xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

บรรทัดฐาน ห้ามพูดหยาบ ไม่ขัดหลักสิทธิเสรีภาพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เจ้าหน้าที่แจกเอกสารแถลงข่าวผลการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ กรณีมาตรา 61 วรรคสอง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 29 มิ.ย.ที่ผ่านมา
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -มีคำตัดสินออกมาเป็นที่เรียบร้อยแล้วว่า มาตรา 61 วรรคสอง ของพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 ไม่ขัดต่อบทบัญญัติมาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 โดยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 เมื่อวันที่ 29 มิถุนายนที่ผ่านมา

มาตรา 61 ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฯ นั้น ถูกเขียนขึ้นมาใช้บังคับเพื่อให้การลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 7 สิงหาคม 2559 นี้ เป็นไปด้วยความเรียบร้อย จึงมีการกำหนดโทษผู้ก่อความวุ่นวายเพื่อให้การออกเสียงไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ซื้อสิทธิขายเสียง หลอกลวง บังคับ ขู่เข็ญ คุกคามไม้ให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไปใช้สิทธิ ทำลายหรือขัดขวางการส่งหีบบัตรหรือบัตรออกเสียง เล่นการพนันทายผลการออกเสียง โดยมีการกำหนดโทษตั้งแต่จำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 200,000 บาท และศาลอาจสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 5 ปี ไปจนถึงมีโทษจำคุก 1 ปีถึง 10 ปี และปรับ 20,000 บาท ถึง 200,000 บาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี

นอกจากนี้ มาตรา 61 วรรค 2 ยังได้ขยายความของคำว่า “ก่อความวุ่นวาย”ให้มีความชัดเจนขึ้น โดยระบุว่า “ผู้ใดดำเนินการเผยแพร่ข้อความ ภาพ เสียง ในสื่อหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์หรือในช่องทางอื่นใด ที่ผิดไปจากข้อเท็จจริงหรือมีลักษณะรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม หรือข่มขู่โดยมุ่งหวังเพื่อให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไม่ออกเสียงให้ถือว่าผู้นั้นกระทำการก่อความวุ่นวายเพื่อให้การออกเสียงไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย”

ผู้ที่กระทำผิดฐาน “ก่อความวุ่นวาย” ตามมาตรานี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี และปรับไม่เกิน 200,000 บาท ทั้งนี้ ศาลอาจสั่งให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดไม่เกิน 5 ปีด้วยก็ได้ ในกรณีเป็นการกระทำความผิดของคณะบุคคลตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปีถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000 บาทถึง 200,000 บาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนด 10 ปี

เห็นได้ว่า มาตรา 61 วรรคสอง กำหนดโทษไว้ค่อนข้างรุนแรงสำหรับผู้ที่ “ก่อความวุ่นวาย”ซึ่งการพูดจาหรือโพสต์ข้อความทางโซเชียลมีเดียที่มีลักษณะก้าวร้าว หยาบคาย ก็เข้าข่ายความผิดนี้แล้ว จึงมีกลุ่มนักวิชาการ นำโดยนายจอน อึ๊งภากรณ์ ผู้อำนวยการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) เป็นตัวแทนนักวิชาการกว่า 100 คนเข้าชื่อยื่นหนังสือต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคมที่่ผานมาเพื่อขอให้ตรวจสอบและเสนอเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 61 ขัดต่อ มาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวหรือไม่

เนื่องจากบทบัญญัติดังกล่าวมีคำว่า “รุนแรง ก้าวร้าว และปลุกระดม” ซึ่งไม่เคยมีคำนิยามอยู่ในกฎหมายใดมาก่อน ประชาชนไม่สามารถเข้าใจได้ว่าการแสดงออกอย่างไรจะผิดกฎหมาย

ส่วนที่กำหนดห้ามใช้ถ้อยคำหยาบคาย แม้คำนี้จะเป็นสิ่งที่ไม่ควร แต่ไม่ใช่การกระทำผิดกฎหมาย จึงเห็นว่าบทบัญญัติดังกล่าวเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนเกินขอบเขต ไม่มีเหตุอันสมควร อีกทั้งบทกำหนดโทษก็มีความรุนแรงเกินไป ไม่ได้สัดส่วนกับการกระทำที่เป็นเพียงแค่การแสดงความคิดเห็น ซึ่งอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปีนั้นเทียบได้กับความผิดฐานฆ่าคนตายโดยประมาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291

หลังจากนั้น ในการประชุมผู้ตรวจการแผ่นดินเมื่อวันที่ 1 มิถุนายนที่ผ่านมา ที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ ว่ามาตรา 61 วรรคสอง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติฯ มีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ จึงเสนอเรื่องพร้อมความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัย โดยผู้ตรวจการแผ่นดินเห็นว่า ตามมาตรา 61 วรรคสองนั้น แม้จะมีพจนานุกรมระบุความหมายของคำว่า ก้าวร้าว รุนแรง หยาบคาย แต่ในทางปฏิบัติก็จะมีความไม่ชัดเจน คลุมเครือ ประชาชนอาจจะสับสน ไม่กล้าแสดงความคิดเห็น ขัดต่อเจตนารมณ์ของการออกเสียงประชามติ และอาจจะมีการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ตีความหมายของถ้อยคำดังกล่าวจนอาจนำไปสู่การดำเนินการกับประชาชน

อย่างไรก็ตาม คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ออกมาเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน มีความเห็นเป็นเอกฉันท์ว่า มาตรา 61 วรรคสองของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติฯ ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ.2557 มาตรา 4 แต่อย่างใด

ทั้งนี้ มาตรา 4 รัฐธรรมนูญชั่วคราวฯ ระบุว่า “ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค บรรดาที่ชนชาวไทยเคยได้รับการคุ้มครองตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทย มีอยู่แล้ว ย่อมได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ”

นายนายพิมล ธรรมพิทักษ์พงษ์ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ บอกว่า ในการพิจารณาของคณะตุลาการฯ เห็นว่า ตัว พ.ร.บ.ดังกล่าวออกมาเพื่อการดำเนินการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย คุ้มครองการแสดงความคิดเห็นของประชาชนให้เป็นไปโดยอิสระ และรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านมาในอดีตก็มีการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเพื่อรักษาความมั่นคงแห่งรัฐ ความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดี

ส่วนถ้อยคำ “ปลุกระดม ก้าวร้าว รุนแรง หยาบคาย” อย่างไรจึงถือว่าเป็นความผิดนั้น ตุลาการได้อภิปรายกัน เชื่อว่าจะมีการเขียนเหตุผลไว้ชัดเจนในคำวินิจฉัยที่จะออกมา โดยคำวินิจฉัยกลางนั้นคาดว่าจะมีการเผยแพร่ในสัปดาห์หน้า จากนั้นจะมีคำวินิจฉัยส่วนตนตามมา

ภายหลังจากทราบคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ นายศุภชัย สมเจริญ ประธานกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)กล่าวว่า การที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยข้อกฎหมายดังกล่าวว่าขัดหรือไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ก็ไม่มีผลต่อ กกต. ส่วนตัวเห็นด้วยแต่แรกว่าไม่เกี่ยวกับกระบวนการออกเสียงประชามติ และหากพบว่ามีคนกระทำผิด พ.ร.บ.ดังกล่าว ประชาชนสามารถร้องทุกข์กล่าวโทษได้ด้วยตัวเอง ไม่ต้องผ่าน กกต. เพราะเป็นไปตามกระบวนการกฎหมาย ดังนั้น การอ่านกฎหมายไม่ควรอ่านทีละตัว ควรอ่านทั้งมาตราเพื่อให้เกิดความเข้าใจ

นายบุญส่ง น้อยโสภณ กกต.ด้านสืบสวนสอบสวนและวินิจฉัย กล่าวว่า ส่วนตัวแล้วมองว่ามาตรา 61 วรรคสองของ พ.ร.บ.ประชามติ เป็นการบัญญัติขึ้นมาเพื่อป้องปรามการเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นเท็จผ่านสื่อ ไม่ว่าจะเป็นสื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ ก็คือโซเชียลเน็ตเวิร์ก หรือสื่อออนไลน์ เพราะสื่อพวกนี้เผยแพร่เร็วจึงต้องมีการปรามไว้ ไม่ได้เกี่ยวกับคนทั่วไป เว้นแต่มีการเข้าไปใช้สื่อออนไลน์โดยมีการใช้คำที่เข้าข่ายผิด พ.ร.บ.ประชามติเท่านั้น

นายบุญส่งบอกอีกว่า ในกฎหมายอาญา คำว่ารุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย และปลุกระดมนั้นไม่ได้มีระบุไว้ในกฎหมายอาญาเลยสักฉบับ แต่ใช้คำว่า “ก่อให้เกิดความปั่นป่วนขึ้นในบ้านเมือง” ไม่ใช้คำว่า “ปลุกระดม” เพราะเป็นคำที่ครอบจักรวาล

อย่างไรก็ตาม การที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่ามาตรา 61 วรรคสอง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติฯ ไม่ขัดต่อมาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว ก็เท่ากับเป็นการสร้างบรรทัดฐานใหม่ว่า การบัญญัติข้อห้ามไว้ในกฎหมายไม่ให้ประชาชนใช้คำพูดรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย และปลุกระดม พร้อมกำหนดโทษจำคุกและปรับผู้ฝ่าฝืนไว้ในอัตราที่สูงนั้น ไม่ถือว่าขัดต่อหลักสิทธิเสรีภาพของประชาชนแต่อย่างใด

ขณะที่นายจอน อึ๊งภากรณ์ ในฐานะผู้ยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเรื่องนี้ บอกว่า ในฐานะที่เป็นองค์กรทำงานด้านสิทธิเสรีภาพด้านการแสดงออกของประชาชนก็จะเดินหน้ารณรงค์ต่อไป แม้ศาลฯ จะมีคำวินิจฉัยว่าไม่ขัดรัฐธรรมนูญ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ามาตราดังกล่าวจะถูกต้อง เพราะยังมีประกาศ กกต.ที่กำหนดอะไรทำได้ไม่ได้ ซึ่งทำให้ประชาชนไม่มีเสรีภาพในการรณรงค์ เรื่องดังกล่าวจะทำให้การออกเสียงประชามติของประเทศไทยไม่มีความชอบธรรม หรือยุติธรรม ทำให้การทำประชามติเป็นการมัดมือประชาชน


กำลังโหลดความคิดเห็น