xs
xsm
sm
md
lg

ศาลฎีกาฯรับคดีสลายผู้ชุมนุมปี 51 “ชายจืด” เตรียมข้อมูลสู้ หวังได้ความเป็นธรรม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์
“สมชาย วงศ์สวัสดิ์” อดีตนายกฯ หวังได้ความเป็นธรรม เตรียมข้อมูลต่อสู้ตามกระบวนการ ย้ำขอดูรายละเอียดคำฟ้องตัวจริงของ ป.ป.ช. ก่อน หลังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำสั่งประทับรับฟ้อง ร่วม “บิ๊กจิ๊ว - พัชรวาท วงษ์สุวรรณ - สุชาติ เหมือนแก้ว” ปี 2551 ส่วนคดีสลายชุมนุมปี 53 ป.ป.ช. ระบุรอหลักฐาน ใช้มาตรา 17 พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เปรียบเทียบ



วันนี้ (11 ก.พ.) นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณีที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำสั่งประทับรับฟ้องคดีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ยื่นฟ้อง นายสมชาย กับพวกพวก ในความผิดฐาน เป็นเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือโดยทุจริตเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 กรณีการสลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 7 ต.ค. 51

“ผมยังไม่ทราบเรื่องดังกล่าว ว่า ศาลรับฟ้องแล้วหรือยัง แต่ถ้าศาลประทับรับฟ้องแล้วก็ต้องเตรียมข้อมูลต่อสู้ตามกระบวนการ อย่างไรก็ตาม ต้องขอดูรายละเอียดคำฟ้องตัวจริงของ ป.ป.ช. ก่อน จะได้เตรียมการต่อสู้คดีอย่างถูกต้อง และหวังว่าจะได้รับความเป็นธรรม”

รายงานระบุว่า คดีนี้ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดย นายธนฤกษ์ นิติเศรณี ประธานแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เจ้าของสำนวน และผู้พิพากษาองค์คณะ รวม 9 คน มีคำสั่งประทับรับฟ้อง คดีหมายเลขดำ อม.2/2558 ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี, พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายกรัฐมนตรี, พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีต ผบ.ตร. และ พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีต ผบช.น. ทั้งหมดเป็นตำแหน่งเมื่อปี 2551 เป็นจำเลยที่ 1 - 4 ในความผิดฐานเป็นเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 295 และ 302 จากกรณีเมื่อวันที่ 7 ต.ค. 51 รัฐบาลนายสมชายได้มีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ที่ปิดล้อมทางเข้ารัฐสภา กระทั่งเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย และมีผู้บาดเจ็บ 471 ราย

มี นายธนฤกษ์ ประธานแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เจ้าของสำนวนคดี และผู้พิพากษาองค์คณะฯ รวม 9 คน มีคำสั่งนัดพิจารณาครั้งแรกเพื่อสอบคำให้การจำเลยทั้งสี่ ในวันที่ 11 พ.ค. นี้ เวลา 09.30 น.

ทั้งนี้ คดีนี้ ป.ป.ช. ได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เมื่อวันที่ 7 ม.ค. 2558 โดยเมื่อองค์คณะผู้พิพากษาฯ มีคำสั่งประทับรับฟ้องคดีแล้วเมื่อวันที่ 9 ก.พ. จากนี้ศาลฎีกาฯจะส่งหมายแจ้ง นายสมชาย อดีตนายกฯ กับพวกที่ตกเป็นจำเลยรวม 4 คน เดินทางมาศาลเพื่อสอบคำให้การ โดยวันที่ 11 พ.ค. 2558 นายสมชาย กับพวกจะต้องเดินทางมาแสดงตัวต่อศาลเป็นครั้งแรกตามขั้นตอน เพื่อจะสอบคำให้การว่าจะรับสารภาพ หรือ ให้การปฏิเสธต่อสู้

ด้าน คดีสลายการชุมนุม ปี 2553 นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวถึงกรณีที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. (องค์คณะไต่สวน) เลื่อนสรุปสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริง กรณีกล่าวหาถอดถอนนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกฯ และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา อดีตผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) สั่งใช้กำลังทหาร ตำรวจ และข้าราชการพลเรือนเข้าสลายการชุมนุมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ในวันที่ 10 เมษายน 2553 - 19 พฤษภาคม 2553 ว่า องค์คณะไต่สวนได้พิจารณาสำนวนเรื่องดังกล่าวตามที่คณะทำงานนำมาเสนอแล้ว พบว่ายังมีข้อเท็จจริงอื่นที่เจ้าหน้าที่ยังต้องไปทำสรุปเพิ่มเติมมาอีก และให้พิจารณาในประเด็นข้อกฎหมายเพิ่มเติมด้วยว่า ตัวข้อเท็จจริงกับข้อกฎหมายนั้น ตามกรอบอำนาจหน้าที่ของผู้ดำเนินการเป็นอย่างไร อย่างไรก็ดี ข้อเท็จจริงของเรื่องนี้ ดำเนินการ และได้รายงานเข้าที่ประชุมเรียบร้อยแล้ว เพียงแต่ยังเป็นกรอบกว้างๆ อยู่ ไม่รัดกุม จึงได้มอบได้ไปสรุปใหม่ และให้กลับมารายงานองค์คณะอีกครั้งในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2558 และจึงพิจารณาส่งไปยังที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชุดใหญ่อีกครั้งในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2558

“ได้ให้ไปทำความเห็นกลับเข้ามาว่า มาตรา 17 พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ นั้น กับข้อเท็จจริงที่ได้มา มันสอดคล้องกันอย่างไร และฝ่ายที่ทำความเห็นจะต้องบอกมาด้วยว่า มีความเห็นต่อข้อกฎหมายอย่างไร ให้หาข้อมูลเพิ่มเติม รวมถึงแนวทางปฏิบัติ ในกฎหมายของเรื่องนี้ ว่ามีแนวอื่น หรือมีข้อเท็จจริง ที่เคยนำมาพิจารณาวินิจฉัยที่ผ่านมาหรือไม่ เคยวินิจฉัยกันมาแล้วหรือไม่ ดังนั้น ฝ่ายเลขาฯจะต้องไปรวบรวมเพื่อนำมาเสนอใหม่อีกครั้งว่า คดีอื่นๆ ที่พิจารณามา มีแนวทางอย่างไร ปฏิบัติกันอย่างไร ตรงนี้เป็นรายละเอียดที่ต้องไปดำเนินการมาเพิ่มเติม” นายสรรเสริญ กล่าว

ส่วนที่ ป.ป.ช. ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการยื้อการพิจารณาคดีดังกล่าวออกไปอีก นายสรรเสริญ กล่าวว่า “ไม่ได้ยื้ออยู่แล้ว ทุกเรื่องหากมีประเด็นที่ยังไม่เรียบร้อย ที่ประชุมจะต้องให้กลับไปทำใหม่ทั้งหมด ทุกๆ เรื่องเหมือนกันหมด ไม่ได้ยื้อ ยืนยัน”


กำลังโหลดความคิดเห็น