ปัญญาพลวัตร
โดย พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต
ความขัดแย้งความคิดทางการเมืองโดยมีร่างรัฐธรรมนูญเป็นเป้าหมาย สะท้อนให้เห็นถึงวิธีคิดและการมองโลกที่แตกต่างกันของผู้คนในสังคม ระหว่างความคิดที่มองโลกเป็นแบบสัมบูรณ์นิยมเชิงกลไก และการมองโลกแบบสัมพัทธ์นิยมเชิงวัฒนธรรม
กลุ่มที่มองโลกแบบสัมบูรณ์นิยมมีความเชื่อและความเข้าใจพื้นฐานว่า สังคมทุกแห่งในโลกนี้มีความเหมือนกันหมด มีวัฒนธรรมและระดับการพัฒนาที่ไม่แตกต่างกันมาก พวกเขายังเชื่อว่าหลักการและวิธีการที่ดีที่สุดในการบริหารปกครองสังคมมีเพียงหลักการเดียว และมีเพียงวิธีการเดียวเท่านั้นคือสิ่งที่พวกเขาเรียกว่า “ประชาธิปไตยแบบตัวแทน” ที่มีจุดกำเนิดในประเทศตะวันตก และแพร่กระจายไปสู่ประเทศอื่นๆทั่วโลก
ฐานคิดแบบนี้อยู่ภายใต้วิธีการคิดแบบลดรูปนิยม(reductionism) โดยลดความเป็นจริงทางสังคมและวัฒนธรรมที่ซับซ้อนของประเทศต่างๆ ให้เหลือเพียงความเป็นจริงทางสังคมแบบเดียวอย่างง่าย นั่นคือความเป็นจริงของประเทศตะวันตก ทั้งยังลดรูปการเมืองที่มีความซับซ้อนให้เหลือเพียงการเลือกตั้ง รัฐบาล และรัฐสภา
ด้วยการที่พวกนักลดรูปนิยมมิได้มองโลกตามความเป็นจริงอย่างที่เป็นไป จึงพยายามยัดเยียดหลักการและแนวปฏิบัติที่พวกเขาคิดว่าดีสำหรับสังคมหนึ่ง ไปใช้ในอีกสังคมหนึ่ง หรือที่เรียกง่ายๆว่า “หลักการแบบเสื้อโหล” พวกเขายังใช้วิธีการ รวมทั้งวาทกรรมทุกประเภทที่เสกสรรขึ้นมาเพื่อโฆษณาชวนเชื่อให้คนอื่นๆใส่ “เสื้อโหล” ที่พวกเขาเชื่อว่าดี หากใครปฏิเสธหรือวิพากษ์วิจารณ์ “เสื้อโหล” ดังกล่าว พวกเขาก็จะโจมตีและประณามอย่างรุนแรง
การมองโลกแบบง่ายๆเชิงเครื่องจักรและกลไกเช่นนี้สร้างปัญหามาก ดังที่เกิดขึ้นแวดวงการเมืองไทยช่วงที่ผ่านมา ที่น่าแปลกประหลาดคือถึงแม้ว่ามีหลักฐานและความเป็นจริงปรากฏให้เห็นอย่างมากมาย แต่กลุ่มที่มีความคิดแบบกลไกก็ยังคงมีความคิดแบบเดิม มิได้ซึมซับรับรู้สภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้นตรงหน้าพวกเขาแต่อย่างใด ยังคงดันทุรังยืนกรานว่า “เสื้อโหล” ของพวกเขาดีที่สุดอยู่นั่นเอง
ซ้ำร้ายยังออกมาข่มขู่ว่า หากสังคมไทยไม่ยอมใช้ “เสื้อโหล” ในแบบที่พวกเขาต้องการ สังคมจะเกิดความเสียหายและวุ่นวายในอนาคต บุคคลที่แสดงตัวตนออกมาเสมือนเป็นตัวแทนความคิดแบบนี้มีหลายคนหลายกลุ่ม และที่ชัดเจนที่สุดคนหนึ่งคือ นายพิเชษฐ พันธุ์วิชาติกุล อดีตนักการเมืองพรรคประชาธิปัตย์
นายพิเชษฐ พันธุ์วิชาติกุลใช้การเปรียบเปรยที่ทำให้ผู้คนเข้าใจว่า รัฐธรรมนูญที่กำลังร่างนี้เป็นการสร้างกติกาเถื่อน มีความไม่ชอบมาพากล จะสร้างความวุ่นวายเสียหายแก่ระบบการเมืองและประชาธิปไตยในอนาคต ประเทศชาติมีแต่จะยิ่งเสียหาย ทั้งยังอ้างเชิงข่มขู่ว่าสังคมประชาธิปไตยสากลทั่วโลกกำลังจับตาดูแลและพร้อมจะต่อต้านรัฐบาลไทยที่มาจากการรัฐประหาร
สิ่งที่พวกนักประชาธิปไตยแบบเสื้อโหลต้องการคืออะไรบ้าง เท่าที่ประมวลได้คือ พวกเขาต้องการจำกัดให้ผู้บริหารสูงสุดของประเทศเป็นหนึ่งในกลุ่มที่ชนะการเลือกตั้ง โดยไม่สนใจวิธีการที่กลุ่มคนเหล่านั้นใช้ในการเอาชนะการเลือกตั้งแต่อย่างใด พวกเขาเชื่อว่า หากบุคคลใดชนะการเลือกตั้งแล้ว ไม่ว่าจะชนะมาด้วยการซื้อเสียง โกงคะแนน โฆษณาชวนเชื่อ หรือใช้กลอุบายแบบใดก็ตาม เฉพาะบุคคลนั้นเท่านั้นที่มีสิทธิเป็นผู้บริหารสูงสุดของประเทศ บุคคลอื่นนอกเหนือจากนี้ไม่ควรมีสิทธิดังกล่าว
นักประชาธิปไตยแบบเสื้อโหลไม่ประสงค์ให้มีองค์การหรือกลุ่มใดในสังคมเข้าไปแตะต้องการใช้อำนาจของกลุ่มที่ชนะการเลือกตั้ง พวกต้องการสงวนอำนาจการบริหารประเทศไว้เฉพาะในกลุ่มที่ชนะการเลือกตั้งเท่านั้น โดยไม่สนใจไยดีว่ากลุ่มผู้ชนะการเลือกตั้งจะใช้อำนาจแบบใด มีความชอบธรรมทางการเมืองหรือไม่ ทั้งยังไม่คำนึงถึงความไร้สมรรถภาพในการบริหารปกครองประเทศของกลุ่มเหล่านี้ในยามที่สังคมเกิดวิกฤตขึ้นมา เรียกว่าสังคมจะหายนะอย่างไรก็ช่างสังคม ขอให้กลไกทางการเมืองที่ตนเองนิยมชมชอบได้รับการนำไปใช้ก็พอ
ตลอดระยะเวลาสิบกว่าปีที่ผ่านมาความคิดและความเชื่อแบบนี้ได้สร้างความหายนะแก่สังคมไทยอย่างประมาณไม่ได้ ด้วยเหตุนี้จึงมีผู้คนจำนวนมากเปลี่ยนแปลงความคิด โดยปรับกระบวนทัศน์เสียใหม่เพื่อสร้างความเข้าใจสภาพความเป็นจริงอันซับซ้อนของสังคมและการเมืองไทยอย่างรอบด้านมากขึ้น และเปิดใจต่อวิธีการที่หลากหลายในการบริหารปกครองประเทศมากขึ้นด้วย
กลุ่มนี้มองว่าสังคมแต่ละแห่งมีบริบททางวัฒนธรรมแตกต่างกัน การเลือกใช้ระบอบและกลไกการเมืองแบบใดจึงควรออกแบบให้มีความเหมาะสมกับสภาพความเป็นจริงของสังคมนั้น เพราะหากออกแบบในลักษณะเลียนแบบจากตะวันตกแบบกลไกดังที่เกิดขึ้นในอดีต ย่อมสร้างปัญหาต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด การออกแบบการเมืองจึงเป็นไปเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในอดีตและเป็นรากฐานสำหรับสร้างการเปลี่ยนแปลงในอนาคต
กลุ่มที่มีความคิดแบบนี้มีหลากหลาย แต่ที่หยิบยกมาเป็นตัวอย่างในที่นี้คือ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตแกนนำ กปปส. ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย เพราะว่าในอดีตนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เคยมีความคิดทางการเมืองแบบกลไกหรือเป็นนักประชาธิปไตยแบบเสื้อโหลมาก่อนอย่างยาวนาน แต่ต่อมาเขาได้เกิดการเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์อย่างสำคัญเมื่อปลายปี 2556
นายสุเทพ เทือกสุบรรณ กล่าวโดยสรุปว่า ต้องมองภาพความเป็นจริงทางการเมือง ซึ่งร่าง รธน. ฉบับนี้ได้รับการออกแบบมาให้เหมาะกับสถานการณ์เมืองไทยที่จำเป็นต้องมีการปฏิรูป และการปฏิรูปเป็นยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งต้องมีกลุ่มที่ขับเคลื่อนคือ คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการปฏิรูปและปรองดอง (คปป.) ซึ่งจะดำเนินการให้รัฐบาลและหน่วยงานของรัฐทำตามยุทธศาสตร์ชาติ และยังทำหน้าที่ในการแก้ปัญหายามสังคมเกิดวิกฤติ นายสุเทพ ยังได้ระบุว่า มวลมหาประชาชนผ่านวิกฤติมาด้วยความเจ็บปวด เสียเลือดเนื้อเสียชีวิตในการต่อสู้เพื่อประเทศ แต่ก็ไม่มีทางออก จนนำมาสู่การยึดอำนาจ คนที่ไม่เคยอยู่ในวิกฤตนี้ด้วยตัวเองจะคิดและจินตนาการไม่ถึงสภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้น
คปป.เป็นสิ่งประดิษฐ์ใหม่ทางการเมืองของสังคมไทย ซึ่งนายสุเทพ มองว่ามีความเหมาะสมและจำเป็นต่อบริบทการเมืองของสังคมไทย โดยทำหน้าที่สำคัญในยามที่บ้านเมืองเกิดวิกฤติ และหากกลไกนี้ทำงานประสบความสำเร็จก็จะช่วยป้องกันความขัดแย้งและความรุนแรงทางการเมืองได้ อีกทั้งยังอาจป้องกันมิให้เกิดการรัฐประหารขึ้นด้วย
ตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมา สังคมไทยได้ทดลองใช้ “ประชาธิปไตยแบบเสื้อโหล” จนกระทั่งเกิดปัญหาความขัดแย้งอย่างรุนแรงขึ้นระหว่างกลุ่มคนในสังคม ประชาชนเสียชีวิต พิการ และบาดเจ็บจำนวนมาก เศรษฐกิจของประเทศก็ถดถอย คุณภาพชีวิตของคนส่วนใหญ่ก็มีแต่ทรงกับทรุดลง หนี้สินล้นพ้นตัว ดังนั้นหากเรายังยืนกรานใช้ “ประชาธิปไตยแบบเสื้อโหล” ต่อไป วงจรและวังวนปัญหาแบบเดิมๆก็จะเกิดขึ้นอีกอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแปลว่า เราไม่ได้เรียนรู้อะไรเลย
แม้ว่าร่างรัฐธรรมนูญใหม่จะไม่ใช่หลักประกันอย่างมั่นคงในการทำให้สังคมไทยพบความสงบสุขและมีความเจริญมั่งคั่งขึ้นในอนาคต แต่อย่างน้อยก็เป็นอะไรที่ผู้ร่างฯพยายามแก้ไขสิ่งผิดพลาดที่เกิดขึ้นในอดีต โดยพยายามเข้าใจปัญหาตามความเป็นจริงมากขึ้น และพยายามออกแบบระบอบการเมืองให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง และมีกลไกที่กำหนดไว้เพื่อรับมือกับปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตไว้ส่วนหนึ่ง
ส่วนองค์การและกลไกต่างๆที่ได้รับการสร้างขึ้นมาในรัฐธรรมนูญ จะมีโอกาสนำไปใช้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของ สปช. ในวันที่ 6 ก.ย. 2558 และหากผ่าน สปช.ไปได้ ก็ขึ้นอยู่กับมติของมหาชนในการลงประชามติในช่วงถัดไป
สำหรับผม แม้ว่ามีหลายส่วนของร่างรัฐธรรมนูญมีปัญหาอยู่บ้าง แต่ผมคิดว่าเราจำเป็นต้องเดินไปข้างหน้า และทดลองในสิ่งที่ไม่ใช่ “เสื้อโหล” ผมไม่ทราบว่ารัฐธรรมนูญใหม่จะสร้างผลลัพธ์ที่พึงปรารถนาแก่สังคมในอนาคตได้หรือไม่ แต่ที่ผมทราบแล้วคือ รัฐธรรมนูญและประชาธิปไตยแบบเสื้อโหลในอดีตได้สร้างความเสียหายอย่างเหลือคณานับแก่สังคมไทย ดังนั้นผมจึงเสนอว่า เราควรรับร่างรัฐธรรมนูญและเดินหน้าต่อไปครับ