xs
xsm
sm
md
lg

สนช.นัดถกงบ 59 พฤหัสฯ นี้ ครม.คาด ศก.ปีหน้าโต 5% วาง 8 ยุทธศาสตร์ใช้จ่าย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(แฟ้มภาพ)
“พรเพชร” นัดประชุม สนช. 21 พ.ค.พิจารณา พ.ร.บ.งบฯ 59 วงเงิน 2.7 ล้านล้าน ครม.คาดแนวโน้มเศรษฐกิจปีหน้าโตเกือบ 5 เปอร์เซ็นต์ อิงเศรษฐกิจโลก เงินเฟ้อต่ำ วาง 8 ยุทธศาสตร์ใช้จ่ายบริหารประเทศ เทงบพัฒนายั่งยืน 2.4 แสนล้าน ด้านกระทรวงศึกษาฯ ได้งบมากสุด 5.2 แสนล้าน คิดเป็นร้อยละ 19.1 ส่วนมหาดไทยรองลงมา

วันนี้ (18 พ.ค.) นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้นัดประชุมในวันที่ 21 พ.ค. เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 วงเงิน 2,720,000,000,000 บาท ในวาระที่ 1 โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะมาแถลงต่อ สนช.ถึงเหตุผลและหลักการในการเสนองบประมาณจำนวนดังกล่าวในเวลา 11.00 น. จากนั้นจะเปิดโอกาสให้สมาชิก สนช.อภิปรายแสดงความคิดเห็นก่อนลงมติรับหลักการ และตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาปรับลดงบประมาณต่อไป

ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีได้จัดทำบันทึกสาระสำคัญโดยระบุถึงภาพรวมแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2559 มีแนวโน้มขยายตัวในอัตราร้อยละ 3.7-4.7 ใกล้ชิดกับการขยายตัวในปี 2558 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากแนวโน้มการปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจโลก ที่คาดว่าจะทำให้การส่งออกจะสามารถกลับขยายตัวได้มากขึ้น ในขณะที่ราคาสินค้าส่งออก และราคาสินค้าเกษตรสำคัญมีแนวโน้มจะมีเสถียรภาพและเริ่มปรับเปลี่ยนสูงขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนให้อุปสงค์ภาคเอกชนดีขึ้น รวมทั้งการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐมีแนวโน้มที่จะขยายตัวในเกณฑ์สูงต่อเนื่อง ตามกรอบการขาดดุลงบประมาณที่เพิ่มขึ้น และการดำเนินโครงการลงทุนที่สำคัญของภาครัฐมีความคืบหน้าและชัดเจนตามลำดับ ทั้งการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งและการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ

อย่างไรก็ตาม การขยายตัวของเศรษฐกิจในปี 2559 ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญประกอบด้วย แนวโน้มการปรับตัวเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยของตลาดการเงินสหรัฐฯและตลาดการเงินโลก การปรับของผู้ผลิตน้ำมันสหรัฐฯ และกลุ่มประเทศโอเปก ที่อาจส่งผลให้ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นเร็วกว่าการคาดการณ์ รวมทั้งการใช้นโยบายขยายปริมาณเงินในประเทศยังเป็นปัจจัยกดดันด้านค่าเงินและเป็นข้อจำกัดต่อการขยายตัวภาคส่งออก สำหรับเสถียรภาพในปี 2559 คาดว่าอัตราเงินเฟ้ออยู่ในเกณฑ์ต่ำร้อยละ 1.1-2.1 แต่ปรับตัวจากปี 2558 ตามแนวโน้มราคาน้ำมันในตลาดโลก

งบรายจ่ายประจำปี 2559 เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณปี 2558 จำนวน 145,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.6 โดยวงเงินงบประมาณดังกล่าว คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 20.4 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ

ขณะที่ยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณ มีด้วย 8 ยุทธศาสตร์ และรายการค่าดำเนินการภาครัฐ สรุปดังนี้ 1. ยุทธศาสตร์เร่งรัดวางรากฐานการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศ จำนวน 247,342.7 ล้านบาท เพื่อวางรากฐานการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยเร่งรัดและผลักดันให้มีการพัฒนาคนตลอดช่วงชีวิต สร้างอาชีพและรายได้ที่มั่นคง และยั่งยืน แก่เกษตรกรและผู้มีรายได้น้อย พัฒนารายได้จากการท่องเที่ยวและการบริการ ส่งเสริมการจัดการน้ำอย่างบูรณาการ เร่งรัดประยุกต์ใช้งานวิจัยและพัฒนาไปสู่การปฏิบัติ เพื่อแก้ไขปัญหาสำคัญเร่งด่วนของประเทศอย่างยั่งยืน ขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตลอดจนป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตอย่างเป็นระบบ

2. ยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งรัฐ จำนวน 240,418.3 ล้านบาท เพื่อรักษาความมั่นคงแห่งรัฐ เทิดทูลและพิทักษ์รักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ สร้างความปรองดองสมานฉันท์ รักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ โดยเสริมสร้างและพัฒนาระบบป้องกันประเทศให้มีความพร้อมและมีศักยภาพ เสริมสร้างความเครือข่ายความร่วมมือระหว่างประเทศและประชาคมโลกในการอำนวยความปลอดภัย

3. ยุทธศาสตร์การสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและเป็นธรรม จำนวน 222,375.9 ล้านบาท เพื่อเสริมสร้างความยั่งยืนทางเศรษฐกิจและเสถียรภาพทางการคลังในระยะยาว เสริมสร้างภาคเกษตรให้มีความเข้มแข็ง เกษตรกรมีความมั่นคงในอาชีพและรายได้ เร่งดำเนินการระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพฯและชานเมือง เสริมสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจฐานราก ปรับโครงสร้างราคาและการใช้พลังงานที่เหมาะสม เป็นธรรม สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง

4. ยุทธศาสตร์การศึกษา สาธารณสุข คุณธรรม จริยธรรม และคุณภาพชีวิต จำนวน 994,414.6 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนการขยายโอกาสและพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้มีมาตรฐานอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม พัฒนาด้านสาธารณสุขให้ประชาชนได้รับบริการทางการแพทย์ที่มีประสิทธิภาพเท่าเทียมกัน ควบคุมการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์เพื่อให้ประเทศไทยได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ ตลอดจนส่งเสริมและพัฒนาศาสนาและวัฒนธรรม ปลูกฝังให้เด็กและเยาวชนมีค่านิยมและจิตสำนึกที่ดีงาม

5. ยุทธศาสตร์การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จำนวน 71,060.4 ล้านบาท เพื่อบริหารจัดการทรัพยากรและธรรมชาติ และความหลากหลายทางชีวภาพให้มีการใช้ประโยชน์ในมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ภายใต้การมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายอย่างสมดุล เตรียมความพร้อมรองรับและปรับตัวจากการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ ตลอดจนการแก้ไขที่ทำกินแก่ผู้ยากไร้ โดยคำนึงถึงความยั่งยืนของระบบนิเวศ

6. ยุทธศาสตร์การพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัย และนวัตกรรม จำนวน 27,335.5 ล้านบาท เพื่อเสริมสร้างประเทศไทยให้เป็นสังคมที่อยู่บนพื้นฐานขององค์ความรู้โดยพัฒนาเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันด้านวิทยาศาสตร์ เพิ่มขีดความสามารถและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ และสามารถประยุกต์ใช้เพื่อการบริการจัดการด้านต่างๆ

7. ยุทธศาสตร์การต่างประเทศและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ จำนวน 9,099.3 ล้านบาท เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีและขยายความร่วมมือระหว่างประเทศไทยและประเทศต่างๆ ส่งเสริมให้ประเทศไทยมีบทบาทที่สร้างสรรค์ในเวทีระหว่างประเทศ และให้ความช่วยเหลือในการร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน มุ่งการให้บริการด้านการต่างประเทศ ตลอดจนดูแลสิทธิแรงงานไทยในต่างประเทศ

8. ยุทธศาสตร์การบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี จำนวน 364,645.7 ล้านบาท เพื่อสร้างสมดุลด้านการพัฒนาศักยภาพการบริหารจัดการภาครัฐให้มีความพร้อม ส่งเสริมให้จังหวัดและกลุ่มจังหวัดมีบทบาทสำคัญในระดับพื้นที่อย่างบูรณาการ ปฏิรูปกฎหมายให้เป็นมาตรฐานสากล และพัฒนากระบวนการยุติธรรมให้มีประสิทธิภาพ

9. รายการค่าดำเนินการภาครัฐ จำนวน 543,307.6 ล้านบาท เพื่อรองรับเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นโดยมิได้คาดหมายสำหรับกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น การบริหารจัดการบุคลากรภาครัฐให้มีประสิทธิภาพรวมทั้งการบริหารหนี้ภาครัฐและรายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง

สำหรับงบประมาณรายจ่ายประจำปี งบประมาณ 2559 จำแนกตามกระทรวงพบว่า 5 อันดับที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณสูงสุด ได้แก่

1. กระทรวงศึกษาธิการ จำนวน 520,132,166,300 บาท หรือร้อยละ 19.1

2. กระทรวงมหาดไทย จำนวน 343,707,272,300 บาท หรือร้อยละ 12.6

3. กระทรวงกลาโหม จำนวน 207,718,946,800 บาท หรือร้อยละ 7.6

4. กระทรวงการคลัง จำนวน 199,328,807,200 บาท หรือร้อยละ 7.3

5. กองทุนและเงินหมุนเวียน จำนวน 148,475,068,000 บาท หรือร้อยละ 5.5 ส่วนงบกลางซึ่งเป็นรายจ่ายที่ตั้งไว้เพื่อจัดสรรให้ส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจโดยทั่วไปเบิกจ่าย จำนวน 402,139,412,300 บาท หรือร้อยละ 14.8 ทั้งนี้ กระทรวงที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณน้อยที่สุด คือ กระทรวงพลังงาน จำนวน 2,045,391,300 บาท หรือร้อยละ 0.1 ของวงเงินงบประมาณทั้งหมด


กำลังโหลดความคิดเห็น