กกต.ประชุมระดมความเห็นแก้ร่าง พ.ร.บ.เลือกตั้ง เสนอกฎหมายตั้ง ป.ป.ก.ปราบโกงเลือกตั้ง เพิ่มองค์กรอิสระในกำกับดูแลของ กกต. ขยายอำนาจสืบสวน ตรวจค้น จับกุม ส่งศาลได้เต็มที่ แก้โกงเลือกตั้งโดยตรง มีเครื่องมือสู้นักการเมือง แก้ครหาเสือกระดาษ แต่ส่วนใหญ่ค้านตั้งองค์กรซ้อนกัน แต่หนุนเพิ่มอำนาจสอบเอาผิด ควรปรับใน กม.ลูก มือร่าง กม.ย้ำหวังผ่านรัฐบาลชุดนี้เพราะกระทบนักการเมือง
วันนี้ (7 ส.ค.) สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้จัดประชุมเพื่อระดมความเห็นในการแก้ไขร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทุจริตเลือกตั้ง พ.ศ. ... ก่อนจะสรุปการเสนอความเห็นต่อที่ประชุมกรรมการ กกต.เพื่อพิจารณาต่อไป โดยในการประชุมมีนายธีรวัฒน์ ธีรโรจน์วิทย์ กกต.ด้านกิจการพรรคการเมืองและการออกเสียงประชามติ, นายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการ กกต., ผู้บริหาร กกต. และผู้อำนวยการเลือกตั้งทั่วประเทศเข้าร่วมประชุมจำนวนมาก
นายธีรวัฒน์กล่าวถึงการเสนอกฎหมายดังกล่าวว่า เพราะที่ผ่านมา กกต.มักถูกว่าไม่สามารถแก้ปัญหารการทุจริตซื้อเสียงได้ แม้แต่กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ยังมองกฎหมายเคยให้อำนาจ กกต.สั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง หรือใบแดง แต่ก็กลับไม่เคยใช้อำนาจ จึงให้อำนาจดังกล่าวเป็นของศาล ถือเป็นการมองว่า กกต.ไม่มีประสิทธิภาพในการทำงาน ดังนั้นในช่วงเวลาที่กำลังมีการปฏิรูปเห็นว่าในฐานะองค์กร กกต.ที่มีหน้าที่ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยตรง จำเป็นที่จะต้องคิดหาวิธีที่จะแก้ไขปัญหาเรื่องการซื้อสิทธิขายเสียงให้ได้ เพราะที่บ้านเมืองเราวนเวียนอยู่กับปัญหาเดิมๆ ไม่ไปไหน ส่วนหนึ่งมาจากการเลือกตั้งที่ไม่สุจริต มีการใช้เงินซื้อเสียงเพื่อเข้าสู่อำนาจ ทำให้เมื่อเข้าไปบริหารงานก็ต้องใช้ก็นำไปสู่การถอนทุน การเสนอกฎหมายดังกล่าวจึงเห็นว่าเป็นเครื่องมือทางกฎหมายที่จะสามารถนำไปสู่การแก้ไขปัญหาได้ในส่วนหนึ่ง โดยเนื้อหากฎหมายที่มีการยกร่างขึ้นจะมีอำนาจในการดำเนินการต่อผู้ทุจริต เหนือกว่ากฎหมายอาญา เพราะเราอยากได้มนุษย์พันธุ์พิเศษที่ยอดกว่ามนุษย์พันธุ์พิเศษที่เป็นนักการเมือง ที่มีความรู้ความสามารถ และมีความแยบยลในการที่จะใช้วิธิการต่างๆ เพื่อเอาชนะการเลือกตั้ง แต่ก็ยอมรับว่าจะเป็นการตั้งองค์กรอิสระขึ้นมาซ้อนกับ กกต.ที่เป็นองค์กรอิสระ
“หลายคนเป็นห่วงว่าจะเป็นการตั้งสำนักงานที่เป็นองค์กรอิสระซ้อนขึ้นมาใน กกต.หรือไม่ แต่ตามหลักสากล หน่วยงานลักษณะนี้ต้องเป็นหน่วยงานทีมีความเป็นอิสระ เพื่อไม่ให้ใครไปล้วงลูกได้ แต่ก็ไม่ใช่เป็นอิสระจนตรวจสอบไม่ได้ จึงต้องอยู่ภายใต้หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งซึ่งเราก็ให้อยู่ภายใต้ กกต. เหมือนที่ดีเอสไออยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐบาล ที่ทำงานเพราะอยากให้ผู้ที่มีหน้าที่แก้ไขปัญหาการทุจริตเลือกตั้งโดยตรงมีเครื่องมือประเภทนี้ไว้สู้กับคนที่มีความรู้ มีอำนาจทางการเมือง มีพรรคพวก มีเครื่องมือ ถ้าไม่มีเครื่องมือก็จะสู้เขาไม่ได้ ข้อเสนอทั้งหมดผมไม่ได้มีผลประโยชน์ทับซ้อน ไม่มีว่าจะต้องอยู่ในตำแหน่งนั้น ตำแหน่งนี้ แต่ผมทำงานที่ไหนก็จะรักองค์กรที่นั่น เราต้องไม่ลืมว่าองค์กรใดที่ไม่มีคุณค่า มันจะถูกตัดทิ้งไปเรื่อยๆ และที่ผ่านมาไปไหนถูกมองอย่างไร้คุณค่า ถูกมองว่าเป็นเสือกระดาษ องค์กรเป็นแค่ศาลเจ้า ถึงเวลาต้องมีคนมาร้อนเรียนจึงจะดำเนินการ ทั้งที่เราก็รู้อยู่แก่ใจในกระบวนการเลือกตั้งมีอะไรเลวร้ายแอบแฝงอยู่ แต่เราก็ทำอะไรไม่ได้” นายธีรวัฒน์กล่าว
หลังจากนั้นได้มีการเปิดโอกาสให้ผู้บริหารสำนักงาน กกต.ได้แสดงความเห็น ส่วนใหญ่เห็นด้วยในหลักการทีควรจะมีมาตรการหรือเพิ่มอำนาจ ในการสอบสวนเอาผิดผู้ทุจริตเลือกตั้ง แต่ก็มีการท้วงติง ว่าไม่ควรจะทำเป็นกฎหมายเฉพาะ แต่ควรใช้การปรับเพิ่มเติมในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และ ส.ว. และ พ.ร.บ.กกต. รวมทั้งไม่เห็นด้วยที่จะมีการตั้งองค์กรซ้อนองค์กร เพราะจะมีปัญหาเรื่องอำนาจหน้าที่ บุคคลากร และงบประมาณซึ่งปัจจุบัน กกต.ก็มีปัญหาด้านงบประมาณด้านโครงสร้างอยู่แล้ว ทั้งนี้อาจทำให้ กกต.ถูกมองว่าไม่มีความจำเป็นอีก ถ้าจะอยู่เพียงแค่ทำหน้าที่จัดการเลือกตั้ง ก็ให้หน่วยอื่นทำก็ได้
“จะเป็นการตั้งองค์กรขึ้นมาซ้ำซ้อนกันหรือเปล่า เหมือนมีแฝดอิน-จัน ถ้าหากเห็นต่างกันก็จะกลายเป็นปัญหา จะทำให้ต่างคนต่างทำงาน” นายทรงศักดิ์ จันทรุขา ผอ.กต.อุบลกล่าว
จากนั้นนายอรรณพ ลิขิตจิตถะ ที่ปรึกษา กกต.ประจำนายธีรวัฒน์ ผู้ร่างกฎหมายดังกล่าวชี้แจงว่า การยกร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวเป็นการปรับปรุงกฎหมายเก่าเพื่อให้มีประสิทธิภาพในการดำเนินการต่อการทุจริตการเลือกตั้ง โดยมีเป้าหมายที่จะให้กฎหมายผ่านในรัฐบาลนี้ เพราะกฎหมายดังกล่าวมีผลกระทบต่อนักการเมืองทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่น การจะเสนอกฎหมายออกในระบบสภาปกติจึงเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก
สำหรับร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริตเลือกตั้ง พ.ศ. ... ดังกล่าวนี้มีทั้งหมด 72 มาตรา มีสาระสำคัญ เช่น มีการกำหนดความผิดเกี่ยวกับการเลือกตั้งร้ายแรง โดยเป็นฐานความผิดเกี่ยวกับการหาเสียงเลือกตั้ง ความผิดเกี่ยวกับค่าใช่จ่ายการเลือกตั้ง ความผิดเกี่ยวกับผู้สมัครรับเลือกตั้ง ความผิดเกี่ยวกับการลงคะแนนเลือกตั้ง ความผิดเกี่ยวกับบัตรเลือกตั้ง ความผิดเกี่ยวกับการร้องเท็จและเป็นพยานเท็จ ความผิดฐานเล่นหรือจัดให้เล่นพนันเกี่ยวกับการเลือกตั้ง และหมายรวมถึงการสมคบ สนับสนุน ช่วยเหลือ หรือพยายามกระทำความผิดด้วย โดยให้มีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตเลือกตั้ง (ป.ป.ก.) โดยมีตัวแทน กกต.เป็นประธาน และมีกรรมการจากผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.), สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.), สำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.), สำนักข่าวกรองแห่งชาติ, สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.), กองทัพบก, กรมสรรพากร, กรมการปกครอง, กรมการปกครองส่วนท้องถิ่น, กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ, กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ), สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่ กกต.แต่งตั้งจากผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านการสืบสวนสอบสวน การเงินการคลัง และการเลือกตั้งร่วมเป็นกรรมการ รวมไม่เกิน 25 คน โดยมีตัวแทนจากกรรมการ กกต.เข้าไปทำหน้าที่ในกรรมการดังกล่าวแค่ 1 คน และให้จัดตั้งสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตเลือกตั้งขึ้นในสำนักงาน กกต. โดยให้ กกต.กำกับดูแล
โดย ป.ป.ก.มีหน้าที่กำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามการทุจริตเลือกตั้ง ควบคุมการสืบสวนและฟ้องคดีทุจริตเลือกตั้ง วินิจฉัยทรัพย์สินผู้ต้องหาคดีทุจริตเลือกตั้ง เสนอความเห็นเกี่ยวกับการโยกย้ายลงโทษทางวินัยต่อข้าราชการ พนักงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตเลือกตั้ง และพิจารณาจัดตั้งศูนย์การข่าวในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตเลือกตั้ง เป็นต้น ทั้งนี้ในการสืบสวนสอบสวนคดีทุจริตเลือกตั้ง ให้อำนาจ ป.ป.ก.ในการตรวจค้นสถานที่หรือยานพาหนะของบุคคลที่มีเหตุอันควรสงสัยว่ากระทำความผิดเกี่ยวกับการเลือกตั้งร้ายแรงหากช้ากว่าจะเอาหมายค้นได้ และจับกุมบุคคลที่ทำความผิดเกี่ยวกับการเลือกตั้งร้ายแรง หากช้ากว่าจะเอาหมายจับได้ บุคคลนั้นจะหลบหนีก็ให้จับได้โดยไม่ต้องมีหมายจับ ตรวจสอบ ยึดหรืออายัดทรัพย์สินที่ผิดกฎหมายเลือกตั้งได้ รวมทั้งมีอำนาจในการสืบสวนสอบสวนทางการเงิน และยังให้มีการจัดตั้งกองทุนป้องกันและปราบปรามการทุจริตเลือกตั้ง โดยทรัพย์สินของกองทุนฯมาจากเงินที่ได้จากรัฐบาล เงินบริจาค ทรัพย์สินที่ริบจากคดีทุจริตเลือกตั้ง
ส่วนอายุความคดีทุจริตเลือกตั้งตาม พ.ร.บ.ดังกล่าวมีเวลา 30 ปี หากไม่สามารถฟ้องหรือพาตัวผู้กระทำผิดมาที่ศาลได้คดีจะขาดอายุความ และหากศาลมีคำพิพากษาแล้ว หากยังไม่สามารถนำตัวผู้กระทำผิดมารับโทษได้ภายใน 30 ปี จะถือว่าล่วงเลยการลงโทษ จะลงโทษไม่ได้ ทั้งนี้ หากกฎหมายนี้มีผลใช้บังคับให้นำเงินจากกองทุนพัฒนาพรรคการเมืองมาดำเนินการ อย่างไรก็ตาม เมื่อ ป.ป.ก.ได้รับสำนวนสอบสวน ให้ไต่สวนข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน หากปรากฏหลักฐานควรเชื่อได้ว่าผู้ถูกกล่าวหาทำผิดเกี่ยวกับการเลือกตั้งร้ายแรงจริง ให้ประธาน ป.ป.ก.ส่งสำนวนให้อัยการสูงสุดเพื่อยื่นคำฟ้องต่อศาล