เครือข่ายสมาพันธ์ข้าราชการและพนักงานท้องถิ่นฯ ยื่นข้อเสนอ กมธ. ยกร่างรัฐธรรมนูญ ตั้งองค์กรปฏิรูปโครงสร้างอำนาจรัฐ เน้นการถ่วงดุลอำนาจสกัดแขนขานักการเมือง แก้ปัญหาขาดอัตลักษณ์ชุมชน ปรับบริการประชาชนอย่างเท่าเทียม ชี้ร่าง รธน. ใหม่ขีดวาระ 2 สมัย ทำการบริหารงานขาดความต่อเนื่อง ขณะที่สันนิบาตเทศบาลฯ ร้อง สนช. ช่วยประสาน คสช. - ครม. คืนตำแหน่งผู้บริหาร-สมาชิกเทศบาล 4 แห่ง หลังกฤษฎีกาตีความหมดวาระทำหลุดตำแหน่ง
วันนี้ (17 ก.พ.) ที่รัฐสภา ตัวแทนเครือข่ายสมาพันธ์สมาคมข้าราชการและพนักงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งประเทศไทย นำโดย นายทรงศักดิ์ โอษะคลัง ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลโนนสะอาด อ.บ้านม่วง จ.สกลนคร และ นายศักดิพงษ์ ธรรมอาชวกุล ปลัดเทศบาลตำบลบางงา อ.ท่าวุ้ง จ.ลพบุรี ได้ยื่นหนังสือเสนอแนวคิดปฏิรูปองค์กรบริหารท้องถิ่นในประมวลกฎหมายท้องถิ่นต่อคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยมี นพ.กระแส ชนะวงศ์ รองประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เป็นผู้รับหนังสือดังกล่าว
ทั้งนี้ ทางเครือข่ายเสนอแนวทางแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นภายในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อ.ป.ท.) ทั้งปัญหาการทุจริตคอรัปชั่น และปัญหาการบริหารงานบุคคล โดยการแบ่งอำนาจระหว่างราชการส่วนกลางและส่วนท้องถิ่นให้มีความเหมาะสม มีการเปลี่ยนลักษณะการกำกับดูแลจากเดิมที่เน้นตัวบุคคล ให้เป็นรูปแบบคณะกรรมการร่วมกัน โดยให้มีคณะกรรมการท้องถิ่นแห่งชาติ (ค.ท.ช.) เป็นองค์กรภายใต้รัฐธรรมนูญ ประกอบด้วย ตัวแทนภาครัฐ ผู้บริหาร อปท. (ฝ่ายการเมือง) ข้าราชการประจำ อบท. ผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้แทนจากสภาพลเมือง โดยมีนายกรัฐมนตรี หรือรองนายกฯ เป็นประธาน และมีสำนักงานเลขาธิการคณะกรรมการท้องถิ่นแห่งชาติเป็นหน่วยงานทางธุรการ และมีกองทุนเงินเดือนและสวัสดิการข้าราชการท้องถิ่น ให้มีคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมท้องถิ่น โดยมาจากการโปรดเกล้าฯ 7 คน ทำหน้าที่พิจารณาการคุ้มครองระบบคุณธรรมของข้าราชการ วินิจฉัยอุทธรณ์ ร้องทุกข์ ออกระเบียบจริยธรรม และให้มีองค์กรกลางเพื่อการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างและตรวจรับของ อบท. โดยมี พ.ร.บ. ควบคุมกำกับ และให้ปรับองค์กรบริหารท้องถิ่นทั่วประเทศให้หนึ่งตำบลมีองค์กรบริหารท้องถิ่นเพียง1 แห่ง แต่องค์กรบริหารท้องถิ่นสามารถมีพื้นที่จัดบริการสาธารณะมากกว่า 1 ตำบลได้
นอกจากนี้ ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้กำหนดให้ผู้บริหารองค์กรบริหารท้องถิ่นให้อยู่ในวาระเพียง 2 สมัยติดกัน และในการเลือกตั้งผู้บริหารคนเดิมอาจจะไม่ได้รับการเลือกตั้งจากประชาชน ทำให้ผู้แทนฝ่ายการเมือง อบท. ในคณะกรรมการชุดต่างๆ การเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ขาดความต่อเนื่องและขาดประสบการณ์ในการบริหารองค์กร และระบบราชการขององค์กรท้องถิ่นจากเดิมที่เปิดให้ประชาชนเข้ามาบริหารทุกด้าน ควรมีผู้แทนคณะกรรมการชุดต่างๆ ทั้งในส่วนกลางและในระดับองค์กร โดยมีทั้งฝ่ายที่มาจากการเลือกตั้งและฝ่ายข้าราชการประจำ เพื่อถ่วงดุลอำนาจซึ่งกันและกัน อีกทั้งองค์กรบริหารท้องถิ่นมักจะถูกวางให้เป็นแขนขาของนักการเมืองระดับชาติ ทำให้มีการแบ่งประชาชนออกเป็นสองฝ่าย เกิดความแตกแยกในชุมชน ทำให้ขาดอัตลักษณ์ของความเป็น “ท้องถิ่น” หากมีการถ่วงดุลก็จะทำให้ประชาชนได้รับการบริการที่เท่าเทียมกัน
ด้าน นพ.กระแส ได้กล่าวต่อกลุ่มเครือข่ายฯ ว่า การกระจายอำนาจต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน แต่ต้องมีศักดิ์ศรีและประสิทธิภาพ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ เน้นผลประโยชน์ของประชาชนเป็นส่วนมากนอกจากจะกระจายอำนาจไปสู่องค์กรบริหารท้องถิ่นในรูปแบบต่างๆ ยังกระจายอำนาจไปสู่ชุมชนด้วย เพราะฉะนั้น ขอให้ทางเครือข่ายฯ เตรียมตัวเตรียมใจ และเตรียมพัฒนาตนเอง เพื่อให้เป็นผู้นำที่มีความหมายต่อชุมชนแคร์ชาวบ้านมากขึ้น แต่บางครั้งต้องมีความปลอดจากการเมืองด้วยสิ่งเหล่านี้ ตนคิดว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้เปิดโอกาสและทำให้ประชาชนมีความหวังมากขึ้น
นายเกรียงไกร ภูมิเหล่าแจ้ง สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ในฐานะนายกสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย พร้อมตัวแทนผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น เข้ายื่นหนังสือต่อ นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธาน สปช. คนที่ 2 ขอให้ประสานกับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และคณะรัฐมนตรี เพื่อให้ผู้บริหารและสมาชิกกสภาท้องถิ่นที่หมดวาระแล้วได้กลับเข้าดำรงตำแหน่งตามประกาศ คสช. ที่ให้ผู้บริหารและสมาชิกสภาท้องถิ่นที่หมดวาระในวันที่ 1 ม.ค. 2558 ให้อยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไป โดย นายเกรียงไกร กล่าวว่า จากประกาศ คสช. ดังกล่าว ทำให้ผู้บริหารและสมาชิกสภาท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นส่วนใหญ่ได้กลับเข้าดำรงตำแหน่งต่อไป
แต่มีอยู่ 4 แห่งขณะนี้ คือ เทศบาลเมืองท่าผา อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี เทศบาลเมืองตะลุบัน อ.สายบุรี จ.ปัตตานี เทศบาลเมืองล้อมแรด อ.เถิน จ.ลำปาง ซึ่งเดิมเป็นเทศบาลตำบลแล้วยกฐานมาเทศบาลเมือง กับเทศบาลตำบลหนองขนาน อ.เมือง จ.เพชรบุรี ที่เดิมเป็นองค์การบริหารส่วนตำบล กลับประสบปัญหาผู้บริหารและสมาชิกสภาท้องถิ่นไม่สามารถดำรงตำแหน่งต่อไปได้ เนื่องจากมีการตีความของคณะกฤษฎีกา และกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ที่ระบุว่า ยังไม่ปรากฏว่ามีผู้ใดได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาเทศบาลเมือง หรือผู้บริหารท้องถิ่นของเทศบาลเมือง ที่เปลี่ยนแปลงฐานะจากเทศบาลตำบลเป็นเทศบาลเมือง หรือจากองค์การบริหารส่วนตำบล เป็นเทศบาลตำบล จึงขอฝากให้นายพีระศักดิ์ได้ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย เพื่อให้ผู้บริหารและสมาชิกสภาท้องถิ่นซึ่งมาจากการเลือกตั้งของประชาชนได้ทำงานดูแลประชาชนสมเจตนารมณ์ของ คสช. ที่คืนตำแหน่งให้
ด้าน นายพีระศักดิ์ กล่าวว่า ขระนี้เป็นช่วงรอยต่อของกฎหมาย อาจมีปัญหาบ้าง แต่ถ้าดูจากเจตนาของ คสช. ต้องการให้ผู้บริหารและสมาชิกท้องถิ่นที่มาจากการเลือกตั้งได้ดูแลประชาชนในช่วงที่ยังไม่สามารถจัดการเลือกตั้งได้ ดังนั้นเชื่อว่าถ้ามีการทำความเข้าใจกับ คสช. และรัฐบาลก็ไม่น่าจะมีปัญหา ซึ่งในการประชุมแม่น้ำ 5 สาย ในเดือนหน้าก็จะนำเรื่องนี้เข้าหารือ