รองนายกรัฐมนตรีด้านกฎหมาย แจง กกต. ทำได้แค่ออกระเบียบประชามติ แต่ไม่มีอำนาจกำหนดโทษ สนช. ตีกลับร่าง กกต. ให้ไปเสนอรัฐบาลกำหนดโทษ แย้มจะใช้มาตรา 44 ก็ได้ แต่ถ้าไม่สมควรก็ใช้พระราชกำหนดหรือพระราชบัญญัติ เตรียมหารือสัปดาห์หน้า แย้มคงไม่ถึงกับห้ามรณรงค์
วันนี้ (4 ก.พ.) ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 16.30 น. นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีด้านกฎหมาย กล่าวถึงแนวทางการกำหนดบทลงโทษความผิดต่าง ๆ ในการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ว่า เนื่องจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีหน้าที่ออกกฎระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการออกเสียงประชามติ แต่ไม่มีอำนาจในการกำหนดโทษ เพราะเรื่องดังกล่าวต้องออกเป็นกฎหมายโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อกำหนดโทษ เช่น การฉีกบัตร การขัดขวางการออกเสียงประชามติ ซึ่งต่างจาการเลือกตั้ง ส.ส. ที่มีพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. รองรับ ซึ่งในการกำหนดโทษนั้นหากจะใช้มาตรา 44 ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวก็สามารถใช้ได้ แต่ไม่ใช่การใช้เพื่อไปหักล้างรัฐธรรมนูญมาตราใดมาตราหนึ่ง แต่ใช้แทนสิ่งที่จะออกแทน พ.ร.บ. เหมือนที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เคยทำมาแล้ว ดังนั้น หากจะกำหนดกติกาเกี่ยวกับการทำประชามติสามารถใช้มาตรา 44 นี้ได้ แต่หากว่าไม่สมควรก็สามารถเป็นออกพระราชกำหนด หรือพระราชบัญญัติได้ เช่นกัน เพราะทั้งสามส่วนมีศักดิ์ศรีและสถานะเท่ากัน
นายวิษณุ กล่าวว่า สำหรับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2552 ไม่ได้รองรับการทำประชามติเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ แต่จะเกี่ยวข้องกับถามความเห็นประชาชน อาทิ เกี่ยวกับการเปิดเขื่อน ไม่ได้เตรียมการสำหรับกรณีการขัดขวางการทำประชามติ จึงไม่สามารถใช้แทนกันได้ เนื่องจากยังไม่มีความสมบูรณ์ อย่างไรก็ตาม หัวข้อต่าง ๆ เกี่ยวกับการประชามติเหล่านี้ จะมีการหารือในรายละเอียดกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในสัปดาห์หน้า โดยจะมีการพูดคุยกันอย่างครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็นวันออกเสียงประชามติ การแจกจ่ายร่างรัฐธรรมนูญให้ครบ 80% ว่ามีวิธีการอย่างไรบ้าง เรื่องงบประมาณในการจัดทำประชามติว่าจะใช้เท่าไร รวมไปถึงเกณฑ์ในการออกเสียงประชามติว่าจะใช้เสียงข้างมากของจำนวนผู้มีสิทธิออกเสียง หรือเสียงข้างมากของจำนวนผู้มาใช้สิทธิออกเสียง นอกจากนี้ จะได้หารือถึงการดำเนินการในเกิดกรณีเกิดการขัดขวางการทำประชามติ หรือการไม่ทำให้การประชามติเป็นไปอย่างเรียบร้อย รวมถึงเรื่องการทุจริตด้วย
“คงไม่ถึงขนาดเขียนว่าห้ามรณรงค์หรือไม่ให้รณรงค์สำหรับผู้ที่ไม่เห็นด้วย คงเขียนว่าทุกอย่างเป็นไปตามที่ กกต. กำหนด แต่อาจจะมีสักมาตราเขียนว่าผู้ใดฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของ กกต. จะถูกลงโทษ” นายวิษณุ กล่าว
รองนายกฯ กล่าวว่า ส่วนกรณีที่คณะกรรมาธิการสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิป สนช.) ตีกลับร่างระเบียบการออกเสียงประชามติของ กกต. นั้น คงมีเหตุผลในการตีกลับ เพราะในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวบัญญัติว่า ให้ กกต. ออกประกาศกำหนดวิธีการโดยผ่านความเห็นชอบของ สนช. กกต. จึงได้ส่งไป แต่วิป สนช. ระบุว่า ที่เขียนมาทั้งหมดนั้น ถ้าเกิดมีการฝ่าฝืนจะรับโทษอย่างไร ขณะที่ กกต. ตอบว่าไม่มีอำนาจในการกำหนดโทษ วิป สนช. จึงบอกว่าให้ไปเสนอแนะรัฐบาลในการกำหนดโทษ อย่างไรก็ตาม การตีกลับของวิป สนช. จะไม่ทำให้การทำประชามติล่าช้าลง เพราะยังเหลือเวลาอีกมาก