ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ขณะนี้ พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ มีผลบังคับใช้แล้ว โดยให้ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นผู้รักษาการตามกฎหมายนี้
ดังนั้น ผู้ที่รับบทหนัก เป็นหนังหน้าไฟ ก็คงหนีไม่พ้น กกต. ที่ต้องมายืนอยู่ตรงกลาง ระหว่างฝ่ายที่ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งชัดเจนแล้วว่า คือนักการเมือง และมวลชนคนเสื้อแดง ในเครือข่าย ทักษิณ ชินวัตร ส่วนฝ่ายที่ต้องการให้รับร่างรัฐธรรมนูญ ย่อมแน่นอนอยู่แล้วว่า คือ รัฐบาล คสช.และ เครือข่ายคนไม่เอาทักษิณ
ตามปกติแล้ว ไม่ว่าที่ไหนในโลก บรรยากาศก่อนการลงประชามติ ต่างฝ่ายต่างก็ต้องการโน้มน้าวประชาชนให้เห็นดีเห็นงามไปกับฝ่ายตนเอง แต่ ที่นี่ ครั้งนี้ กลับไม่ใช่ เพราะสถานการณ์โดยรวมถูกคุมด้วยกฎเหล็ก 2 ชั้น คือ คำสั่งคสช. และพ.ร.บ.การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ
โดยเฉพาะที่กำลังมีปัญหา ก็คือข้อห้าม ใน พ.ร.บ.ประชามติ บางมาตรา ที่สร้างความสับสนว่า อะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ ตัวอย่าง เช่น มาตรา 61 ของพ.ร.บ.ประชามติ วรรคท้าย ระบุว่า
" ผู้ใดดำเนินการเผยแพร่ ข้อความ ภาพ เสียง ในสื่อหนังสื่อพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือในช่องทางอื่นใดที่ผิดไปจากข้อเท็จจริง หรือมีลักษณะรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม หรือข่มขู่ โดยมุ่งหวังเพื่อให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไม่ออกเสียง ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำการก่อความวุ่นวาย เพื่อให้การออกเสียงไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย" มีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี และปรับไม่เกิน 2 แสนบาท ทั้งนี้ ศาลอาจสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดไม่เกิน 5 ปี"
มาตรา 61 นี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า เขียนข้อห้ามแบบกว้างครอบจักรวาล มีลักษณะเป็น "นามธรรม" ยกแก่การตีวามว่า การกระทำได้ที่ผิด หรือไม่ผิด ทำได้ หรือไม่ได้ พฤติกรรมแบบไหนที่เรียกว่า ปลุกระดม แบบไหนเข้าข่าย ก้าวร้าว ข่มขู่
ขณะที่ฝ่าย คสช. ไม่ว่าจะเป็น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ก็ออกมาตอกย้ำหัวตะปูอยู่ตลอดเวลาว่า แบบนี้ก็ทำไม่ได้ แบบนั้นก็ทำไม่ได้ ห้ามวิพากษ์วิจารณ์ ห้ามโฆษณา ห้ามชักจูง ไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการ สื่อมวลชน คอลัมนิสต์ รวมทั้งประชาชนทั่วไป อยากพูดอะไรให้ไปพูดในบ้านตัวเอง อย่ามาพูดในที่สาธารณะ
หนักไปกว่านั้นก็คือนายกฯถึงขั้นจะให้ตรวจสอบไปถึงโซเชียลมีเดีย ทั้งเฟซบุ๊ก ไลน์ เพื่อเอาผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ อีกทางหนึ่งด้วย
ดังนั้น เสียงเรียกร้องจากทุกฝ่าย แม้แต่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ที่ดูแลด้านกฎหมาย ก็ยังออกมาถามถึงความชัดเจนจาก กกต. ว่า อะไรที่ทำได้ อะไรที่ทำไม่ได้ ขอให้รีบบอกมาให้ชัด แต่ก็ยังไม่มีความชัดเจนออกมาจากกกต.
หนำซ้ำ กกต. ยังมีท่าทีที่จะปัดเผือกร้อนให้พ้นตัว โดยฝ่ายสืบสวนสอบสวน ได้เสนอความเห็นต่อ กกต. ว่า ความผิดตาม พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติ เป็นความผิดทางอาญา ที่กฎหมายไม่ได้มีการกำหนดให้ กกต. เป็นผู้เสียหาย และมีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาด เหมือนกับกรณีเลือกตั้ง หรือกรณีการประชามติ เมื่อปี 2550 ที่ขณะนั้นใช้ พ.ร.บ.ว่าด้วยการรักษาความสงบเรียบร้อยในการออกเสียงประชามติ 2550 ควบคุมดูแล และมาตรา 5 พ.ร.บ.ดังกล่าว ประกอบมาตรา 16 พ.ร.ป. กกต. 2550 กำหนดชัดเจนว่า หากกกต.เห็นว่าผู้ใดกระทำผิดในการออกเสียงฯ ให้กกต. เป็นผู้เสียหายตาม
ประมวลกฎหมายอาญา มีอำนาจแจ้งพนักงานสอบสวนให้สอบสวน และสามารถฟ้องคดีต่อศาลได้
แต่ในการประชามติครั้งนี้ไม่มีการกำหนดเช่นนั้น ดังนั้นหากมีการร้องเรียนการกระทำผิดในช่วงการแสดงความคิดเห็น จนถึงวันออกเสียง กกต.ไม่มีอำนาจที่จะรับ และแจ้งให้พนักงานสอบสวนดำเนินการ และไม่สมารถฟ้องคดีต่อศาลได้ โดยถ้ามีผู้มาร้องกกต. เช่น พบว่ามีการกระทำในลักษณะปลุกระดมให้คว่ำร่างรัฐธรรมนูญ ก็ให้กกต. ทำเป็นบันทึก และให้ผู้ร้อง นำไปแจ้งความยังสถานที่ตำรวจในพื้นที่เกิดเหตุ หรือแม้แต่กรณีที่ความปรากฏต่อ กกต. หรือกรณีที่มีผู้แจ้งการกระทำความผิดผ่านทางแอพพลิเคชั่นตาสับปะรด กกต. ก็จะทำบันทึกแจ้งไปยังสถานีตำรวจ เพื่อให้เข้าไปดูแลดำเนินตามขั้นตอนของคดีอาญาปกติต่อไป
ประเด็นนี้มีตัวอย่างแล้ว จากกรณี ที่ โฆษกคสช. ออกมาแถลงข่าวเมื่อวันที่ 26 เม.ย.ที่ผ่านมา เรียกร้องให้ กกต. เอาผิดอาจารย์สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ม.มหิดล ที่แจกเอกสารใบปลิว รณรงค์ไม่รับร่างรธน. โดยอาจเข้าข่ายผิด มาตรา 61 พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ
แต่นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง ก็ออกมาชี้แจงว่า การแจกเอกสาร ใบปลิว ถือเป็นสิ่งที่ใครก็สามารถทำได้ในสังคม เช่น ร้านค้าต่างๆ ก็มีการแจกใบปลิวเพื่อประชาสัมพันธ์สินค้า เชิญชวน หรือเผยแพร่ ดังนั้นพฤติกรรมการแจกใบปลิว จึงไม่ใช่การกระทำที่เป็นความผิด แต่สิ่งที่สำคัญในการพิจารณาคือ เนื้อหาสาระ ที่อยู่ในใบปลิวนั้นว่าเป็นอย่างไร หากเนื้อหาถูกต้อง เป็นเหตุเป็นผลทางวิชาการ ก็เท่ากับเป็นการแสดงความเห็นโดยบริสุทธิ์ใจ ไม่มีความผิด แต่ถ้าเนื้อหามีข้อความที่เป็นเท็จ ใส่ร้ายป้ายสี มีคำหยาบคาย ปลุกระดม ข่มขู่ และ ก้าวร้าว รุนแรง
จนทำให้เป็นเหตให้เกิดความวุ่นวาย ลักษณะนี้ก็จะเข้าข่ายผิดตาม มาตรา 61 วรรค สอง ของพ.ร.บ.ดังกล่าว ก็ให้คสช.ลองไปพิจารณาดูว่า เนื้อหาในใบปลิวเข้าข่ายความผิด หรือไม่ และหากเห็นว่าผิด ก็สามารถไปแจ้งความดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เลย ไม่ต้องให้ กกต.เป็นผู้แจ้งความแทน เพราะทุกคนในบ้านเมืองสามาถแจ้งความเองได้
ถัดมาในวันรุ่งขึ้น (27เม.ย.) นายสมชัย ก็ไปทำให้ดูเป็นตัวอย่าง โดยไปที่ สน.ทุ่งสองห้อง แจ้งความให้ตำรวจดำเนินคดีกับ ผู้กระทำผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติฯ โดยนายสมชัย ระบุว่า ได้พบการกระทำผิดหนึ่ง กรณีจากการโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก โดยกลุ่มองค์กรกลุ่มหนึ่งซึ่งขอเรียกว่า เป็นกองทุนหนึ่ง ซึ่งมีที่ตั้งอยู่ใน จ.ขอนแก่น มีเนื้อหาในลักษณะ ก้าวร้าว หยาบคาย และนำไปสู่เจตนาในการชักจูงประชาชนไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่ง เกี่ยวกับการรับ หรือไม่รับ ร่างรธน.
นายสมชัย ระบุด้วยว่า การแจ้งความในครั้งนี้ ทำในนามกกต. ที่ไม่จำเป็นต้องรอให้กกต.ลงมติ โดยหลังจากนี้ จะนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุม กกต. เพื่อให้รับทราบต่อไป
แจ้งความเสร็จ นายสมชัยก็กลับไปประชุมกกต.และได้ชี้แจงถึงเหตุผลที่ไปแจ้งความดำเนินคดีว่า ต้องการป้อมปราม ไม่ให้มีการแสดงความคิดเห็นในการออกเสียง ด้วยการใช้ถ้อยคำรุนแรง หยาบคาย และต้องการทำให้เป็นตัวอย่างว่า ใครที่เห็นการกระทำผิด ก็สามารถไปแจ้งความกับตำรวจได้ ไม่ต้องมาหากกต.
แต่ที่ประชุมก็เห็นว่า กกต.เป็นองค์กร ความรับผิดชอบในหน้าที่ ก็ต้องทำเป็นแบบองค์กร ต้องคำนึงถึงการสร้างมาตรฐานให้กับองค์กรในสายตาประชาชน ไม่ใช่เห็นผิดแล้วไปแจ้งความเลย กลายเป็นว่า กกต.ไปสร้างมาตรฐานใหม่ และกลายเป็นว่า นายสมชัย ต้องไปแจ้งความเอาผิดกับผู้ที่โพสต์เฟซบุ๊ก หรือเพจต่างๆ ทุกครั้งไป หรือไม่ ซึ่งต่อไปถ้า กกต.ยังไม่ได้มีมติ แล้วนายสมชัย ต้องการจะแจ้งความก็ขอให้ทำในนามส่วนตัว
อย่างไรก็ตาม แม้กกต.จะยังไม่ได้ออกมาระบุชัดว่า อะไรทำได้ ไม่ได้ ผิดไม่ผิด แต่ทางสำนักกฎหมายและคดีของสำนักงานกกต. ก็ได้เสนอถึงข้อห้ามกระทำ เพราะมีโทษถึงจำคุก 23 ข้อ เสนอต่อที่ประชุม กกต. ซึ่งที่ประชุมก็ได้ให้ความเห็นชอบไปแล้ว คือ
เจ้าหน้ารัฐวางตัวไม่เป็นกลางใช้ตำแหน่งหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ขัดขวางการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ผู้บังคับบัญชาหรือนายจ้างขัดขวางการไปใช้สิทธิออกเสียง ทำลายบัตรออกเสียง ลงคะแนนออกเสียงโดยรู้ว่าตนไม่มีสิทธิ นำบัตรปลอมมาใช้ออกเสียง หรือเวียนเทียนบัตร นำบัตรออกเสียงออกไปจากที่ออกเสียง นำบัตรออกเสียงที่ลงคะแนนแล้วแสดงต่อผู้อื่น ทำเครื่องหมายให้ยเป็นที่สังเกตไว้ที่บัตรออกเสียงเพื่อให้ผู้อื่นรู้ว่าเป็นบัตรของตน บันทึกภาพบัตรอออกเสียงที่ได้ลงคะแนนออกเสียงแล้ว ขัดคำสั่งกรรมการประจำหน่วยออกเสียงที่สั่งให้ออกจากหน่วยออกเสียง กระทำการใดๆให้จำนวนบัตรออกเสียง หรือบัญชีรายชื่อผิดไปจากความจริง ขัดขวางไม่ให้ผู้มีสิทธิออกเสียงเข้าหรือออกที่ออกเสียง ก่อความวุ่นวายในที่ออกเสียง ก่อความวุ่นวายเพื่อให้การออกเสียงไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดยเผยแพร่ข้อความ ภาพ เสียง ในสื่อสิ่งหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือในช่องทางอื่นใดที่ผิดไปจากข้อเท็จจริง หรือ มีลักษณะรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม หรือข่มขู่ เพื่อให้ผู้มีสิทธิไปหรือไม่ไปใช้สิทธิออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง ซื้อสิทธิ ขายเสียง ให้ เสนอให้ สัญญาว่าจะให้ เรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สิน ผลประโยชน์ หรือ จัดเลี้ยงเพื่อจูงใจ หลอกลวง บังคับขู่เข็ญ หรือใช้อิทธิพลคุกคามผู้มีสิทธิออกเสียง ขัดขวางการส่งหีบบัตร หรือบัตรออกเสียง เล่นหรือจัดให้มีการเล่นการพนันการออกเสียง จำหน่ายจ่ายแจก จัดเลี้ยงสุราในเวลาต้องห้าม จัดยานพาหนะขนคนไปหรือกลับจากที่ออกเสียง เผยแพร่ผลโพล ระหว่าง 7 วัน ก่อนวันออกเสียงจนถึงเวลาสิ้นสุดการออกเสียง กรรมการประจำหน่วยออกเสียงนับบัตรออกเสียงผิดไปจากความจริง
นอกจากนี้ยังมี ลักษณะของการกระทำที่สุ่มเสี่ยงต่อความผิด อาจถูกดำเนินคดี พึงหลีกเลี่ยง อาทิ การแสดงความคิดเห็นในลักษณะจูงใจ และเผยแพร่เป็นการทั่วไป อันอาจทำให้บุคคลอื่นเห็นว่าเป็นการปลุกระดม เช่น แจกใบปลิว สติ๊กเกอร์ เข็มกลัด กระดุม เป็นต้น และ อาจเข้าข่ายเป็นการชุมนุมทางการเมือง ขัดต่อประกาศ คสช. การแสดงความเห็นในเรื่องที่ยังไม่มีความชัดเจนอันอาจทำให้บุคคลอื่นเห็นว่า เป็นการบิดเบือนไปจากข้อเท็จจริง การใช้ถ้อยคำที่มีความหมายกำกวม อาจทำให้บุคคลอื่นเห็นว่ามีลักษณะรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย
จากรายละเอียดทั้งหมดเกี่ยวกับข้อห้ามกระทำ และลักษณะการกระทำที่สุ่มเสี่ยงต่อความผิด ครอบคลุมจนไม่ว่า ฝ่ายไหนๆ ไม่เอาร่างรัฐธรรมนูญ หรือฝ่ายที่เห็นด้วยแทบกระดิกตัว เคลื่อนไหวอะไรไม่ได้เลย ซึ่งก็น่าจะเป็นไปตามความต้องการของ คสช. ที่ต้องการกดหัวไว้เต็มที่ ห้ามเผยอหน้า อ้าปาก
เพราะถ้าขืนปล่อยให้เคลื่อนไหว วิพากษ์วิจารณ์ได้ มันจะไม่จำกัดอยู่แค่เนื้อหาใน ร่างรัฐธรรมนูญ ว่าเป็นประชาธิปไตย หรือเผด็จการสืบทอดอำนาจ ปราบโกงได้จริงหรือไม่จริง ปฏิรูป หรือ ถอยหลังลงคู แต่มันจะลามไปถึงว่า ผลงานของรัฐบาล คสช. ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมานั้น ล้มเหลวไม่เป็นท่า ไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน ปฏิรูปอะไรไม่ได้สักอย่าง เล่นพรรคเล่นพวกยังบอกว่าเป็นเรื่องปกติ เรื่องคนในชาติปรองดอง เลิกแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ยิ่งไม่ต้องพูดถึง โดยเฉพาะ บุคลิกของนายกฯ ที่เอาแต่วางอำนาจ การพูดจาเข้าข่าย รุนแรง ก้าวร้าว ปลุกระดม ข่มขู่ แถมด้วยทวงบุญคุณ ตรงนี้ต่างหากที่รัฐบาล และคสช. กลัว !!