xs
xsm
sm
md
lg

กมธ.ยกร่างฯ ยัน รธน.ฉบับปฏิรูปหนุนกระจายอำนาจ บริหารจัดการตนเอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วุฒิสาร ตันไชย (แฟ้มภาพ)
เวทีฟื้นพลังชุมชนท้องถิ่นสู่การอภิวัฒน์ประเทศไทย รับฟังร่าง รธน.ฉบับปฏิรูป หนุนกระจายอำนาจ ขยายบทบาทองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้บริหารจัดการตนเอง ยึดหลักแข่งขันเพื่อการพัฒนา ขจัดการครอบงำจากส่วนกลาง แนะ อปท.เตรียมพร้อมปรับตัวรองรับการเปลี่ยนแปลง

รศ.วุฒิสาร ตันไชย เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ในฐานะคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญและสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวในงานเวทีฟื้นพลังชุมชนท้องถิ่นสู่การอภิวัฒน์ประเทศไทย ครั้งที่ 5 “พลังชุมชนท้องถิ่น ปฏิรูปสังคม” ว่า การยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูป มีทิศทางการกระจายอำนาจและการบริหารท้องถิ่นโดยเฉพาะการขยายบทบาทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั้งการเปลี่ยนชื่อจาก “องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” เป็น “องค์กรบริหารท้องถิ่น” เพื่อสะท้อนเจตนารมณ์การกระจายอำนาจสู่ประชาชนอย่างแท้จริง ขณะเดียวกันก็ขยายอำนาจหน้าที่ การจัดบริการสาธารณะโดยยึดหลักการแข่งขันเพื่อการพัฒนา

โดย อปท. มีอำนาจหน้าที่ในการจัดบริการสาธารณะทุกประเภทตามความสามารถทั่วไปแต่อาจยกเว้นอำนาจหน้าที่บางประการที่สงวนไว้ให้หน่วยงานส่วนกลางและส่วนภูมิภาคเป็นผู้ดำเนินการแทน และยังมีการขยายอำนาจหน้าที่การจัดบริการสาธารณะเพื่อพัฒนาเศรฐกิจและสังคมโดยรับอำนาจหน้าที่มีอยู่เดิมตามรัฐธรรมนูญปี 2540 และ2550 เพื่อสร้างความมั่นคงและเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและสังคม

นอกจากนี้ยังกำหนดขนาดของ อปท.ให้มีขนาดที่เหมาะสมและสอดคล้องกับขนาดของภารกิจรวมถึงศักยภาพการบริหารด้านงบประมาณ และบริหารงานบุคคล เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ที่สำคัญในรัฐธรรมนูญฉบับนี้เปิดโอกาสให้มีสมัชชาพลเมืองตามความเหมาะสมและความต้องการของท้องถิ่นโดยเน้นภารกิจในลักษณะเชิงบวกเพื่อสนับสนุนงานการเมืองแบบประนีประนอม ซึ่งตัวแทนสมาชิกจะต้องมาจากทุกภาคส่วนในชุมชนอย่างคลอบคลุม

ด้าน นายธีรศักดิ์ พานิชวิทย์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านหม้อ อำอ.เมือง จ.เพชรบุรี กรรมาธิการปฏิรูปการปกครองและสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) กล่าวว่า ปัญหาที่ผ่านมาของ อปท.คือการตกอยู่ในระบบศูนย์รวมอำนาจและถูกแทรกแซงกลไกการทำงาน โดยเฉพาะเรื่องงบประมาณจนกลายเป็นฐานการทุจริตให้กับนักการเมือง ดังนั้นเมื่อมีการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูป จะทำให้ อปท.สามารถทำงานได้คล่องตัว มีอิสระ ยืดหยุ่น มีประสิทธิภาพตรงตามภารกิจ งบประมาณและภาษีท้องถิ่นจะได้รับจัดสรรมากขึ้นเพราะไม่ต้องผ่านส่วนกลาง ประชาชนมีส่วนร่วมและสามารถตรวจสอบได้

ขณะเดียวกันอปท.จะต้องมีการปรับตัวโดยปรับทัศนคติในการทำงานที่จะต้องพึ่งพาตัวเองและสามารถจัดการตัวเองได้โดยไม่เป็นผู้ที่รับความช่วยเหลืออีกต่อไป ขณะที่การจัดตั้งสมัชชาพลเมืองจะมีความสำคัญเพราะจะทำให้ท้องถิ่นสามารถยกระดับตนเองได้ซึ่งถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะทำให้ท้องถิ่นขับเคลื่อนไปสู่นอนาคตได้อย่างมั่นคงยิ่งขึ้น

ศ.ดร.จรัส สุวรรณมาลา อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรรมธิการยกร่างรัฐธรรมนูญและสมาชิกสภา ปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวว่า การทำงานของอปท. ยุคใหม่ ฝ่ายบริหารจะถูกตรวจสอบโดยภาคประชาชนมากยิ่งขึ้น โดยรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปนี้ นอกจากจะออกแบบให้มีสมัชชาพลเมืองที่คอยเสนอแนะข้อคิดเห็นต่างๆแล้ว ยัง
ออกแบบให้มีสภาตรวจสอบภาคพลเมือง และสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ ซึ่งจะทำหน้าที่ตรวจสอบ และประเมินผลการดำเนินงาน และคุณธรรมจริยธรรมของผู้มีตำแหน่งในทางการเมืองทุกระดับ ที่สำคัญยังมีอำนาจร้องเรียนองค์กรที่เกี่ยวข้อง เพื่อเสนอเรื่องไต่สวนหากพบการทุจริต หรือผิดจริยธรรม เพื่อนำไปสู่การถอดถอนออกจากตำแหน่งได้อีกด้วย ดังนั้น ผู้บริหารท้องถิ่นจำเป็นมากที่จะต้องเป็นผู้มีคุณธรรมจริยธรรม ใช้อำนาจหน้าที่ถูกต้องตามกฎหมาย ปลอดจากทุจริต คอรัปชั่น การทำงานโปร่งใส พร้อมให้ประชาชนสามารถตรวจสอบได้ตลอดเวลา

ด้านนายสมพร ใช้บางยาง ประธานกรรมการบริหารแผน คณะที่ 3 สำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก 3) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าว ว่า สสส.และภาคีเครือข่ายได้ขับเคลื่อนการทำงานท้องถิ่นมาอย่างยาวนาน โดยในแต่ละปีมีประเด็นการพัฒนาโดยใชัพื้นที่เป็นตัวตั้ง ซึ่งในปี 2558 ถือเป็นโอกาสที่ดีในยุคของการปฏิรูปอย่างแท้จริง โดยเฉพาะมีการยกร่างรัฐธรรมนูญซึ่งสามารถระดมความคิดเห็นรวมถึงข้อเสมอแนะต่างๆ ให้กับสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และผู้ที่เกี่ยวข้องนำข้อมูลไปร่วมพิจารณาเพื่อเสริมสร้างประเทศไทยให้เป็นประเทศที่มีประชาธิปไตยที่สมบูรณ์

ขณะที่ นายธวัชชัย ฟักอังกูร รองประธานกรรมการบริหารแผนคณะที่ 3 สสส. กล่าวว่า การปฏิรูปประเทศไทยในครั้งนี้ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนซึ่งเปรียบได้กับแม่น้ำ 5 สายที่มีความสำคัญในการเปลี่ยนแปลงประเทศ ประกอบด้วยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) คณะรัฐมนตรี สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) คณะกรรมธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และประชาชนทุกคน คือสายธารที่จะช่วยระดมความคิดเห็นในการปฏิรูปประเทศ ซึ่งสิ่งสำคัญที่สุดที่จะปฏิรูปประเทศให้สำเร็จได้จะต้องมีการกระจายอำนาจให้กับท้องถิ่นอย่างแท้จริงและการออกแบบการมีส่วนร่วมของภาคพลเมืองในการพัฒนาประเทศ


กำลังโหลดความคิดเห็น