“สุเทพ” บอกร่างรัฐธรรมนูญถูกคว่ำอย่าเสียกำลังใจ ขอยืนหยัดต่อสู้เพื่อให้มีการปฏิรูปประเทศ ด้าน “สปช.อลงกรณ์” บอกเสร็จสิ้่นภารกิจ พร้อมเคารพมติที่ประชุม บอกรับร่างฯ เพราะแก้ปัญหาชาติได้ แย้งพวกบอกต้นปมขัดแย้งตีตนไปก่อนไข้ ระบุนายกฯ คนนอกยาก ส.ว.สรรหาเพื่อแตกต่าง ส.ส. และ คปป.คงไม่ได้อำนาจพิเศษจากนายกฯ เลือกตั้ง
วันนี้ (6 ก.ย.) เว็บไซต์เฟซบุ๊ก Suthep Thaugsuban (สุเทพ เทือกสุบรรณ) ของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย ได้โพสข้อความว่า “ผมขอส่งกำลังใจถึงพี่น้องประชาชนผู้รักชาติรักแผ่นดินทุกท่าน เราได้แสดงเจตนารมณ์แทนพี่น้อง มวลมหาประชาชนว่า เราต้องการเห็นการปฏิรูปประเทศไทยอย่างจริงจังต่อเนื่อง ถึงแม้ว่าร่างรัฐธรรมนูญจะถูกควํ่าไปเสียแล้ว พวกเราก็อย่าเสียกำลังใจ ขอยืนหยัดต่อสู้เพื่อให้มีการปฏิรูปประเทศให้จงได้สุขุม หนักแน่นเอาไว้”
ขณะที่รัฐสภา เมื่อเวลา 12.00 น. นายอลงกรณ์ พลบุตร เลขานุการคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวถึงผลการลงมติร่างรัฐธรรมนูญในวันนี้ว่า สปช.จะแจ้งให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ทราบ จากนั้นภายในระยะเวลา 30 วันจะมีการตั้งกรรมการร่างรัฐธรรมนูญจำนวน 21 คนเพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญใหม่ให้แล้วเสร็จในระยะเวลา 180 วัน และแจ้งให้ ครม.ทราบเพื่อให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จัดการออกเสียงประชามติต่อไป เป็นขั้นตอนตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ขณะนี้ถือว่า สปช.ปฏิบัติหน้าที่เสร็จสิ้นตามที่ได้รับมอบหมาย และจะหมดวาระตั้งแต่ 24.00 น.ของวันนี้เป็นต้นไป สำหรับการลงมติวันนี้มีคะแนนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยใกล้เคียงกัน ไม่มีใครคาดหมายก่อนหน้านี้ได้ว่ามติจะออกมาเป็นอย่างไร เราก็เคารพมติของที่ประชุม
ผู้สื่อข่าวถามถึงสาเหตุที่นายอลงกรณ์โหวตรับร่างรัฐธรรมนูญ นายอลงกรณ์กล่าวว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้แม้ไม่ถือว่าดีที่สุด แต่แก้ปัญหาของประเทศได้ จึงมีน้ำหนักที่จะสนับสนุน จริงอยู่ว่าร่างรัฐธรรมนูญอาจเป็นดาบสองคม ที่ 2 พรรคใหญ่ไม่เห็นด้วย วิจารณ์ว่าไม่เป็นประชาธิปไตย ต่อท่ออำนาจ ส่วนกลุ่ม กปปส.เห็นด้วยก็อาจทำให้เกิดความขัดแย้งอีก ตนเห็นว่าอาจเป็นการตีตนไปก่อนไข้ ไม่ทำให้เกิดปัญหาดังกล่าวก็ได้
นายอลงกรณ์กล่าวต่อไปว่า ส่วนเรื่องที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ ได้แก่ 1. นายกรัฐมนตรีคนนอก ตนเห็นว่าที่มาของนายกฯ ไม่ได้ต่างจากรัฐธรรมนูญฉบับอื่น ก็ใช้เสียงข้างมากเหมือนเดิม ถ้าคนนอกใช้ 2 ใน 3 ถือว่ายากที่จะเป็นไปได้ พรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ในฐานะ 2 พรรคใหญ่ จะรวมหัวกันเลือกคนนอกได้อย่างไร 2. ที่มา ส.ว. พอรับได้ที่มีการสรรหาจากกลุ่มอาชีพ เพราะถ้าหากให้มาจากการเลือกตั้งทั้งหมดก็เหมือน ส.ส.จะมี 2 สภาไปทำไม เมื่อมีก็ควรให้แตกต่าง อย่างในปี 2540 พอเหมือนกันก็มาจากฐานเดียวกันทั้งนั้น 3. คณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป.) ก็มีองค์ประกอบคือนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง เป็นเรื่องยากที่นายกรัฐมนตรีจะมอบอำนาจพิเศษให้ คปป.ใช้ เข้าใจเจตนารมณ์ว่าออกแบบเป็นกลไกป้องกันวิกฤต ดังนั้น ภาพรวมส่วนดีมีมากกว่าที่เปิดพื้นที่ให้ภาคประชาชน เช่นการมีสมัชชาพลเมือง เนื่องจากประชาธิปไตยแบบผู้แทนล้มเหลว จึงต้องสร้างประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมขึ้นมา และมีมาตรการป้องกันการเข้าสู่อำนาจ ปราบปรามการทุจริตได้ดี