xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

คสช.เงื้อค้าง? ปล่อยปตท. ฮุบสมบัติชาติ6.8หมื่นล้าน!!!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -การแปรรูปปตท.ไปเป็นบริษัทมหาชนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ไม่ยอมแยกท่อก๊าซฯ ซึ่งถือเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินออกมาให้เรียบร้อยเสียก่อน ทำให้เกิดปัญหาเรื้อรังไม่จบสิ้นตลอด 14 ปีที่ผ่านมา และคราวนี้ผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้ขอให้คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ(คสช.) สั่งให้กระทรวงการคลัง พลังงาน และปตท. กลับไปทบทวนและแก้ไขให้ถูกต้องเสียใหม่

หากยังจำกันได้ หลังคสช.ยึดอำนาจ ทั้งผู้ตรวจการแผ่นดิน และสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เคยทำหนังสือถึง คสช. เพื่อให้ทบทวนการคืนท่อก๊าซฯ ของปตท. เพราะยังส่งคืนไม่ครบถ้วนเช่นกัน แต่จนแล้วจนรอด จนบัดนี้ก็ไม่มีความชัดเจนหรือมีความคืบหน้าใดๆ ออกมา กระทั่ง ผู้ตรวจการแผ่นดิน ต้องออกมากระทุ้ง คสช. อีกรอบหนึ่ง

จะว่าไปถ้า คสช.ยังไม่ลงมือจัดการให้เรื่องนี้กระจ่างแจ้งเสียที ไม่แน่ว่าปัญหานี้จะเป็นเชื้อไฟให้เกิดการประท้วงอีกครั้งหรือไม่ เพราะหากดูตามไทม์ไลน์แล้ว คสช. ได้มีมติให้ ปตท.แยกธุรกิจท่อก๊าซออกไปตั้งบริษัทใหม่ให้เสร็จสิ้นในเดือนมิ.ย. 2558 ที่จะถึงนี้ หลังจากชะลอเอาไว้เพราะมีการประท้วงของเครือข่ายประชาชน

แน่นอนตามเป้าประสงค์ของปตท.ก็คือ การแยกเอาธุรกิจท่อก๊าซทั้งหมดที่อยู่ในปตท.ออกไปตั้งบริษัทลูกที่ปตท.ถือหุ้น 100% ก็เพื่อแปลงร่างให้กลุ่มธุรกิจก๊าซที่ทำกำไรให้ปตท.เป็นอันดับหนึ่งเพราะการผูกขาดท่อก๊าซ กลายสภาพไปเป็นบริษัทเอกชนเต็มตัว ซึ่งจะทำให้บริษัทท่อก๊าซดังกล่าว ไม่อยู่ภายใต้การตรวจสอบของหน่วยงานรัฐ เช่น สตง. หรือหน่วยงานตรวจสอบอื่นๆ อีกต่อไป

ที่สำคัญคือนี่เป็นกลเม็ดฮุบเอาท่อก๊าซทั้งหมดทั้งในส่วนที่เป็นสาธารณ สมบัติของแผ่นดินก่อนการแปรรูปปตท.รวมเข้าไปด้วยกับส่วนที่ปตท.ลงทุนเองหลังแปรรูปไปเป็นของเอกชนอย่างเนียนๆ และจะทำให้เพิ่มความยุ่งยากซับซ้อนในการแยกคืนท่อก๊าซในภายหลังยิ่งขึ้นไปอีก เพราะเมื่อแยกท่อก๊าซมาตั้งบริษัทใหม่เพื่อแปรรูปและขายให้เอกชนในตลาดหลักทรัพย์ฯ แล้ว การจะลงมือจัดการใดๆ หลังจากนั้นจะส่งผลกระทบต่อผู้ถือหุ้น กระทบต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ทำให้เกิดผลเสียต่อระบบเศรษฐกิจ เสียบรรยากาศการลงทุน สารพัดสารพันเหตุผล

การทำของหลวงให้กลายเป็นของเอกชนแล้วจะเอาของที่เอกชนคิดว่าเป็นของตัวเองกลับคืนมาเป็นของหลวงเหมือนเดิมนั้นเป็นเรื่องที่ยุ่งยากมาก ดังกรณีคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ที่พิพากษาคดีแปรรูป ปตท. ว่า ไม่ถูกต้อง ขัดกับหลักกฎหมาย แต่หากจะให้ปตท.กลับคืนสู่สภาพเดิม จะทำให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจ กระทบต่อผู้ถือหุ้นในวงกว้าง และเมื่อมีการออกกฎหมายมาแก้ไขความไม่ถูกต้องทีหลัง(ก่อนหน้าที่ศาลปกครองสูงสุด จะพิพากษาคดีเพียง 3 วัน) ศาลจึงวินิจฉัยให้ปตท.อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ต่อไป แต่ต้องแบ่งแยกทรัพย์สินก่อนการแปรรูปและเอาอำนาจมหาชนออกมา เนื่องจากศาลเห็นว่า ปตท. มีสภาพเป็นบริษัทมหาชนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่ใช่รัฐวิสาหกิจ จะมาครอบครองสาธารณสมบัติและใช้อำนาจมหาชน ซึ่งเป็นอำนาจของรัฐไปใช้ในการดำเนินธุรกิจอยู่อีกต่อไปอย่างเดิมไม่ได้

ดังนั้นแล้ว เมื่อ คสช.รู้ทั้งรู้ว่าจะมีปัญหาหากยังดันทุรังเดินหน้าต่อโดยไม่แก้ไขให้ถูกต้องเสียก่อนในเรื่องการจัดตั้งบริษัทท่อก๊าซ และจะยังปล่อยให้ปัญหาคาราคาซังไปเรื่อยๆ ทั้งที่เพิ่งทำท่าขึงขังว่าจะกำราบปรามปรามพวกที่กระทำการทุจริตผิดกฎหมาย ทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ ก็คงมองเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้นอกจากการแสดงปาหี่ไล่จับปลาซิวปลาสร้อยแล้วสร้างภาพให้อึกทึกครึกโครมใหญ่โต ขณะที่ปัญหาใหญ่จริงกลับเงื้อค้างไม่กล้าลงมือจัดการเสียงั้น

หากยังไม่แจ่มแจ้งชัดเจน มาพิจารณาดูว่าผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้ชี้ประเด็นที่เป็นปัญหาถึงขนาดว่า ปตท.กระทรวงการคลัง กระทรวงพลังงาน รายงานเท็จต่อศาลปกครองสูงสุด และเข้าข่ายกระทำผิดต่อกฎหมายอย่างไร อีกครั้ง

ผลการวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่เผยแพร่ต่อสาธารณชนเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา เป็นเรื่องสืบเนื่องมาจากการที่คณะกรรมาธิการศึกษา ตรวจสอบเรื่องทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา ยื่นเรื่องให้ผู้ตรวจการแผ่นดิน วินิจฉัยเรื่องการแบ่งแยกทรัพย์สินที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินคืนรัฐไม่ครบถ้วน ในคดีแปรรูป ปตท. ซึ่งคณะกรรมาธิการฯ ได้ยื่นเรื่องให้ผู้ตรวจการแผ่นดิน ไปตั้งแต่วันที่ 3 พ.ย.2554 และผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้แจ้งผลวินิจฉัยส่งให้คณะกรรมาธิการฯ ชุดดังกล่าว โดยสำนักงานวุฒิสภา ได้รับเรื่องเมื่อวันที่ 28เม.ย. 2558 ที่ผ่านมา

สำหรับคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดิน ตามหนังสือที่ลงนามโดยนายศรีราชา วงศารยางค์กูร ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ระบุว่า กระทรวงพลังงาน กระทรวงการคลัง และ ปตท. ดำเนินการผิดกฎหมายใน 4 ประเด็น คือ

1)การที่กระทรวงการคลัง และกระทรวงพลังงาน ไม่ดำเนินการทบทวนการแบ่งแยกทรัพย์สินดังกล่าวตามความเห็นและผลการตรวจสอบของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) มอบหมาย จึงเป็นการที่หน่วยงานดังกล่าวไม่เป็นปฏิบัติให้เป็นไปตามมติครม.

2)การกล่าวอ้างของบริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) ในคำร้องที่ยื่นต่อศาลปกครองสูงสุด ที่ว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายได้ดำเนินการตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ครบถ้วนแล้ว จึงเป็นการรายงานที่เป็นเท็จต่อศาลปกครองสูงสุด ที่ส่งผลต่อการพิจารณาการบังคับคดีของศาลปกครองสูงสุดในคดีนี้

3)ทรัพย์สินที่การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย รับโอนมาดังกล่าว และทรัพย์สินที่ได้มาจากการประกอบกิจการของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ตั้งแต่การก่อตั้งจนถึงวันที่1 ต.ค. 2544 ซึ่งเป็นวันแรกที่การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยเปลี่ยนสภาพเป็นบริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) จึงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ประเภททรัพย์สินใช้เป็นไปเพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะตามมาตรา 1304 (3)แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์... จึงอนุมานได้ว่าระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อในทะเลเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน...และการที่บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ไม่ส่งมอบระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อให้กับกระทรวงการคลัง จึงขัดกับหลักการแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1305ที่บัญญัติว่าทรัพย์สินซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้นจะโอนแก่กันมิได้

ดังนั้น ทรัพย์สินส่วนที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินมูลค่าสุทธิของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ณ วันที่ 30 ก.ย. 2544 รวมทรัพย์สินสุทธิ 68,569.69 ล้านบาท ต้องโอนให้กระทรวงการคลังทั้งจำนวน (หน้า 5)

4)ข้อเท็จจริงแสดงให้เห็นว่านับตั้งแต่มีการเปลี่ยนสถานะจากการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ไปเป็นบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) .... ไม่ปรากฏว่ากระทรวงการคลังและกระทรวงพลังงาน ได้ดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สินของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)ให้กลับมาเป็นของแผ่นดินหรือกระทรวงการคลัง อย่างครบถ้วนแต่อย่างใด ซึ่งพฤติการณ์ดังกล่าวจึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย อันเป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด

กรณีดังกล่าวจึงเป็นกรณีที่กระทรวงการคลัง กระทรวงพลังงาน และ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ปฏิบัติหรือละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ร้องเรียนโดยไม่เป็นธรรมตามกฎหมาย ตามมาตรา13 (1) (ก) (ข)แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2552

นอกจากนี้ ผู้ตรวจการแผ่นดิน ยังมีความเห็นและข้อเสนอต่อนายกรัฐมนตรี และรองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ในฐานะหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจที่จะขอให้กระทรวงการคลัง กระทรวงพลังงาน และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ดำเนินการดังต่อไปนี้

1)ทบทวนการแบ่งแยกทรัพย์สินในส่วนที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน สิทธิการใช้ที่ดินเพื่อวางระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อ...และให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน รับรองความถูกต้องการแบ่งแยกทรัพย์สินให้เป็นไปตามขั้นตอนของมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่18 ธ.ค. 2550

2)แบ่งแยกทรัพย์สินและโอนทรัพย์สินของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยตามมูลค่าสุทธิ ณ วันที่ 30 ก.ย. 2544 รวมทั้งจ่ายค่าตอบแทน ผลประโยชน์อื่นใดที่มาจากการใช้ทรัพย์สิน สิทธิ หรือสินทรัพย์ที่ไม่มีตัวตนของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ที่บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) ได้อาศัยใช้ประโยชน์ในการประกอบกิจการพร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมายให้ครบถ้วนต่อไป

3)พิจารณานำข้อเท็จจริง ความเห็น และข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดินไปเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาปฏิรูปพลังงานต่อไป

อนึ่ง ปัญหาการแบ่งแยกทรัพย์สินของ ปตท.นอกจากผู้ตรวจการแผ่นดิน จะทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีให้มีการทวงคืนท่อก๊าซในทะเล และสาธารณสมบัติอื่นที่ ปตท. ยังคืนไม่ครบมูลค่ากว่า 6.8 หมื่นล้านบาทแล้ว ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ยังได้ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีให้ทวงคืนสมบัติชาติดังกล่าวด้วย แต่เรื่องนี้กลับไม่มีความคืบหน้า โดยนายกรัฐมนตรีไม่ตัดสินใจ และโยนให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ไปปรึกษาข้อกฎหมายกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งเวลาผ่านมาหลายเดือนแล้วแต่ยังไม่มีความบทสรุปใดๆ ออกมา

ปัญหาเรื่องการแบ่งแยกทรัพย์สินของ ปตท. นั้น ที่ผ่านมา สตง. ได้ทำหนังสือถึง คสช. ว่าระบบท่อส่งก๊าซบนบกและในทะเลที่ ปตท. ยังไม่คืนให้กระทรวงการคลัง มีมูลค่า 32,613.45 ล้านบาท แต่บริษัท ปตท.กลับยื่นคำร้องรายงานสรุปการดำเนินการตามคำพิพากษาและมติครม.เมื่อวันที่ 18 ธ.ค.2550 ต่อศาลปกครองสูงสุดว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายดำเนินการตามคำพิพากษาของศาลแล้ว ทั้งที่ยังไม่ได้รับการตรวจสอบและรับรองจาก สตง. ซึ่งไม่เป็นไปตามขั้นตอนอันเป็นสาระสำคัญในการแบ่งแยกทรัพย์สิน

การไม่ส่งคืนท่อก๊าซและทรัพย์สินสุทธิของปตท.ก่อนการแปรรูป เป็นการตีความที่ไม่ตรงกัน โดย ปตท.ตีความว่า ระบบท่อก๊าซที่ไม่ได้คืนให้กระทรวงการคลัง เป็นเพราะ ปตท. เป็นผู้จ่ายเงินค่าก่อสร้าง ทำให้ทรัพย์สินจำนวนดังกล่าวไม่ใช่สาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภททรัพย์สินใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ ตามมาตรา 1304 (3) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

ขณะที่ สตง. มองว่าการตีความเช่นนั้นไม่ถูกต้อง ไม่สอดคล้องกับหลักกฎหมาย เพราะทรัพย์สินดังกล่าวได้มาและใช้ประโยชน์ในการประกอบกิจการก่อนที่จะเปลี่ยนสภาพไปเป็น บมจ.ปตท. จึงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ประเภททรัพย์สินที่ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ ดังนั้น มูลค่าทรัพย์สินสุทธิของปตท. ณ วันที่ 30 ก.ย 2544 มีมูลค่าสุทธิ 68,569.69ล้านบาท ต้องแบ่งแยกและคืนให้กับกระทรวงการคลัง ก่อนที่จะแปรสภาพไปเป็นบมจ.ปตท.ตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ในปี 2550

อย่างไรก็ตาม ภายหลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ได้รับเรื่องจาก สตง. ทาง คสช. มีมติให้ สตง.เสนอเรื่องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความ ซึ่งจนบัดนี้ยังไม่มีข่าวคราวความคืบหน้าใดๆ กระทั่งผู้ตรวจการแผ่นดิน ต้องออกมากระทุ้งอีกรอบ

น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีตประธานคณะกรรมาธิการศึกษา ตรวจสอบเรื่องทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา ได้โพสเฟซบุ๊กก่อนหน้านี้ โดยตั้งข้อสังเกตเรื่องการแยกธุรกิจท่อก๊าซฯ ไปตั้งบริษัทใหม่ของปตท. และฝากให้คสช.ใคร่ครวญถึงเรื่องนี้ให้ดีว่า “การแยกท่อก๊าซเพื่อแปรรูปและขายให้เอกชนในตลาดหลักทรัพย์ มิใช่ภารกิจหลักของการเข้าควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินของ “คสช.” มิใช่หรือ?จึงกราบเรียนท่านมาด้วยความเคารพว่า อย่าได้ตกหลุมพรางของกลุ่มทุนที่มุ่งหมายขายสมบัติชาติ เพื่อประโยชน์ของตนเอง ควรจะเปิดรับฟังประชาชนที่มีสิทธิ์ มีส่วนเป็นเจ้าของทุกคนก่อนจะดำเนินการใดในเรื่องนี้ เพราะเป็นหนึ่งในความขัดแย้งตลอด 10 ปีที่ผ่านมา

“มิเช่นนั้นแล้ว จะกลับกลายเป็นว่าการรัฐประหารครั้งนี้เป็นไปเพื่อต่อยอดให้กลุ่มทุนที่หวังฮุบสมบัติชาติได้บรรลุจุดมุ่งหมายที่เคยวางเอาไว้เมื่อ13 ปีที่แล้ว ซึ่งจะก่อให้เกิดความขัดแย้งในบ้านเมืองยิ่งขึ้นกว่าครั้งที่กลุ่มทุนสามานย์แปรรูป ปตท.ครั้งแรก และก่อความเสียหายต่อบ้านเมือง ทำให้ประชาชนแตกความสามัคคี ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงแห่งรัฐ ซึ่งนั่นย่อมมิใช่สิ่งที่ คสช.และประชาชนปรารถนาอย่างแน่นอน”

หากยังสงสัยไม่หายว่าเหตุไฉน ปตท.ถึงยื้อนักหนาในเรื่องนี้ และทำไมจะต้องไม่แบ่งแยกทรัพย์สินที่เป็นสาธารณสมบัติออกมาก่อนแปรรูป ก็ต้องไปฟังนายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่เพิ่งมารู้รายละเอียดเรื่องการแปรรูป ปตท.ในภายหลังจากพ้นตำแหน่งหน้าที่แล้ว และเวลานี้ได้ออกมาให้ข้อมูลต่อสาธารณะในเรื่อง ปตท.

นายธีรชัย ได้โพสเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 4 พ.ค.2558 ที่ผ่านมาว่า“กรณีถ้ามีการไม่ปฏิบัติตามมาตรา 24 พ.ร.บ ทุนรัฐวิสาหกิจ ในการแปรรูปครั้งใดก็ตาม ถ้าไม่มีการแบ่งกอง แยกทรัพย์สินที่จะเป็นของบริษัทที่จะเกิดขึ้นใหม่ และทรัพย์สินที่จะต้องโอนให้กระทรวงการคลัง บุคคลที่เกี่ยวข้องก็จะต้องรับผิดชอบในทางคดีแพ่ง ในฐานประมาทเลินเล่อ รัฐสามารถเรียกร้องค่าเสียหายได้ ผู้ที่จะต้องรับผิดชอบ จะมีทั้งข้าราชการที่มีหน้าที่เสนอเรื่อง และทั้ง ครม. เอง แต่จะมีความผิดอาญาด้วยหรือไม่ ขึ้นอยู่กับเจตนา ถ้ามีการหวังผลหาประโยชน์ให้แก่ตนเองหรือผู้อื่น จะเข้าข่ายละเว้น มาตรา 157 ด้วย

“(กรณีแปรรูป ปตท. นั้น มีบทความ(แปรรูปรัฐวิสาหกิจ(ตอนที่ 6)การขายหุ้น ปตท. 2544 - IPOครั้งสำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์)ข้างล่างของคุณบรรยง พงษ์พานิช มีความปลื้มอกปลื้มใจกับกรณีนี้มาก ) (สำหรับทีมงานของบริษัทหลักทรัพย์ใด ที่ได้ค่าธรรมเนียมไปจากการแปรรูป การยินดีปรีดากับการแปรรูปนั้นๆ ก็ไม่น่าแปลกใจดอกครับ)

“แต่ถ้าค้นหาเหตุผลเบื้องหลังการแปรรูปรัฐวิสาหกิจใดก็ตาม ที่มีการละเลยไม่แบ่งแยกทรัพย์สิน ถ้าหากไม่มีการโอนสาธารณสมบัติให้เป็นของกระทรวงการคลัง ให้ถูกต้องก่อน เหตุผลน่าจะเกิดจากเป้าประสงค์ใด ถ้าผมเป็นผู้มีอำนาจแปรรูปรัฐวิสาหกิจแห่งหนึ่ง(ซึ่งไม่จำเป็นต้องหมายถึง ปตท. นะครับ) และผมเล็งที่จะเข้าไปจองซื้อหุ้นในบริษัทใหม่ที่จะเกิดขึ้นจากการแปรรูป รวมทั้งจะจัดการให้พรรคพวก และลูกพรรค เข้าไปจองซื้อหุ้นได้ด้วย

“ถ้าผมมีแผนอันชั่วร้าย ผมจะไม่แบ่งกองทรัพย์สิน ซึ่งจะทำให้ทรัพย์สินทั้งปวงไหลไปอยู่กับบริษัทที่เกิดขึ้นใหม่โดยอัตโนมัติ ราคาหุ้นที่เสนอขาย นักวิเคราะห์ตลาดทุนจะไม่รู้ว่ามีทรัพย์สินของประชาชน ซ่อนฝังตัวอยู่ในบริษัท นักวิเคราะห์ก็จะคิดว่าราคาเสนอขายหุ้นIPO ก็พอเหมาะพอสมแล้ว ในช่วงแรก นักเล่นหุ้นก็จะไม่กระตือรือร้น ในหุ้นนี้เท่าใดนัก แต่เมื่อเวลาผ่านไปแต่ละปี สาธารณสมบัติที่ฝังซ่อนอยู่ในบริษัท ก็จะแสดงอิทธิฤทธิ์ ทำให้ตัวเลขกำไรของบริษัทสูงกว่าที่คาดไว้ เพราะบริษัทสามารถใช้สาธารณสมบัติแบบฟรีๆ ไม่มีการจ่ายค่าตอบแทนให้แก่รัฐ ตัวเลขกำไรจึงทะยานสูงกว่าที่คาดไว้ทุกปี ปีแล้วปีเล่า และผลักดันให้ราคาหุ้นพุ่งสูงขึ้นๆ แผนนี้จะทำให้ผมร่ำรวย และเป็นการดูแลพรรคพวก และลูกพรรคของผม โดยผมไม่ต้องจ่ายตังค์เองด้วย

“ถ้าหากเรื่องเกิดขึ้นอย่างนี้ ไม่ว่าในกรณีใด ทุกคนที่มีอำนาจหน้าที่ จะต้องแก้ไขให้ถูกต้องโดยเร็วครับ”

ปัญหาคาราคาซังกันมายาวนานแล้ว คสช.จะซุกขยะไว้ใต้พรมต่อ หรือจะทำให้เรื่องนี้จบในวาระที่กำลังปฏิรูปพลังงาน เพื่อให้คนรุ่นหลังได้จดจำ ก็เลือกเอา


กำลังโหลดความคิดเห็น