นครศรีธรรมราช - รักษาการอธิการ ม.วลัยลักษณ์ รับสภามหาวิทยาลัยขยายอำนาจตัวเอง สั่งพักปฏิบัติงานอธิการคนเก่าพร้อมทีมบริหาร เผยเจตนาต้องการสางปัญหาศูนย์การแพทย์ให้เดินหน้า ตั้งกรรมการ 2 ชุดจบปัญหาใน 90 วัน
วันนี้ (20 พ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังจากการเข้าบริหารมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ดร.สุเมธ แย้มนุ่น รักษาการอธิการบดี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เปิดแถลงข่าวถึงทิศทางของการแก้ไขปัญหาการก่อสร้างศูนย์การแพทย์ ของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มูลค่ากว่า 2,158 ล้าน หลังจากเกิดปัญหาในขั้นตอนการทำสัญญาที่เอกสารทางการเงินของผู้รับจ้างไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือเอกสารปลอม โดยเรื่องได้แดงขึ้นหลังจากที่ทำหนังสือขอเบิกเงินค่าจ้างงวดแรกกว่า 300 ล้าน และเรื่องราวได้คาราคาซังมากว่า 6 เดือน จนกระทั่ง ดร.กีร์รัตน์ สงวนไทร อธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้ทำหนังสือยกเลิกสัญญาก่อสร้างโครงการอย่างเป็นทางการ โดยอ้างหนังสือแนะนำจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน จนกระทั่งมีการเคลื่อนไหวมวลชนเข้ากดดันอธิการบดี โดยอ้างว่าอธิการบดีสั่งยกเลิกโครงการ
ดร.สุเมธ แย้มนุ่น กรรมการสภามหาวิทยาลัย รักษาการอธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เปิดเผยว่า รักษาการอธิการบดี และรองอธิการบดี รวมไปถึงผู้ช่วยที่ถูกแต่งตั้งเข้ามานั้น เจตานาแท้จริงแล้วคือ ต้องการแก้ไขปัญหา และจัดการให้การก่อสร้างศูนย์การแพทย์ให้เข้าสู่สภาวะปกติ และดำเนินการอย่างถูกต้องต่อไปในอนาคต ขณะเดียวกัน สภามหาวิทยาลัยได้ตั้งกรรมการขึ้นมา 2 ชุด คือ 1.คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง และ 2.คณะกรรมการสอบความเสียหาย ประเมินความเสียหายทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงผลการดำเนินการโครงการสิ่งที่ทำไปนั้นมีมูลค่าเท่าใด เพื่อที่จะให้ทุกฝ่ายกลับเข้ามาคุยกันในระบบ
กรรมการสภามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ในฐานะรักษาการอธิการบดี ยังกล่าวต่อว่า ขณะนี้ได้ขอให้เจ้าหน้าที่เข้าปิดกั้นพื้นที่ก่อสร้างในส่วนที่จำเป็นไว้ก่อนเพื่อให้ได้รับทราบข้อเท็จจริงแน่นอนว่าผลตรวจสอบเงื่อนไขสัญญา หลังยกเลิกพันธกรณีจะต้องดำเนินการอย่างไร และจะต้องโปร่งใสไร้ข้อกังขา และอีกส่วนที่ต้องดูคือ เรื่องของขวัญกำลังใจเจ้าหน้าที่ บุคลากร ความรู้สึกของประชาชน คณะบริหารชุดนี้มีเวลา 90 วัน ในการแก้ไขปัญหา
ต่อข้อถามขณะนี้สถานะของผู้บริหารชุดเดิมอยู่ในสถานะใด ดร.สุเมธ ระบุว่า ผู้บริหารชุดเดิมนั้นยังมีสถานะโดยตำแหน่ง แต่ได้ถูกพักการปฏิบัติงาน แต่ขอย้ำว่าผู้บริหารทุกคนไม่ได้มีความผิด เป็นการเปิดทางให้คณะกรรมการเข้ามาดำเนินการสอบสวน และเข้าถึงข้อมูลทุกอย่างที่ต้องการได้อย่างสะดวกเท่านั้น โดยมีเงื่อนเวลาที่ 90 วัน แต่คณะกรรมการระบุว่า จะเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 40 วัน หลังจากนั้นจะมีข้อสรุปไปยังสภามหาวิทยาลัยพิจารณา
ส่วนประเด็นข้อกังขาในความสุ่มเสี่ยงที่ขัดต่อกฎหมาย โดยเฉพาะ พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ 2535 ที่สภามหาวิทยาลัย ได้ตั้งรักษาการเข้ามานั้น ดร.สุเมธ อธิบายและยอมรับว่า มีการพูดคุยในเรื่องนี้ภายในสภา แต่ขณะนั้นรองอธิการก็ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ความชัดเจนในข้อกฎหมายเราไม่ได้พิจารณาจนสะเด็ดน้ำ แต่ขอให้ดูถึงเจตนารมณ์ที่สภามหาวิทยาลัยต้องการแก้ปัญหาศูนย์การแพทย์แห่งนี้
ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า เป็นการขยายอำนาจของสภามหาวิทยาลัย เพื่อสั่งพักการปฏิบัติงานของฝ่ายบริหาร ดร.สุเมธ ได้กล่าวยอมรับว่า เป็นการขยายอำนาจเพิ่มเพื่อออกระเบียบ เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหา จริงๆ แล้วต้องดูที่เจตนารมณ์ หลังจากที่แก้ปัญหาแล้ว สถานการณ์คลี่คลาย สภามหาวิทยาลัยจะพิจารณาถึงการดำรงตำแหน่งของฝ่ายบริหารอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าสภามหาวิทยาลัยมีมติเห็นชอบต่อการยกเลิกสัญญา อธิการบดี ซึ่งอธิการบดีมีอำนาจเต็มในการบริหาร
“นอกจากนั้น ในการสอบสวนเมื่อผลออกมาในการรับผิดตามกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นทางวินัย หรือทางอาญาของผู้ที่เกี่ยวข้องทุกอย่างต้องเป็นไปตามความรับผิดชอบ ซึ่งจะต้องมี และต้องเกิดขึ้นแน่ๆ” รักษาการอธิการบดี กล่าว
อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ได้มีการตั้งข้อสังเกตถึงการดำเนินการของสภามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ที่มี ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน เป็นนายกสภามหาวิทยาลัย สืบเนื่องจากวันที่ 8 พ.ย.ที่ผ่านมา ได้มีมติตั้ง ดร.สุเมธ แย้มนุ่น กรรมการสภาเข้ารักษาการอธิการบดีครั้งแรก ในขณะที่ ดร.กีร์รัตน์ สงวนไทร อธิการบดี ได้ลาพักการปฏิบัติงาน 40 วัน ซึ่งตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ 2535 ได้ระบุถึงลำดับการรักษาการไว้ชัดเจน ซึ่งในประเด็นนี้อาจขัดต่อ พ.ร.บ.ฉบับนี้
ต่อมา ในสัปดาห์ถัดมาคือ วันที่ 17 พ.ย. สภามหาวิทยาลัยได้ประชุมอีกครั้ง และได้ขยายอำนาจในการสั่งพักการปฏิบัติงานของฝ่ายบริหารโดยสภามหาวิทยาลัย และมีมติในวันเดียวกันสั่งพักการปฏิบัติงานของฝ่ายบริหารมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ทั้งหมด เพื่อเปิดทางให้ ดร.สุเมธ เข้าบริหาร และได้มีคำสั่งมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ที่ 633/2557 แต่งตั้งทีมรักษาการแทน รองอธิการบดี และผู้ช่วยอธิการบดีขึ้น ท่ามกลางข้อสงสัยในเชิงเทคนิคทางกฎหมายว่าสามารถทำได้หรือไม่ และอาจเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องถกเถียงกันต่อไป