xs
xsm
sm
md
lg

“ประยุทธ์” สั่ง ครม.-คสช. แจงปมถอดถอน “ปู-ค้อนปลอม-นิคม” ยึดกฎหมาย-ไม่แบ่งฝ่าย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพจากแฟ้ม
นายกฯ วอน ครม.- คสช. ช่วยชี้แจงสังคม กรณีถอดถอน “ยิ่งลักษณ์ - สมศักดิ์ - นิคม” ชี้สังคมต้องพิจารณาภาวะผู้นำ ไม่ตอบคำถามเอง ยันแม่น้ำ 5 สายยึดหลักกฎหมาย ไม่แบ่งฝ่าย เล็งจัดประชุมเดือนละครั้ง ไฟเขียวนำเข้าปาล์มน้ำมัน 5 หมื่นตัน ก่อนประกันราคาปาล์มสดกิโลละ 5 บาท อ้างจำเป็นหลังมีแนวโน้มขาดแคลน พร้อมสั่งแจงเกษตรกร เห็นชอบ พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ เพิ่มเบี้ยเลี้ยงสนามทหารพรานเป็น 200 ต่อวัน เยียวยาความเดือดร้อนด่านสะเดา วางกรอบงบปี 59 วงเงิน 2.72 ล้านล้าน และคุมสินค้า - บริการ 41 รายการ

วันนี้ (20 ม.ค.) เมื่อเวลา 16.00 น. ที่ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ร่วมกับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ครั้งที่ 1/58 ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. เป็นประธานว่า พล.อ.ประยุทธ์ ได้ฝากทุกภาคส่วนทั้ง ครม. และ คสช. ให้ช่วยกันชี้แจงต่อสังคม กรณีกระบวนการถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา และ นายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา ว่าเรื่องเหล่านี้เป็นการแก้ไขปัญหาการขัดแย้งของชาติบ้านเมืองเราในอดีต ที่ยังมีข้อขัดแย้งกันอยู่ จะอยู่เฉยก็ไม่ได้ความขัดแย้งพร้อมที่จะปะทุขึ้นมาตลอด ซึ่งเรื่องต้องดำเนินไปตามกฏหมาย โดยในครั้งนี้เป็นการตรวจสอบภาวะผู้นำ คุณธรรมและจริยธรรมของนักการเมือง ที่มีการเสนอข้อมูลทั้งสองฝ่ายให้กับสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ให้รับทราบ รวมทั้งมีการเสนอข้อมูลอย่างกว้างขวางให้ประชาชนรับทราบว่า ทางฝ่ายคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตั้งข้อสังเกตในเรื่องใดบ้าง

พล.ต.สรรเสริญ กล่าวต่อว่า ในเรื่องของการมีวุฒิภาวะผู้นำของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่รับทราบในเรื่องของการบริหารราชการที่ผ่านมาว่ามันเกิดความเสียหาย และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้ใช้ภาวะผู้นำ ผู้กำหนดนโยบายของรัฐยับยั้งความเสียหายเหล่านั้นหรือไม่ ส่วนการตอบข้อซักถามของ ป.ป.ช. นั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ ก็ไม่ได้มาตอบด้วยตัวเอง กลับมอบหมายให้ทีมอดีตรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องตอบผ่านยูทิวบ์ สังคมต้องพิจารณาดูว่าว่าการตรวจสอบคุณธรรม จริยธรรม สามารถที่จะมอบหมายกับใครตอบแทนได้หรือไม่ แต่ขอยืนยันให้ทุกฝ่ายมั่นใจว่าแม่น้ำ 5 สาย ทั้ง ครม. คสช. สนช. สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และกรรมาธิการยกร่างฯ รวมทั้งศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป (สปป.) พยายามดำเนินการที่จะแก้ไขปัญหาความขัดแย้งอย่างเป็นระบบโดยยึดถือข้อกฏหมาย และคุณธรรม จริยธรรม ไม่มุ่งหมายที่จะทำร้ายใคร ทั้งนี้ สปป.พยายามจัดกิจกรรมในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ซึ่งมีประชาชนไปร่วมกิจกรรมกันค่อนข้างจำนวนมาก ถือได้ว่าเรื่องการแบ่งสีแบ่งฝ่ายค่อนข้างจะลดน้อยลงไปเรื่อยๆ ยังมีเพียงกลุ่มการเมืองเล็กๆ น้อยๆ ที่พยายามพูดชักจูงกระแสให้เกิดคงวามรู้สึกเป็นสีเป็นกลุ่ม ดังนั้นขอความร่วมมือทุกฝ่ายว่าให้มั่นใจในแม่น้ำ 5 สาย ที่ คสช. ตั้งมา ว่าจะดำเนินการด้วยความยุติธรรมไม่แบ่งฝ่าย

“พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวในที่ประชุมว่า ในการทำงานร่วมกันของแม่น้ำ 5 สาย รวมทั้ง สปป. ที่แม้แต่ละส่วนจะมีหน้าที่ภารกิจชัดเจน แต่การประสานงานกันยังขาดความต่อเนื่อง จึงจัดให้มีการประชุมทุกหน่วยงานทุกเดือนๆ ละหนึ่งครั้ง โดยครั้งแรกจะเริ่มในต้นเดือน ก.พ. นี้ อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าไม่ได้เป็นการแทรกแซง แต่เป็นการพูดคุยเพื่อจะได้รู้แนวทางปฏิปัติว่าในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว แต่ละส่วนมีเป้าหมายอย่างไร การดำเนินงานแต่ละส่วนจะได้สอดคล้องไม่ไปคนละทิศทาง” พล.ต.สรรเสริญ ระบุ

พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด แถลงผลการประชุม ครม.ด้วยว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบการนำเข้าปาล์มน้ำมันจำนวน 5 หมื่นตัน ตามที่คณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เสนอ เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำมันปาล์มขาดแคลนในช่วงเดือน ม.ค.-ก.พ. 58 เนื่องจากขณะนี้ปริมาณน้ำมันปาล์มสต๊อกมีเพียง 1.13 แสนตันเท่านั้น ขณะที่ปริมาณน้ำมันปาล์มที่จะเพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศจะอยู่ 1.7 แสนตัน ซึ่งทำให้เกิดความไม่มั่นใจต่อการขาดแคลนน้ำมันปาล์ม ซึ่งในอดีตที่ผ่านมาในเกิดปัญหาในลักษณะนี้มาแล้ว จนมีการสต๊อกน้ำมันปาล์มไว้เพื่อเก็งกำไรมาแล้ว ส่งผลให้ราคาสินค้าอื่นที่ผูกพันกับน้ำมันปาล์มถีบตัวสูงขึ้นไปด้วย เพราะฉะนั้นในการแก้ไขปัญหาก็จำเป็นต้องมีการสั่งน้ำมันปาล์มเข้ามา

“ท่านนายกฯ เน้นย้ำว่า ต้องทำความเข้าใจกับเกษตรกรสวนปาล์มว่า ผู้ที่นำเข้าในครั้งนี้ไม่ใช่ภาคเอกชน แต่เป็นองค์การคลังสินค้า ซึ่งเป็นหน่วยงานภาครัฐ และมีกฎเกณฑ์กติกาที่ชัดเจนว่าจะนำเข้ามาไม่เกิน 5 หมื่นตัน และต้องเสร็จสิ้นไม่เกินกลางเดือน ก.พ. 58 นอกจากนี้ ยังจะมีมาตรการรับประกันผลผลิตลูกปาล์มสดที่กิโลกรัมละ 5 บาท โดยข้อตกลงที่ว่านี้ได้มีการประชุมกับภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องแล้วทั้งภาครัฐ ผู้ประกอบการ และผู้แทนเกษตรกร” พล.ต.สรรเสริญ กล่าว

พล.ต.สรรเสริญ กล่าวอีกว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ทรัพยากรน้ำ ตามที่ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นผู้เสนอ โดยสาระสำคัญของร่างกฎหมายฉบับนี้เป็นการกำหนดหลักเกณฑ์และมาตรการในการประกันสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนที่จะเข้าถึงทรัพยากรน้ำ มีการควบคุมบริหารการใช้ แนวทางการแก้ไขปัญหาทั้งน้ำท่วมและน้ำแล้ง สืบเนื่องจากที่ผ่านมาปัญหาเกี่ยวกับทรัพยากรน้ำมีความรุนแรงมากขึ้น การแก้ไขปัญหาโดยมีแผนแม่บทที่เกี่ยวข้องจึงมีความจำเป็นอย่างมาก ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้กำหนดไว้ว่า รัฐมีอำนาจในการพัฒนาทรัพยากรน้ำ สามารถเปลี่ยนแปลงรูปร่างหรือขยายพื้นที่ของแหล่งน้ำได้ บุคคลทั่วไปมีสิทธิ์ที่จะใช้น้ำเท่าที่จำเป็น เก็บกักน้ำได้ แต่ต้องไม่เป็นเหตุที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น

พล.ต.สรรเสริญ กล่าวต่อว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้ยังกำหนดให้มีคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีกรมทรัพยากรน้ำทำหน้าที่ฝ่ายเลขานุการ โดย กนช. มีอำนาจในการแต่งตั้งคณะกรรมการประจำลุ่มน้ำต่างๆ ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้แทนหน่วยงานต่างๆในพื้นที่เป็นคณะกรรมการ ทั้งยังมีการแบ่งการใช้ทรัพยากรน้ำเป็น 3 ประเภท ได้แก่ 1. เพื่อการดำรงชีพ 2. เพื่อการเกษตรและอุตสาหกรรม และ 3. เพื่อกิจการขนาดใหญ่ ทั้งนี้ ในระหว่างที่กฎหมายยังไม่มีผลบังคับใช้ ได้มอบหมายให้คณะกรรมการกำหนดนโยบายและการบริหาร จัดการทรัพยากรน้ำ ที่คณะรักษาสงบแห่งชาติ (คสช.) มี พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ เป็นประธาน ทำหน้าที่ประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดไปก่อน

พล.ต.สรรเสริญ เปิดเผยด้วยว่า ที่ประชุม ครม. ได้เห็นชอบการปรับปรุงสิทธิประโยชน์ของอาสาสมัครทหารพราน ตามที่กระทรวงกลาโหมได้เสนอ ใน 3 ประเด็น คือ 1. เห็นชอบในการปรับเพิ่มเงินค่าเบี้ยเลี้ยงสนามจาก 120 บาท/คน/วัน เป็น 200 บาท/คน/วัน ทั้งในส่วนของกองทัพบกและกองทัพเรือจำนวนประมาณ 2.3 หมื่นนาย เนื่องจากไม่ได้มีการปรับเพิ่มมาตั้งแต่ปี 2554 2. ปรับวิธีการคำนวณเงินช่วยเหลือให้แก่อาสาสมัครทหารพราน ซึ่งตามปกติเมื่อปฏิบัติภารกิจจนครบอายุตามที่กำหนดคือสัญญาใหม่ที่ครบ 45 ปีบริบูรณ์ และสัญญาเก่าที่ 60 ปีบริบูรณ์ อาสาสมัครทหารพรานจะได้รับเงินช่วยเหลือ 1 ครั้ง โดยปกติจะคำนวณเงินรายเดือนสุดท้ายคูณด้วยจำนวนปีที่ทำงาน โดยครั้งนี้ขอเพิ่มให้คำนวณจำนวนวันทวีคูณ ที่ประจำการในพื้นที่เสี่ยงภัยและทุรกันดารเข้าไปด้วย และ 3. ให้ทางเลือกในการรับเงินช่วยเหลือจากเดิมที่รับเพียงครั้งเดียว สามารถเลือกรับเป็นรายเดือนก็ได้ โดยใช้เงินเดือนสุดท้ายรวมจำนวนปีที่ทำงาน และวันทวีคูณ แต่ต้องไม่เกิน 50 ปีหารด้วย 50 เพื่อเป็นเงินช่วยเหลือในแต่ละเดือน

พล.ต.สรรเสริญ กล่าวด้วยว่า ที่ประชุมได้อนุมัติเงินเยียวยาให้แก่ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากการก่อสร้างด่านศุลกากรสะเดา จ.สงขลา แห่งใหม่ เพื่อรองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) โดยให้ใช้งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉิน วงเงิน 758 ล้านบาทเศษ เพื่อชดเชยให้แก่ประชาชนที่มีที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่ สปก. เนื่องจากที่ผ่านไม่สามารถเจรจากับผู้ที่ได้รับผลกระทบไม่ได้ เพราะมูลค่าที่ดินโดยรอบค่อนข้างสูงจากแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดยกรมศุลกากรได้เริ่มดำเนินการในส่วนนี้ไปแล้ว ซึ่งมีที่ดินที่อยู่ในข่ายจำนวน 60 แปลง มีประชาชนได้รับผลกระทบ 41 ราย กำหนดค่าตอบแทนในอัตราไร่ละ 1.2 ล้านบาท และค่าผลอาสินของต้นยางต้นละ 1,500 บาท นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้อนุมัติในหลักการสถาปนาบ้านพี่เมืองน้องระหว่าง อ.แม่สอด กับ เมียวดี ของประเทศพม่า เพื่อผลักดันการค้าชายแดนระหว่างกันในเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด จ.ตาก

ด้าน ร.อ.นพ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมร่วมคณะรัฐมนตรี (ครม.) และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ว่า ที่ประชุมรับทราบ ข้อเสนอของคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (คตช.) เรื่องการใช้ระบบข้อตกลงคุณธรรมในการป้องกันการทุจริตในโครงการต่างๆ ซึ่งเรื่องนี้เป็นการนำหลักการข้อตกลงคุณธรรมมาใช้ในการกำกับดูแลเพื่อป้องกันการทุจริตเป็นโครงการนำร่อง ใน 2 โครงการ คือ โครงการจัดซื้อรถโดยสารที่ใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ (NGV) จำนวน 489 คัน ขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ และโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย โดย คตช. ได้เสนอรายชื่อผู้สังเกตการณ์ ตามที่องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เสนอจำนวน 9 คน โดยแบ่งเป็น ผู้สังเกตการณ์โครงการจัดซื้อรถโดย ประกอบด้วย 1. นายสุนทร คุณชัยมัง 2. นายนพนันท์ วรรณเทพสกุล 3. นายอรุณ ลีธนาโชค และ 4. นายสุภรธรรม มงคลสวัสดิ์ ผู้สังเกตการณ์โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ประกอบด้วย 1. นางพูลพร แสงบางปลา 2. นางนฤมล สิงหเสนี 3. นายธาดา เตียประเสริฐ 4. นายอนุวัตร เชื้อพิบูลย์ และ 5. นายกิตติเดช ฉันทังกูล

ร.อ.นพ.ยงยุทธ กล่าวต่อว่า ที่ประชุม ครม. ได้เห็นชอบกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 59 โดยยังจัดทำงบประมาณขาดดุลต่อวงเงิน 390,000 ล้านบาท มีงบประมาณรายจ่าย 2.72 ล้านล้านบาท และรายได้สุทธิ 2.33 ล้านล้านบาท ซึ่งการจัดทำงบประมาณครั้งนี้คิดบนสมมติฐานทางเศรษฐกิจ ขยายตัว 3.7 - 4.7% มีอัตราเงินเฟ้อที่ 1.1 - 2.1% โดยการจัดทำงบประมาณครั้งนี้ สำนักงบประมาณได้เสนอให้มีผู้แทนจากสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เข้ามาร่วมในขั้นตอนการจัดทำยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงเป็นข้อมูลประกอบการจัดทำงบประมาณด้วย

สำหรับโครงสร้างงบประมาณรายจ่ายปี 59 วงเงิน 2.72 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 5.6% มีรายจ่ายประจำ 2.1 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.6% รายจ่ายเพื่อชดเชยเงินคงคลัง 13,536 ล้านบาท ลดลง 67.7% รายจ่ายลงทุน 544,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 21% และรายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ 62,100 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.5% ทั้งนี้ ที่ประชุมยังเห็นชอบยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณปี 59 แบ่งเป็น 8 ยุทธศาสตร์ 1 รายการ คือ ยุทธศาสตร์การเร่งรัดการจัดทำรากฐานการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศ ยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งรัฐ ยุทธศาสตร์การสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจเติบโตอย่างเป็นธรรม ยุทธศาสตร์การศึกษาสาธารณสุขคุณธรรม จริยธรรมคุณภาพชีวิต ยุทธศาสตร์การจัดการทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม ยุทธศาสตร์ด้านวิทยาศาสตร์เทคโนลยี การวิจัย และนวัตกรรม ยุทธศาสตร์การต่างประเทศและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ และยุทธศาสตร์การบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี ส่วน 1 รายการ คือ รายการค่าดำเนินการภาครัฐ

“การจัดทำยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณต้องให้ความสำคัญกับการบูรณาการตามนโยบายรัฐบาล 19 เรื่อง และกำหนดแนวทางให้สอดคล้องกับด้านความมั่นคง โดย สมช. ต้องจัดทำแผนด้านความมั่นคงให้เสร็จโดยเร็ว ก่อนเสนอให้สำนักงบประมาณพิจารณา ซึ่งหลักการการจัดทำต้องสอดคล้องแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 และต้องคำนึงถึงความต่อเนื่องในการบริหารราชการแผ่นดิน คู่กับการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาล สอดคล้องกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา” ร.อ.นพ.ยงยุทธ กล่าว

นอกจากนี้ ที่ประชุม ครม. ได้เห็นชอบกำหนดสินค้า หรือบริการควบคุมปี 58 แยกเป็นสินค้า 38 รายการ และบริการ 3 รายการ ที่จำเป็นใช้ในชีวิตประจำวันประชาชน เริ่มตั้งแต่วันที่ 27 ม.ค. นี้ โดยยกเลิกสินค้าควบคุมเดิม 3 รายการ คือ เครื่องวัดความชื้นข้าว, เครื่องตรวจสอบคุณภาพข้าว และเครื่องชั่งวัดอัตราส่วนร้อยละของแป้งในหัวมัน เพราะไม่มีความจำเป็นแล้ว ส่วนที่เหลือให้คงรายการเดิมไว้ พร้อมกับเพิ่มรายการสินค้าควบคุมใหม่ คือ ท่อพีวีซี เพราะเป็นสินค้าที่ใช้ในการก่อสร้างและเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในพื้นที่การเกษตร ทั้งนี้ สินค้าและบริการควบคุมทั้ง 41 รายการ คือ หมวดอาหาร ได้แก่ กระเทียม ข้าวเปลือก ข้าวสาร ข้าวโพด มันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์ ไข่ไก่ สุกรและเนื้อสุกร น้ำตาลทราย น้ำมัน และไขมันที่ได้จากพืชหรือสัตว์ทั้งที่บริโภคได้หรือไม่ได้ ครีมเทียมนมข้นหวาน นมข้น นมคืนรูป นมแปลงไขมัน นมผล นมสด แป้งสารี อาหารในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท อาหารกึ่งสำเร็จรูปบรรจุภาชนะผนึก และผลปาล์มน้ำมัน

ร.อ.นพ.ยงยุทธ กล่าวต่อว่า หมวดสินค้าอุปโภคบริโภคในประจำวัน คือ ผงซักฟอก ผ้าอนามัย กระดาษชำระ กระดาษเช็ดหน้า, หมวดปัจจัยทางการเกษตร คือ ปุ๋ย ยาป้องกัน หรือกำจัดศัตรูพืชหรือโรคพืช หัวอาหารสัตว์ อาหารสัตว์ เครื่องสูบน้ำ รถไถนา รถเกี่ยวข้าว, หมวดวัสดุก่อสร้าง คือ ปูนซีเมนต์ เหล็กเส้น เหล็กโครงสร้างรูปพรรณ เหล็กแผ่น สายไฟฟ้า ท่อพีวีซี, หมวดขนส่ง คือ แบตเตอรีรถยนต์ ยางรถจักรยานยนต์ ยางรถยนต์ รถจักรยานยนต์ รถยนต์นั่ง รถยนต์บรรทุก, หมวดปิโตรเลียม คือ ก๊าซปิโตรเลียมเหลว น้ำมันเชื้อเพลิง เม็ดพลาสติก, หมวดยารักษาโรค คือ ยารักษาโรค และอื่นๆ คือ เครื่องแบบนักเรียน ส่วนบริการ มี 3 รายการ คือ การให้สิทธิในการเผยแพร่งานสิขสิทธิ์เพลงเพื่อการค้า บริการรับฝากสินค้าหรือบริการให้เช่าสถานที่เก็บสินค้า บริการทางการเกษตร

รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า ในการกำหนดสินค้าควบคุมครั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ ยังได้เสนอให้ควบคุมสบู่ และแชมพู ด้วย แต่ที่ประชุมเห็นว่า สินค้าทั้ง 2 ประเภท มีการแข่งขันในตลาดอยู่แล้ว และมีราคาที่เหมาะสม จึงไม่จำเป็นต้องเสนอมาเป็นสินค้าควบคุม


กำลังโหลดความคิดเห็น