xs
xsm
sm
md
lg

“ชายจืด” ออกแถลงการณ์ ชูหลักฐานสู้คดีสลาย พธม.ปี 51 เรียกร้องทุกฝ่ายยุติการชี้นำ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์
“ชายจืด” ออกแถลงการณ์พร้อมสู้คดีสลายพันธมิตรฯ ปี 2551 อ้างความบริสุทธิ์ ย้ำเป็นนายกฯ ที่ปฏิบัติหน้าที่ อำนาจและกฎหมาย แจงหลักฐานมั่นใจรอด เหตุ “อสส.” มีคำสั่งไม่ฟ้อง แถมวุฒิสภามีมติไม่ถอดถอน ยกคำพิพากษาศาลปกครองคืนตำแหน่ง “พัชรวาท” ให้ความเป็นธรรม ตั้งข้อสังเกต ป.ป.ช.ยื่นฟ้องยึดหลักนิติธรรมหรือไม่ หากเทียบกับคดีสั่งสลายการชุมนุมของกลุ่ม นปช.เมื่อปี 2553 สุดท้ายเรียกร้องให้ทุกฝ่ายยุติการชี้นำคดีนี้ ย้อนรอย “พัชราวาท” โปร่งใสแล้ว แต่ทำไมถึงถูกฟ้องอาญาสลาย พธม.

วันนี้ (12 ก.พ.) นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี ได้ออกแถลงการณ์เผยแพร่สื่อมวลชนกรณีศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำสั่งประทับรับฟ้องคดีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ยื่นฟ้องนายสมชายกับพวก ในความผิดฐานเป็นเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือโดยทุจริตเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 กรณีการสลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 7 ต.ค. 51 โดยมีใจความว่า

“ผมมั่นใจในความบริสุทธิ์ต่อเรื่องที่ถูกกล่าวหา เพราะในครั้งที่ปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีได้ปฏิบัติหน้าที่โดยชอบและสุจริตตามอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีที่พึงปฏิบัติ ยืนยันว่ามิได้กระทำผิดใดๆ ตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ฟ้องคดีกับผม เพราะก่อนหน้า ป.ป.ช.ฟ้องคดี ได้มีการพิสูจน์ความจริงในเรื่องนี้เสร็จสิ้นโดยอัยการสูงสุดมีคำสั่งไม่ฟ้องคดีมาแล้วเมื่อวันที่ 9 ต.ค. 55 จนถึงบัดนี้รวมเวลา 2 ปีเศษ และคณะกรรมการ ป.ป.ช.ก็เคยยื่นฟ้องถอดถอนตนต่อวุฒิสภา ซึ่งวุฒิสภาได้มีมติไม่ถอดถอนผม เมื่อ 9 มี.ค.53 นับจนถึงบัดนี้เป็นเวลา 5 ปีเศษ”

นายสมชายกล่าวต่อว่า แต่ ป.ป.ช.กลับนำเรื่องที่อัยการสั่งไม่ฟ้อง และวุฒิสภามีมติไม่ถอดถอนมาฟ้องคดีที่ศาลอีกครั้ง อีกทั้งปรากฏว่าในชั้นเจ้าหน้าที่ฝ่ายผู้ปฏิบัติสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และศาลปกครองได้มีคำพิพากษาให้ความเป็นธรรมกับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติและได้มีการคืนความเป็นธรรมให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติแล้ว ดังนั้นในฐานะที่ตนเป็นฝ่ายบริหารจึงควรจะได้รับความเป็นธรรมจากการที่ถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช.ฟ้องคดีในครั้งนี้ด้วย

อย่างไรก็ตาม การที่ศาลฎีกาฯ มีคำสั่งประทับรับฟ้อง และมีคำสั่งนัดพิจารณาครั้งแรก เพื่อสอบคำให้การจำเลยในวันที่ 11 พ.ค. 58 เวลา 09.30 น. ตามที่ปรากฏเป็นข่าวถือว่าเป็นไปตามขั้นตอนและกระบวนการปกติของการดำเนินคดีในศาล ซึ่งยังจะต้องมีขั้นตอน กระบวนการของกฎหมายอีกหลายขั้นตอนในการอำนวยความยุติธรรม เช่น การแถลงเปิดคดี การนัดสืบพยาน และการแถลงปิดคดีของคู่ความทั้งโจทก์และจำเลยก่อนที่ศาลจะได้มีคำพิพากษาต่อไป

ทั้งนี้ ตนในฐานะอดีตผู้พิพากษามีความมั่นใจว่าศาลยุติธรรมจะได้พิจารณาคดีของตนโดยปราศจากอคติและเป็นไปโดยถูกต้องและเที่ยงธรรม แม้ตลอดมาตนในฐานะที่เป็นอดีตนายกรัฐมนตรีจะไม่ได้รับความเป็นธรรมใดๆ จากคณะกรรมการ ป.ป.ช. ก็ตาม

“แต่เมื่อเรื่องมาถึงศาลแล้วก็พร้อมจะเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และมีพยานหลักฐานที่จะยืนยันความบริสุทธิ์ แต่ขอตั้งข้อสังเกตว่า การที่ ป.ป.ช.มาฟ้องคดีให้ผมต้องรับผิดตามกฎหมายในครั้งนี้ทั้งๆ ที่เรื่องควรจะจบแล้วนั้น ป.ป.ช.ได้ยึดหลักนิติธรรมในการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ประการใด หากเทียบกับคดีที่มีการสลายการชุมนุมเมื่อปี 53 ที่มีข้อพิจารณาต่อตัวผู้ถูกกล่าวหาในคดีแตกต่างจากคดีของผม ดังนั้นจึงขอให้สังคมได้โปรดช่วยกันตรวจสอบและขอเรียกร้องทุกฝ่ายยุติการชี้นำคดีนี้ปล่อยให้ศาลพิจารณา และพิพากษาคดีไปตามขั้นตอนและกระบวนการของกฎหมายต่อไป”

ย้อนรอย “พัชราวาท” โปร่งใสแล้ว แต่ทำไมถึงถูกฟ้องอาญาสลายพธม.

รายงานข่าวระบุว่า ส่วนกรณีของ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีต ผบ.ตร. จำเลยที่ 3 ในความผิดฐานเป็นเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 295 และ 302 ด้วยนั้น

เมื่อวันที่ 7 ก.ย. 2552 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิด โดย พล.ต.อ.พัชรวาทมีมูลความผิดทางอาญา และความผิดวินัยร้ายแรง ตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ มาตรา 79 กระทั่งนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ลงนามคำสั่งให้ พล.ต.อ.พัชรวาทไปช่วยราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรี หลังการชี้มูลความผิดของ ป.ป.ช.ผ่านไป 2 วัน แต่เจ้าตัวได้ยื่นจดหมายลาออกจากตำแหน่ง โดยให้เหตุผลว่าต้องการพักผ่อน

ต่อมาเมื่อวันที่ 28 ก.พ. 2557 ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาให้ยกเลิกคำสั่งลงโทษปลด พล.ต.อ.พัชรวาทออกจากราชการ ตามมติ ก.ตร.ภายใน 60 วันนับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด หลัง พล.ต.อ.พัชรวาทยื่นฟ้องนายกรัฐมนตรี คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร ระบุว่า นายกรัฐมนตรี ละเลยต่อหน้าที่ไม่ดำเนินการเพิกถอนคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 228/2552 ลงวันที่ 19 ต.ค. 2552 ซึ่งลงโทษปลดผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ ทั้งที่ ก.ตร.ได้มีมติในการประชุมครั้งที่ 17/2552 เมื่อวันที่ 30 ธ.ค. 2552 ว่า พล.ต.อ.พัชรวาทไม่ได้กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ให้สั่งยกโทษ กรณีผู้ฟ้องคดีเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้อาวุธปราบปรามผู้ชุมนุมพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่กำลังชุมนุมในพื้นที่บริเวณหน้ารัฐสภา เมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2551 พล.ต.อ.พัชรวาทได้มีหนังสือหลายฉบับให้นายกรัฐมนตรีปฏิบัติตามมติ ก.ตร.ดังกล่าวแล้ว แต่ผู้ถูกฟ้องคดีมิได้ดำเนินการแต่อย่างใด ทำให้ผู้ฟ้องคดีเดือดร้อนเสียหาย

ต่อมา พล.ต.อ.พัชรวาทได้ยื่นอุทธรณ์ต่อ ก.ตร. พร้อมกับ พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) และ พล.ต.ต.เพิ่มศักดิ์ ภราดรศักดิ์ อดีต ผบก.ภ.อุดรธานี กระทั่งวันที่ 12 ก.พ. 2553 ที่ประชุม ก.ตร.ครั้งที่ 2/2553 รับรองมติที่ ก.ตร. รับอุทธรณ์ พล.ต.อ.พัชรวาท, พล.ต.ท.สุชาติ และพล.ต.ต.เพิ่มศักดิ์ กลับเข้ารับราชการตามเดิม โดย พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ รักษาการ ผบ.ตร. (ในขณะนั้น) ให้เรียกตัว พล.ต.ต.เพิ่มศักดิ์กลับเข้ารับราชการตามเดิม ส่วน พล.ต.อ.พัชรวาทต้องส่งเรื่องให้นายอภิสิทธิ์ แต่นายอภิสิทธิ์ได้ส่งเรื่องสอบถามกลับมายัง ก.ตร. และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา กระทั่งกฤษฎีกายืนยันกลับไปว่านายอภิสิทธิ์ต้องปฏิบัติตามมติ ก.ตร. นายอภิสิทธิ์จึงสอบถามกลับไปที่ ป.ป.ช.อีกครั้ง กระทั่งหลังรัฐบาลอภิสิทธิ์ยุบสภา พล.ต.อ.พัชรวาทตัดสินใจยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลางเพื่อให้พิพากษายกเลิกคำสั่งปลด และให้นายกฯ เร่งคืนตำแหน่งเนื่องจากมีผลทางประวัติการทำงาน กระทั่งศาลปกครองกลางมีคำสั่งดังกล่าว แต่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไม่ได้ดำเนินการ กระทั่งในยุคที่ พล.อ.ประยุทธ์เป็นหัวหน้า คสช.นั้นจึงได้ดำเนินการคืนตำแหน่ง ผบ.ตร.ให้ พล.ต.อ.พัชรวาทในที่สุด

จากนั้น วันที่ 23 ก.ค. 2557 ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 131 ตอนพิเศษ 139 ได้ตีพิมพ์คําสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 93/2557 เรื่องยกโทษปลดออกจากราชการ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ระบุว่า โดยที่ศาลปกครองกลางได้มีคําพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ 99/2554 ลงวันที่ 28 ก.พ. 2557 ให้นายกรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับแจ้งมติของคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ในการประชุมครั้งที่ 17/2552 เมื่อวันที่ 30 ธ.ค. 2552 และครั้งที่ 1/2553 เมื่อวันที่ 15 ม.ค. 2553 ที่ให้สั่งยกโทษปลด พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ออกจากราชการตามคําสั่งสํานักนายกรัฐมนตรี ที่ 228/2552 ลงวันที่ 19 ต.ค. 2552 ให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน นับแต่วันที่คําพิพากษาถึงที่สุดนั้น เพื่อดําเนินการให้เป็นไปตามคําพิพากษาศาลปกครองกลางซึ่งถึงที่สุดข้างต้น หัวหน้า คสช.ในฐานะผู้ใช้อํานาจนายกรัฐมนตรี ตามประกาศ คสช.ฉบับที่ 10/2557 เรื่องให้อํานาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี เป็นอํานาจหน้าที่ของหัวหน้า คสช. ลงวันที่ 22 พ.ค. 2557 จึงอาศัยอํานาจตามความในมาตรา 72 (1) และมาตรา 105 แห่งพระราชบัญญัติตํารวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 ประกอบกับข้อ 18 (2) (ง) ข้อ 21 และข้อ 23 แห่งกฎ ก.ตร.ว่าด้วยการอุทธรณ์และการพิจารณาอุทธรณ์ พ.ศ. 2547 มีคําสั่งให้ยกโทษปลด พล.ต.อ.พัชรวาท ออกจากราชการตามคําสั่งสํานักนายกรัฐมนตรี ที่ ที่ 228/2552 ลงวันที่ 19 ต.ค. 2552 ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป สั่ง ณ วันที่ 17 ก.ค. 2557 ลงชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.

รายงานระบุว่า กรณีนี้ ป.ป.ช.ได้ชี้มูล พล.ต.อ.พัชรวาท ตามอำนาจหน้าที่ ไปแล้วในด้านวินัย ขณะนั้น พล.ต.อ.พัชรวาทยังคงดำรงตำแหน่ง ผบ.ตร.อยู่ ป.ป.ช.จึงต้องแยกเรื่องพิจารณา โดยส่งเรื่องการพิจารณาในทางปกครอง ให้แก่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อดำเนินการต่อไปตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฯ

ส่วนลักษณะโทษทางอาญานั้น ป.ป.ช.มีอำนาจดำเนินการเรื่องนี้ต่อไปตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย ป.ป.ช. ซึ่งในเวลาต่อมาที่ พล.อ.ประยุทธ์เป็นหัวหน้า คสช.นั้นจึงได้ดำเนินการคืนตำแหน่ง ผบ.ตร.ให้ พล.ต.อ.พัชรวาท ทั้งนี้ ได้พิจารณาเห็นชอบตามที่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เสนอให้ไม่ลงโทษทางวินัยต่อ พล.ต.อ.พัชรวาท เรื่องการพิจารณาโทษทางวินัยก็จบเพียงเท่านั้น จึงไม่มีคดีขึ้นสู่ศาลปกครอง และต่อมา พล.ต.อ.พัชรวาทก็ได้แต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)

รายงานระบุด้วยว่า สำหรับกรณีที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำสั่งประทับรับฟ้องคดีที่ ป.ป.ช.ยื่นฟ้อง พล.ต.อ.พัชรวาทด้วยนั้น เนื่องจาก ป.ป.ช.มีมติให้ดำเนินคดีอาญาต่อผู้ดำรงตำแหน่งฯ กับนายสมชาย พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ พล.ต.อ.พัชรวาท และ พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว ในลักษณะสมคบร่วมกระทำผิด โดยรูปคดีจะพิจารณาแบบเดียวกับที่อัยการสูงสุด (อสส.) มีมติให้ดำนินคดีอาญาต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในคดีอาญาโครงการจำนำข้าว

สำหรับ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ถือเป็น สนช.คนเดียวที่ไม่ได้เข้าร่วมกระบวนการถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในอดีตจำนำข้าว เนื่องจากแจ้งลาป่วย



พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ
กำลังโหลดความคิดเห็น