหมาย 10 ข้อ และรูปธรรมที่ไม่สุจริตและขัดต่อกฎหมาย 10 ข้อแบบภาษาง่ายๆ

วันนี้ (30 เม.ย.) นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้โพสต์เฟซบุ๊กโดยเผยแพร่เอกสารที่ขยายความว่าสิ่งใดทำได้และทำไม่ได้ (Do & Don't) ช่วงการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญด้วยภาษาง่ายๆ อย่างเป็นรูปธรรม ดังนี้

รูปธรรมที่สุจริตและไม่ขัดต่อกฎหมาย จำนวน 10 ข้อ ประกอบด้วย

1. การสัมภาษณ์ลงสื่อ เพื่อแสดงจุดยืนและเหตุผลการรับหรือไม่รับ

2. การโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก ไลน์ ฯลฯ เพื่อแสดงจุดยืนและเหตุผลการรับหรือไม่รับ

3. การแชร์ข้อความในเฟซบุ๊ก ไลน์ ฯลฯ เพื่อแสดงจุดยืนและเหตุผลการรับหรือไม่รับ ตามข้อ 2

4. การทำสัญลักษณ์ เครื่องหมาย ที่แสดงจุดยืนและเหตุผลการรับหรือไม่รับ

5. การแชร์สัญลักษณ์ เครื่องหมายตามข้อ 4

6. การจัดเวที สัมมนา อภิปราย ทางวิชาการ โดยหน่วยงานราชการ สถาบันการศึกษา องค์กรสื่อมวลชนตามกฎหมาย หรือโดยกลุ่มองค์กรต่างๆ ร่วมกับหน่วยงานราชการ สถาบันการศึกษา สื่อมวลชน เพื่อแสดงจุดยืนและเหตุผลการรับหรือไม่รับรัฐธรรมนูญ

7. การติดป้าย เข็มกลัด สติกเกอร์ ธง ริบบิ้น เสื้อ หรือเครื่องหมายที่แสดงสัญลักษณ์รับหรือไม่รับเป็นการบุคคล (เป็นเรื่องที่ผู้ดำเนินการพึงระวังสุ่มเสี่ยงต่อการผิดกฎหมาย)

8. การแจกเอกสาร ใบปลิว แผ่นพับ เพื่อแสดงจุดยืน และให้เหตุผลอย่างเป็นวิชาการโดยปราศจากอคติ

9. การรายงานข่าว การจัดรายการของสื่อมวลชนโดยปราศจากอคติ

และ 10. การรณรงค์ให้ความรู้เกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญและกระบวนการออกเสียงประชามติบนพื้นฐานของข้อเท็จจริง

ส่วนรูปธรรมที่ไม่สุจริตและขัดต่อกฎหมาย จำนวน 10 ข้อ ประกอบด้วย

1. การสัมภาษณ์ลงสื่อด้วยข้อความที่เป็นเท็จ หยาบคาย รุนแรง มีลักษณะเป็นการปลุกระดม

2. การโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก ไลน์ ฯลฯ ที่เป็นเท็จ หยาบคาย รุนแรง มีลักษณะเป็นการปลุกระดม

3. การแชร์ความที่เป็นเท็จ หยาบคาย รุนแรง มีลักษณะเป็นการปลุกระดม ตามข้อ 2

4. การทำสัญลักษณ์ เครื่องหมาย ที่หยาบคายเป็นการปลุกระดม ไม่สุภาพ หรือขัดต่อขนบธรรมเนียมศีลธรรม

5. การแชร์สัญลักษณ์ เครื่องหมายตามข้อ 4

6. การจัดเวที สัมมนา อภิปราย โดยกลุ่มองค์กรต่างๆ โดยไม่มีหน่วยงานราชการ สถาบันการศึกษา องค์กรสื่อมวลชนตามกฎหมายเข้าร่วม และมีเจตนาเพื่อปลุกระดมทางการเมือง

7. การชักชวนให้ติดป้าย เข็มกลัด หรือการขาย การแจกจ่ายอุปกรณ์ดังกล่าวในลักษณะรณรงค์ทั่วไป เพื่อนำไปสู่การปลุกระดม สร้างความวุ่นวายทางการเมือง

8. การแจกเอกสาร ใบปลิว แผ่นพับ ที่มีข้อความเป็นเท็จ ถ้อยคำหยาบคายหรือมุ่งสู่การปลุกระดมการชุมนุม หรือความวุ่นวายทางการเมือง

9. การรายงานข่าว การจัดรายการของสื่อมวลชนที่นำไปสู่การปลุกระดมสร้างความวุ่นวายในสังคม

และ 10. การรณรงค์เพื่อให้เกิดการคล้อยตามของคนในสังคมเพื่อให้รับหรือไม่รับ หรือขัดขวางการออกเสียงประชามติที่มีลักษณะเป็นการปลุกระดมให้เกิดความวุ่นวายทางการเมือง


กำลังโหลดความคิดเห็น