xs
xsm
sm
md
lg

ทำไมพูดว่ารับ-ไม่รับรธน.ไม่ได้

เผยแพร่:   โดย: สุรวิชช์ วีรวรรณ

ถึงตอนนี้เหลือเวลาไม่กี่วันจะถึงวันที่ 7 สิงหาคมที่จะเปิดให้ประชาชนลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย แต่ถามจริงๆ มีประชาชนกี่คนที่ได้อ่านร่างรัฐธรรมนูญแล้ว มีประชาชนสักกี่คนที่อ่านรัฐธรรมนูญแล้วเข้าใจสามารถแยกแยะข้อดีข้อเสียของรัฐธรรมนูญได้ด้วยตัวเอง

จำได้ไหมพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.พูดว่า

“ประชาชน เดี๋ยวผมจะถามคุณให้ดูนะ ผมจะถามไอ้ข้างนอก (ทำเนียบฯ) ไอ้ที่ตัดหญ้ามันรู้เรื่องไหม คุณจะมาพูดคำว่าประชาชนกับผมนักเลย ชาวนารู้เรื่องสักกี่คน เขาหากินงกๆ ทุกวัน เพราะไอ้...ทำให้เขายากจนอยู่ทุกวันนี้ เขารู้เรื่องไหม นั่นล่ะประชาชนที่เขาอ้างกันแล้วทำไมจนอยู่เล่า ทำไมไม่ทำให้เขา พูดประชาชนอยู่ได้สักกี่คนที่สนใจรัฐธรรมนูญ ตอบมาดิ”

แปลสั้นๆ ก็คือว่า พล.อ.ประยุทธ์มองว่าประชาชนส่วนใหญ่ซึ่งเป็นชนชั้นล่างนั้นยังไม่เข้าใจเรื่องรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย

แต่แปลกไหมเล่าพอจะลงประชามติพล.อ.ประยุทธ์ และบริวารต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าห้ามรณรงค์ให้รับร่างหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ห้ามพูดห้ามวิพากษ์วิจารณ์

นักข่าวถามว่าใส่เสื้อโหวตโน หรือโหวตเยส ก็ไม่ได้ใช่หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ใช่แล้ว รณรงค์ให้รับหรือไม่รับก็ไม่ได้ทั้งนั้น ถ้าอยากให้บ้านเมืองเป็นอย่างไรก็แล้วแต่ท่าน กำหนดเอาเอง ผมทำให้ได้แค่นี้ ทำให้เต็มที่แล้ว

“มีกฎหมายรองรับอยู่แล้ว เมื่อ พ.ร.บ.ประชามติฯ ออกมาจะมีบทลงโทษถึง 10 ปี ถ้าไม่กลัวก็ตามใจ ซึ่งสื่อก็โดนด้วย ขอให้ไปบอกแก่นายทุนสื่อด้วย” พล.อ.ประยุทธ์ว่า

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีบอกว่า อย่าโฆษณาหรือชี้นำการทำประชามติเพื่อให้ประชาชนมีอิสระในการคิด อย่าเอาเรื่องของการเมือง ความชอบหรือไม่ชอบ ไปชี้นำประชาชน ทำไม่ได้ หากเห็นด้วยก็กาในช่องรับร่างรัฐธรรมนูญ หากไม่เห็นด้วยก็กาอีกช่อง ปล่อยให้ผู้ร่างทำหน้าที่ชี้แจงรัฐธรรมนูญเพราะคนอื่นคงไม่รู้เท่ากับกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)

ตลกดีนะครับ เรากับทำประชามติซึ่งเป็นวิธีการของระบอบประชาธิปไตยในการให้ประชาชนมีส่วนร่วมกันตัดสินในชะตากรรมของประเทศ แต่กลับตัดกระบวนการทำความเข้าใจกับเนื้อหาที่จะทำให้ประชาชนมีข้อมูลในการตัดสินใจลงประชามติออกไป

ทั้งๆ ที่หลักการสำคัญของการทำประชามตินั้น ประชาชนต้องรู้ถึงข้อดีข้อเสียและผลกระทบของร่างกฎหมายนั้นๆ ก่อนจะลงประชามติรับหรือไม่รับ ซึ่งสิ่งที่ผู้ถืออำนาจรัฐต้องทำก็คือต้องเปิดโอกาสให้ผู้เห็นชอบ และไม่เห็นชอบในเรื่องที่จะจัดทำประชามติได้แสดงความคิดเห็นอย่างเท่าเทียมกัน

แล้วอย่างนี้จะให้ชาวบ้านเขาไปลงประชามติอย่างไร เมื่อร่างรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องที่ซับซ้อน ในประเทศนี้มีกี่คนที่อ่านกฎหมายเข้าใจ สามารถชี้ผลดีผลเสียของกฎหมายนั้นได้ เมื่อไม่เข้าใจก็เท่ากับว่า ให้ชาวบ้านเขาปิดหูปิดตาปิดปากไปลงมติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญเท่านั้นเอง

มันเป็นเรื่องที่ประหลาดนะครับ ในขณะที่หัวหน้ารัฐประหารดูถูกว่าชาวบ้านไม่เข้าใจรัฐธรรมนูญ แต่ให้ไปลงมติร่างกฎหมายสูงสุดของประเทศซึ่งเป็นเรื่องยากโดยที่ให้วิเคราะห์พิจารณาเอาเองว่าดีหรือไม่ดีอย่างไร

จำได้ว่าตอนทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ก็ยังเปิดให้แสดงความคิดเห็นทั้งสองด้าน มีการดีเบตรณรงค์กันว่าควรรับหรือไม่รับรัฐธรรมนูญ มีการเปิดเวทีอย่างกว้างขวางทั้งผ่านสื่อและวงวิชาการ มีการแจกร่างรัฐธรรมนูญออกไปทุกครัวเรือน ตอนนั้นนิธิ เอียวศรีวงศ์และพวกซึ่งคัดค้านรัฐธรรมนูญถึงกับซื้อหน้าหนังสือพิมพ์มติชนเต็มหน้าเพื่อคัดค้าน จนมีคนไปถามนิธิว่าเอาเงินมาจากไหน เงินทักษิณหรือเปล่า ซึ่งนิธิตอบว่า ถ้าเป็นเงินทักษิณแล้วจะทำไม ถ้าเกิดน้ำท่วมทักษิณจะบริจาคเงินช่วยแล้วจะไม่รับหรือ

ฟังนายกฯ รองนายกฯ พูด ผมก็สงสัยนะครับเลยไปดูพระราชบัญญัติ ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 ที่ถูกยกมาปิดหูปิดตาปิดปากเพื่อการทำประชามติครั้งนี้ว่าเขาเขียนไว้อย่างไร

มาตรา 7 บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และเผยแพร่ความคิดเห็นเกี่ยวกับการออกเสียงโดยสุจริตและไม่ขัดต่อกฎหมาย

มาตรา 61 ผู้ใดกระทําการดังต่อไปนี้ ถือว่ามีความผิด

ผู้ใดดําเนินการเผยแพร่ข้อความ ภาพ เสียง ในสื่อหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์หรือในช่องทางอื่นใด ที่ผิดไปจากข้อเท็จจริงหรือมีลักษณะรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม หรือข่มขู่โดยมุ่งหวังเพื่อให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไม่ออกเสียงให้ถือว่าผู้นั้นกระทําการก่อความวุ่นวายเพื่อให้การออกเสียงไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย

ไม่เห็นตรงไหนเป็นอย่างที่พล.อ.ประยุทธ์บอกว่า ห้ามแสดงความเห็นว่ารับหรือไม่รับ ห้ามรณรงค์ หรือจัดสัมมนาเพื่อแสดงความเห็นถึงข้อดีข้อเสียของรัฐธรรมนูญไม่ได้จนเกิดบรรยากาศความหวาดกลัวไปหมดว่าใครพูดถึงร่างรัฐธรรมนูญเดี๋ยวจะติดคุก 10 ปี

ทำไมจะพูดไม่ได้ว่ารัฐธรรมนูญมาตรานั้นมาตรานี้จะส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนและชุมชนอย่างไร หรือถกเถียงกันไม่ได้เลยหรือว่า ที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้บอกว่า “รัฐต้องดำเนินการให้เด็กทุกคนได้เรียนฟรี 12 ปีเริ่มนับตั้งแต่ระดับปฐมวัยหรือระดับอนุบาลจนจบการศึกษาภาคบังคับ 9 ปีหรือเรียนจบระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 (ม.3)” นั้น เป็นผลดีผลเสียอย่างไร แล้วสิทธิการเรียนฟรีในระดับมัธยมปลายที่เคยมีหายไปไหน

ถ้าการดีเบตถกเถียงกันว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ดีหรือไม่ดีทำไม่ได้ แล้วเอาเสรีภาพตามมาตรา 7 ไปไว้ที่ไหน แล้วจะเขียนมาตรา 7 ขึ้นมาทำไม

นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ให้สัมภาษณ์ว่า จะยึดความเป็นธรรมและสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างเต็มที่ อาทิ การให้สัมภาษณ์ การโพสต์เฟซบุ๊ก ส่งข้อความผ่านแอปพลิเคชั่นไลน์ ซึ่งเป็นสิทธิส่วนบุคคลที่สามารถกระทำได้โดยไม่ขัดกฎหมาย แต่ต้องไม่หยาบคาย ก้าวร้าว รุนแรง เป็นต้น ทั้งนี้ การแสดงความคิดเห็นส่วนตัว หรือการติดป้ายหน้าบ้านสามารถทำได้ แต่ต้องเป็นไปอย่างเหมาะสม หากติดป้ายขนาดใหญ่บนอาคารอาจไม่เหมาะ ซึ่งเราจะพิจารณาว่าการกระทำดังกล่าว ต้องทำโดยสุจริตใจ บนพื้นฐานหลักกฎหมายและข้อเท็จจริง

จะเห็นคำพูดของ กกต.ว่าอะไรทำได้ไม่ได้ไม่ตรงกับเสียงคำรามของนายกฯ และรองนายกฯ เลย แต่เวลาเจ้าหน้าที่ลงไปปฏิบัติเขาก็ยึดตามนายกฯ พูดไม่ได้ยึดตามกฎหมายจนเกิดบรรยากาศแห่งความหวาดกลัวและการคุกคามไปทั่ว

ถ้าไม่ให้เขาพูดถึงข้อดีและข้อเสียของร่างรัฐธรรมนูญเพื่อให้ประชาชนรับรู้ประกอบการตัดสินใจแล้วจะทำประชามติไปทำไม ก็ใช้อำนาจประกาศใช้รัฐธรรมนูญไปเลยเสียไม่ดีกว่าหรือ
กำลังโหลดความคิดเห็น