xs
xsm
sm
md
lg

สปช. สรุปสัมมนาปฏิรูป เน้นลดเหลื่อมล้ำ ผุดระบบคัดกรอง "คนดี" - ดัน "ทุนสัมมา" สู้ทุนสามานย์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ประธาน สปช. แถลงผลสรุปโครงการสัมมนา พร้อมส่งต่อข้อมูลให้ กมธ. 18 คณะนำไปขยายผลเชิงลึก เน้นการลดเหลื่อมล้ำด้านเศรษฐกิจ การเข้าถึงการศึกษา และการเข้าถึงทรัพยากรในอีก 20 ปีข้างหน้า ผุดระบบคัดกรองคนดีเข้าการเมือง สภาพลเมือง สภาท้องถิ่น สภาประชาชน งัด "ทุนสัมมา" สู้ทุนสามานย์ มีความเป็นธรรม ไม่ผูกขาด รับใช้สังคม


วันนี้ (10 พ.ย.) ที่โรงแรมเซ็นทราศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) แถลงผลสรุปโครงการสัมมนาเรื่อง "สานพลัง สปช. ออกแบบอนาคตประเทศไทย" ว่า การระดมความคิดในครั้งนี้เป็นเพียงข้อสรุปเบื้องต้น และส่งข้อมูลให้คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญประจำสภาทั้ง 18 คณะ เพื่อให้นำไปขยายผลเชิงลึกและใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการเปิดรับความเห็นประชาชนต่อการปฏิรูปด้านต่างๆ เพื่อให้สปช.นำมาประกอบการยกร่างแนวทางการปฏิรูป ซึ่งประเด็นที่เราได้ประมวลกัน เราอยากจะเรียกว่า “วิสัยทัศน์ภิวัฒน์ไทย : ภาพฝันอนาคตประเทศไทยใน 20 ปีข้างหน้า”

นายเทียนฉาย กล่าวต่อว่า ภาพรวมของการเหลื่อมล้ำ จะเน้นเรื่องการลดเหลื่อมล้ำด้านเศรษฐกิจ การเข้าถึงการศึกษา และการเข้าถึงทรัพยากร โดยความเหลื่อมล้ำด้านเศรษฐกิจ เช่น นโยบายการคลัง การเก็บภาษี รวมถึงภาษีใหม่ ที่สร้างให้เกิดความเป็นธรรมมากขึ้น เช่น ภาษีมรดก และอาจปฏิรูปภาษีที่มีอยู่แล้ว การปรับปรุงกฎหมายการค้าเพื่อลดการผูกขาด จัดกลไกให้เกษตรกรและแรงมีอำนาจต่อรอง โดยจัดเป็นระบบสหกรณ์ การปฏิรูปประกันภัยที่จะต้องรองรับประเทศไทยในอีก 20 ปีข้างหน้า ระบบสวัสดิการสังคมขั้นพื้นฐานที่ทั่วถึงและแหล่งทุนของผู้มีรายได้น้อย สร้างโอกาสและกลไกตลาดให้เกษตรกรและคนที่ด้อยโอกาสทางเศรษฐกิจ

ส่วนการลดความเหลื่อมล้ำการเข้าถึงการศึกษา จะมีการยกระดับการศึกษาให้เท่าเทียมกัน การนำเทคโนโลยียกระดับและประสิทธิภาพการศึกษา การกระจายจัดการกศึกษาในพื้นที่ สวัสดิการและประเมินประสิทธิภาพของครู สำหรับการลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงทรัพยากร เรามีการพูดถึงการปฏิรูปที่ดิน การสนับสนุนให้ชุมชนมีสิทธิในการใช้ทรัพยากรในท้องถิ่น จัดฐานข้อมูลที่ดินให้เป็นปัจจุบันและมีการจำแนกประเภทให้ชัดเจน ปรับปรุงวางระบบผังเมืองแยกเป็นพื้นที่เกษตรและที่อยู่อาศัย

นอกจากนี้ ในด้านสังคม มี 4 ประเด็น คือ 1.พลเมืองไทยมีคุณภาพที่มีความรู้ มีคุณธรรม วินัย ภาคภูมิใจในความเป็นไทย มีความรับผิดชอบ เห็นแก่ส่วนรวม และสุขภาพดี 2.การมีสังคมพหุวัฒธรรม คนอยู่ร่วมกันได้บนความหลากหลาย เพื่อเกื้อกูลละแบ่งปัน 3.ชุมชนต้องเข้มแข็งลดอำนาจรัฐส่วนบน ขยายอำนาจฐานการเมืองส่วนล่าง สร้างสมดุลระหว่างภาคการเมือง ราชการ และประชาชน และ4.สังคมแห่งพลังปัญญา การใช้ข้อมูลความรู้เพื่อแก้ปัญหา สร้างมูลค่าและคุณค่าเป็นสังคมที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม

ส่วนด้านเศรษฐกิจ แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 1. เราคุยถึงระบบทุนที่ดี ทุนสัมมา มีความหมายที่ตรงกันข้ามกับทุนสามานย์ ต้องมีความเป็นธรรม ไม่ผูกขาด เป็นทุนรับใช้สังคม ไม่ใช่สังคมรับใช้ทุน เราสร้างระบบเศรษฐกิจที่เป็นธรรม โปร่งใส สามารถแข่งขันกันได้ ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม และไม่ผูกขาด 2.กำจัดทุจริตเชิงนโยบาย จะทำให้ระบบแข่งขันได้ ผู้นำเศรษฐกิจระดับภูมิภาค โดยต้องปฏิรูปทางการคลังควบคู่กับขีดความสามารถในการแข่งขัน การออมให้สมดุลกับการลงทุน ร่วมทุนกับรัฐวิสาหกิจ สถาบันการเงินให้เอื้อกับธุรกิ จ และปฏิรูปการเกษตร

นายเทียนฉาย กล่าวเพิ่มเติมว่า ด้านการเมืองการปกครอง มีสาระสำคัญ 4 ประการ ได้แก่ 1.การกระจายอำนาจและกระจายศูนย์กลางความเจริญทางเศรษฐกิจออกจากส่วนกลาง 2.การลดทุจริตคอรัปชัน กฎหมายควบคุมคอรัปชั่น การรณรงค์ค่านิยมต่อต้านคอรัปชั่น กลไกตรวจสอบการเข้ารับราชการ เปิดเผยข้อมูลภาครัฐ 3.ระบบกฎหมายที่เป็นธรรมมีการบังคับใช้ที่เสมอภาค และมีประสิทธิภาพ และ 4.ระบบการเมืองที่มีการคัดกรอง “คนดี” เข้าสู่การเมือง ทั้งระดับท้องถิ่นและระดับชาติประชาชนตื่นตัวและมีส่วนร่วม เราพูดถึงเรื่องสภาพลเมือง สภาท้องถิ่น สภาประชาชน ในระดับตำบลและระดับชาติ อยากมีองค์กรตรวจสอบประพฤติมิชอบของนักการเมือง ปฏิรูประบบการเลือกตั้ง อาจกำหนดระยะเวลาวาระการดำรงตำแหน่ง กำหนดวงเงินในการหาเสียง การปรับโครงสร้างการเข้าสู่อำนาจการเมืองและการถอดถอน ทั้งนี้ ถือว่าเป็นการคิกออฟในการปฏิรูปไปพร้อมๆ กัน


กำลังโหลดความคิดเห็น