อาจารย์ ดร. อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
หัวหน้าสาขาวิชาการวิเคราะห์ธุรกิจและการวิจัย
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
หัวหน้าสาขาวิชาการวิเคราะห์ธุรกิจและการวิจัย
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
สหรัฐอเมริกามหามิตรของไทยได้เลือกข้างแล้วอย่างชัดเจน หลังจากการที่นาย Daniel Russell ได้เดินทางมาปาฐกถาแสดงความไม่เห็นด้วยกับกฎอัยการศึกในประเทศไทย ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผมได้รับรายงานข่าวจากคนในท้องที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมาว่าทางสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปลงพื้นที่ตามหมู่บ้านเสื้อแดงเพื่อสอบถามความคิดเห็นความเป็นอยู่และทัศนคติทางการเมืองของประชาชนในพื้นที่ การลงพื้นที่ดังกล่าวเป็นสิ่งที่ทรามมากในทางการทูตเนื่องจากเป็นการแทรกแซงกิจการภายในของประเทศไทยทั้งยังเป็นการเลือกข้างไม่เป็นกลางทางการเมืองอย่างชัดเจน ทั้งนี้ผิดทั้งมารยาททางการทูตและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและผิดหลักกฎหมายระหว่างประเทศตามสนธิสัญญาเจนีวาที่ประเทศต่างๆ ในโลกร่วมลงนามกันหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง
อันที่จริงกฎอัยการศึกนั้นเป็นกฎหมายที่มีความเป็นสากล ซึ่งหลายประเทศเรียกกันว่า Martial laws ซึ่งประกาศใช้ในกรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉินที่กระทบกระเทือนความมั่นคงแห่งรัฐ (State of emergency) เช่นในกรณีสงครามหรือเกิดการจลาจล กฎอัยการศึกให้อำนาจของฝ่ายทหารมากกว่าฝ่ายรัฐหรือราชการ ประเทศต่างๆ ทั่วโลกต่างก็มีกฎอัยการศึกและเคยประกาศใช้มาแล้วทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส อังกฤษ แคนาดา และ เกาหลี เป็นต้น สำหรับสหรัฐอเมริกาเอง เคยประกาศใช้กฎอัยการศึกมาไม่น้อยกว่า 10 ครั้ง ตั้งแต่เรื่องใหญ่ๆ เช่น American revolution หลังเกิด Boston tea party เกิดสงครามกลางเมืองสมัยประธานาธิบดี Abraham Lincoln ไฟไหม้ใหญ่ในชิคาโกในปี 1871 แผ่นดินไหวใหญ่ในซานฟรานซิสโกในปี 1906 การประท้วงของคนงานเหมืองถ่านหินในโคโลราโดในปี 1914 การโจมตีของฝูงบินกามิกาเซ่ที่ Pearl Harbor ที่รัฐฮาวาย แม้กระทั่งล่าสุดพายุเฮอริเคนแคทริน่าพัดถล่มเมืองนิวออร์ลีนส์ โดยภาพรวมประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่น่าจะมีการประกาศใช้กฎอัยการศึกมานับครั้งไม่ถ้วน และอาจจะมากกว่าประเทศอื่นใดในโลกก็ว่าได้
หลังเกิดเหตุการณ์ 9-11 สหรัฐอเมริกาเองตระหนักว่ากฎอัยการศึกนั้นไม่เพียงพอที่จะคุ้มครองความมั่นคงแห่งรัฐ และจะประกาศใช้ได้ก็ต่อเมื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินที่มีผลต่อความมั่นคงแห่งรัฐ รัฐบาลสหรัฐอเมริกาตัดสินใจตั้งกระทรวงพิทักษ์มาตุภูมิ (Department of homeland security: DHS) ขึ้นมาแทน โดยเป็นการรวบรวมหน่วยงาน 22 หน่วยงานจาก 9 กระทรวง (เกษตร, พาณิชย์, กลาโหม, พลังงาน, สาธารณสุขและการบริการมนุษย์, ยุติธรรม, มหาดไทย, การขนส่ง, และกระทรวงการคลัง) และสองหน่วยงานอิสระคือ สำนักบริหารจัดการในภาวะฉุกเฉินของรัฐบาลกลาง (Federal Emergency Management Agency: FEMA) และ สำนักบริหารงานบริการทั่วไป (General Services Administration: GSA) เข้ามาอยู่ด้วยกัน มีข้าราชการรวมกันประมาณหนึ่งแสนเจ็ดหมื่นคน โดยมีพันธกิจหลักสามประการคือ 1. ป้องกันการโจมตีของผู้ก่อการร้ายในสหรัฐอเมริกา 2. ลดความเปราะบางของสหรัฐอเมริกาในการที่จะถูกโจมตีจากผู้ก่อการร้าย และ 3. ทำให้อันตรายที่อาจจะเกิดจากการโจมตีและหายนะภัยธรรมชาติลดลงให้น้อยที่สุด อำนาจของกระทรวงพิทักษ์มาตุภูมินั้นมีมหาศาลตั้งแต่การออกวีซ่าเข้าเมือง การตรวจพืชและสัตว์ การตรวจสอบความมั่นคงของคอมพิวเตอร์และเครือข่าย การตรวจสอบสินค้าที่คาดว่าจะมีอันตราย และควบคุมระบบสื่อสารของชาติ เป็นต้น
อาจกล่าวได้ว่ากระทรวงพิทักษ์มาตุภูมิเป็นกระทรวงที่มีอำนาจกว้างขวางที่สุดและแทรกแซงได้แทบทุกกิจการทั้งในและนอกสหรัฐอเมริกา โดยไม่จำเป็นต้องมีภาวะฉุกเฉินแต่ประการใด การให้อำนาจกระทรวงพิทักษ์มาตุภูมิของสหรัฐอเมริกามากมายมหาศาลขนาดนี้นั้นสาเหตุหลักคงมาจากความกลัวที่จะถูกโจมตีจากการก่อการร้ายเป็นสำคัญ และทุกวันนี้ในสังคมอเมริกันเองก็มีการถกเถียงกันมากมายว่ากระทรวงพิทักษ์มาตุภูมินั้นมีความจำเป็นจริงหรือและมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดมากเกินไปหรือไม่ และกระทรวงพิทักษ์มาตุภูมินั้นทำงานได้คุ้มค่ากับงบประมาณที่ได้รับจัดสรรมหาศาลหรือไม่?
สำหรับกฎอัยการศึกของไทย ตราเป็นพระราชบัญญัติครั้งแรกในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อปี พ.ศ. 2450 โดยถอดแบบมาจากกฎอัยการศึกของประเทศฝรั่งเศส พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงแก้ไขเพื่อให้เหมาะสมสอดคล้องกับตำราพิชัยสงครามของไทยในปี พ.ศ. 2457 มีการแก้ไขเพิ่มเติมรวม 5 ครั้ง ไทยเราเองมักมีการประกาศใช้กฎอัยการศึกหลังการรัฐประหารเสมอมาโดยมักใช้เป็นเครื่องมือในการกระชับอำนาจของทหารผู้ก่อการรัฐประหารแทบทุกครั้งไป โดยส่วนตัวผมเห็นว่ากฎอัยการศึกยังจำเป็นอยู่ เพราะจากการลงพื้นที่ไปสัมภาษณ์แกนนำชาวบ้านเสื้อแดงในภาคอีสานได้ทิ้งท้ายเอาไว้ว่า “แน่จริงก็เลิกกฎอัยการศึกสิ ถ้าเลิกกฎอัยการศึกเมื่อไหร่ พวกเราก็พร้อมจะทำศึก” แม้ว่าผมจะมีความเห็นว่า คสช. ใช้อำนาจกฎอัยการศึกนี้เลยเถิดไปหลายครั้ง แต่คลื่นใต้น้ำยังคุกรุ่นอยู่มาก เพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยแห่งบ้านเมืองกฎอัยการศึกจึงอาจจะยังมีความจำเป็น
ผมเองอยากจะถามคำถามนาย Daniel Russell ฝากไปยังรัฐบาลสหรัฐอเมริกาว่า 1. ตกลงกฎอัยการศึกของไทยในยามฉุกเฉินและมีผลกระทบต่อความมั่นคงแห่งรัฐกับกระทรวงพิทักษ์มาตุภูมิในภาวะปกตินั้นใครมีขอบข่ายอำนาจกว้างขวางกว่ากันแน่? และ 2. ถ้าหากสหรัฐอเมริกาต้องการให้ไทยยกเลิกกฎอัยการศึกแล้วสหรัฐอเมริกามีความคิดจะล้มเลิกกระทรวงพิทักษ์มาตุภูมิหรือไม่?