xs
xsm
sm
md
lg

ภาคประชาชนจี้รัฐใช้ระบบแบ่งปันผลผลิตปิโตรเลียม เตรียมเสนอร่าง พ.ร.บ.ใหม่ทั้งฉบับใน 2 สัปดาห์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ (ภาพจากแฟ้ม)
การประชุมนโยบายด้านพลังงานของประเทศ ระหว่างภาครับกับภาคประชาชน “น.ต.ประสงค์” เสนอใช้ ม.44 ปฏิรูปพลังงาน “ปานเทพ” เผยภาคประชาชนจะร่าง พ.ร.บ. ปิโตรเลียมใหม่ทั้งฉบับภายใน 2 สัปดาห์ “รสนา” จี้ทบทวนจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมัน ถึงเวลาต้องใช้ระบบแบ่งปันผลผลิต “ม.ล.กร” แนะการตรวจสอบปิโตรเลียมรั่วไหลที่ปากหลุม ชี้รัฐไม่ทราบปริมาณชัดเจน มีผลการจัดเก็บภาคหลวง

วันนี้ (8 เม.ย.) ที่ทำเนียบรัฐบาล ม.ล.ปนัดดา ดิสกุล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล ความคิดเห็นเกี่ยวกับนโยบายด้านพลังงานของประเทศ โดยกล่าวก่อนการประชุมว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ให้ข้อสังเกตและขอความร่วมจากคณะทำงานชุดนี้ในการพิจารณา ในเรื่องระบบการบริหารจัดการทรัพยากรในรูปแบบสัมปทาน หรือการแบ่งปันผลผลิต โดยให้พิจารณาเป็นเรื่องแรกและนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรีต่อไป

ด้าน น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ อดีตรมช.ต่างประเทศ ในฐานะตัวแทนภาคประชาชน กล่าวว่า ตนรู้สึกเสียใจเนื่องจากภายหลังการประชุมในครั้งแรกเมื่อวันที่ 6 มี.ค. ที่ผ่านมา แต่ข้อเสนอในการตั้งคณะกรรมการ 3 ฝ่าย ยังไม่ได้รับการตอบสนองจากภาครัฐ อย่างไรก็ตาม ตนไม่เห็นด้วยหากจะมีการแกไขกฎหมายเพียงผิวเผิน แต่จะต้องลงลึกในรายละเอียดเพื่อไม่เอื้อประโยชน์ให้ใคร ซึ่งการปฏิรูปพลังงานของ คสช. ที่ระบุว่าความคาดหวังของประชาชนเป็นสิ่งที่สังคมและภาคประชาสังคมจะต้องทำให้เกิดผล คือ การปฏิรูปพลังงานให้เกิดความโปร่งใส และจัดสรรให้แก่ภาคส่วนต่างๆ อย่างเป็นธรรม ปราศจากการทุจริตคอร์รัปชันจากกลุ่มทุนทั้งในและนอก จนสามารถพัฒนาให้เกิดความเจริญแก่ประเทศโดยไม่กระทบต่อประชาชนส่วนร่วม แต่ในความเป็นจริงซึ่งผ่านมาเกือบ 1 ปีกลับไม่มีความคืบหน้า จึงขอร้องให้ คสช. ใช้มาตรา 44 ดำเนินการในสิ่งที่มีการสั่งการไปแล้วแต่ไม่ได้ดำเนินการ และขอให้ปลัดกระทรวงพลังงานหรือรองปลัดหรือผู้มีอำนาจเข้าร่วมในการประชุมด้วย เพราะการทำงานกับประชาชนจะต้องเข้าถึงประชาชนเพราะ คสช. ระบุว่าจะยืนเคียงข้างประชาชน ในฐานะข้าราชการก็ต้องทำเพื่อประชาชนด้วย

นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย ระบุว่า การจัดสรรทรัพยากรไม่ว่ารูปแบบใด ประชาชนจะไว้ใจก็ต่อเมื่อทรัพยากรถูกนำมาใช้ประโยชน์สูงสุด จึงได้ประชุมร่วมกันเพื่อหาทางออก ขณะเดียวกัน คสช. ก็มีข้อมูลและทราบปัญหาไม่ต่างกับเครือข่ายประชาชน จึงขอให้สร้างความมั่นคงแห่งรัฐอย่างแท้จริง กำหนดราคาที่เป็นธรรม เอกชนมีการจัดการที่เป็นธรรม คำนึงถึงสภาพแวดล้อมโดยให้ประชาชนมีส่วนร่วม จัดการโดยมีธรรมาภิบาล ซึ่งเครือข่ายภาคประชาชนจะร่าง พ.ร.บ. ปิโตรเลียมใหม่ทั้งฉบับให้แล้วเสร็จภายใน 2 สัปดาห์ และให้มีการทำประชาพิจารณ์ทั่วประเทศ หากไม่มีข้อโต้แย้งใด รวมทั้งจะต้องมีมาตรการจัดการปิโตรเลียมในช่วงเปลี่ยนผ่าน ก่อนที่จะมี พ.ร.บ. ปิโตรเลียม

นอกจากนี้ จะเสนอให้รัฐต้องให้เอกชนรายอื่นสามารถสร้างโรงแยกก๊าซเพิ่มเติม เนื่องจากขณะนี้ ปตท. ผูกขาดการซื้อก๊าซปากหลุมจึงผูกขาดโรงแยกด้วย และใช้ก๊าซราคาต่ำกว่าราคาตลาดโลก ทำให้ก๊าซหุงต้มขาดแคลน จนต้องนำเข้าในราคาที่แพงขึ้น ประชาชนต้องใช้ราคาแพง ดังนั้นจึงลดการผูกขาด และการอำนาจเหนือตลาดของ ปตท. ทั้งนี้ ในระหว่างจะตั้งบรรษัทแห่งชาติ ให้มีการตั้งคณะกรรมการบริการจัดการปิโตรเลียมแห่งชาติ ประกอบด้วย ภาครัฐและประชาชน และต้องไม่มีการขัดกันของผลประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อม เพื่อให้สามารถทำได้จริง รวดเร็วมีประสิทธิภาพ มีประโยชน์ต่อประเทศชาติ โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ที่รัฐบาลแจ้งว่าจะใช้อำนาจอย่างสร้างสรรค์ เช่นเดียวกับการจัดตั้งสถาบันการบินพลเรือน

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีต รมว.คลัง กล่าวว่า ข้อเสนอของภาคประชาชนวันนี้ หากข้อใดที่กระทรวงพลังงานเห็นว่ายังไม่ดี ไม่เห็นด้วยหรือควรปรับปรุง ก็ขอให้ตั้งเป็นแกนไว้ และให้กระทรวงพลังงานนำเสนอข้อโต้แย้งเพื่อให้ได้ข้อยุติ และสามารถชี้แจงประชาชนได้

ด้าน น.ส.รสนา โตสิตระกูล สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ด้านพลังงาน กล่าวว่า การปฏิรูปพลังงานถือเป็นต้นทางในการปฏิรูปด้านอื่นๆ ด้วย ซึ่งขณะนี้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) อยู่ในขั้นตอนศึกษาและเสนอแนะ ขอให้เปิดกว้างให้ประชาชนได้เข้าไปร่วมดู ซึ่งมีการศึกษา พ.ร.บ. ฉบับเดิม ซึ่งมีหลายประเด็นที่ล้าสมัย ถ้าการยกร่างฯ มีการนำความเห็นของประชาชนไปด้วยและการยกร่างใหม่น่าจะดีกว่าการแก้ไข นอกจากนี้ ต้องทบทวนเรื่องการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมัน และใช้การจัดเก็บภาษีในเรื่องทรัพยากรมาเป็นสวัสดิการต่างๆ ส่วนรูปแบบในการบริหารทรัพยากรนั้นก็มองว่าถึงเวลาที่จะต้องใช้รูปแบบการแบ่งปันผลผลิต ที่ผ่านมาใช้ระบบสัมปทานรัฐมีรายได้เพียง 1 เปอร์เซ็นต์ของมูลค่าทรัพยากร โดยมีรายได้จากงบลงทุนเพียง 5 พันล้านบาท จากมูลค่าทรัพยาการถึง 5 แสนล้านบาท

ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี นักวิชาการอิสระ กล่าวว่า ขอเสนอให้มีการแก้ไขในเรื่องการตรวจสอบปริมาณการรั่วไหลของปิโตรเลียมบริเวณปากหลุม เนื่องจากที่ผ่านมามีการแก้ไขกฎหมายโดยตัดสาระสำคัญที่ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐจะต้องเป็นผู้ควบคุมการตรวจสอบ แต่ขณะนี้มีการยกเลิกไปทำให้ไม่สามารถทราบถึงปริมาณที่นำออกมาอย่างชัดเจน จึงอาจทำให้ไม่เกิดความเป็นธรรมต่อภาคประชาชน และยังมีผลต่อการเก็บค่าภาคหลวงด้วย ที่ประชาชนไม่สามารถตรวจสอบได้

ด้านตัวแทนกรมเชื้อเพลิงพลังงาน ชี้แจงถึงกรณีที่ระบุว่า ไม่มีเจ้าหน้าที่ไปร่วมตรวจสอบปริมาณปิโตรเลียมที่ปากหลุมนั้น เนื่องจากปัจจุบันมีการพัฒนาเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือที่สามารถตรวจสอบได้จากจุดอื่น ยืนยันว่าเป็นระบบตรวจสอบที่ดีกว่า

นายจำเริญ ยุติธรรมสกุล รองปลัดสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) กล่าวว่า หลังจากนี้จะรวบรวมข้อคิดเห็นของภาคประชาชนทั้งหมดจัดทำเป็นข้อสรุปใน 3 ส่วน ได้แก่ 1. ข้อมูลที่เป็นความเห็นของภาคประชาชนที่เกี่ยวข้องกับระเบียบแบบแผนที่กระทรวงพลังงานสามารถจะแก้ไขได้ ซึ่งจะส่งให้กระทรวงพลังงานพิจารณา 2. เรื่องเชิงนโยบานที่ต้องให้นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีพิจารณาและ 3. การแก้ไขกฎหมายซึ่งจะส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา โดยทั้ง 3 ส่วนจะมีการนำเสนอให้นายกรัฐมนตรีรับทราบด้วยและจะมีการชี้แจงของภาครัฐถึงความคืบหน้าในการทำงานแต่ละส่วนต่อไปให้ประชาชนรับทราบ


กำลังโหลดความคิดเห็น