ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาถกเลือกองค์คณะ 9 ท่าน พิจารณาคดี ป.ป.ช. ฟ้อง “สมชาย วงศ์สวัสดิ์” กับพวก 4 ราย ปฏิบัติหน้าที่มิชอบสั่งสลายการชุมนุมพันธมิตรฯ หน้ารัฐสภา ปี 51
ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา วันนี้ (21 ม.ค.) ได้มีการเรียกประชุมผู้พิพากษาศาลฎีกาทั้งหมด 173 คน เพื่อเลือกผู้พิพากษา 9 คนเป็นองค์คณะพิจารณาคดีหมายเลขดำ อม.2/2558 ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี, พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายกรัฐมนตรี, พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีตผบ.ตร. และพล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีต ผบช.น. ทั้งหมดเป็นตำแหน่งเมื่อปี 2551 เป็นจำเลยที่ 1-4 ในความผิดฐานเป็นเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 295 และ 302 จากกรณีเมื่อวันที่ 7 ต.ค.2551 รัฐบาลนายสมชายได้มีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ที่ปิดล้อมทางเข้ารัฐสภา กระทั่งเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย และมีผู้บาดเจ็บ 471 ราย ภายหลังที่ ป.ป.ช.ได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เมื่อวันที่ 7 ม.ค.ที่ผ่านมา
โดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาได้มีมติเลือก น.ส.เพลินจิต ตั้งพูลสกุล, นายวีระพล ตั้งสุวรรณ, นายศิริชัย วัฒนโยธิน และนายชีพ จุลมนต์ รองประธานศาลฎีกา, นายชาติชาย อัครวิบูลย์ ประธานแผนกคดีผู้บริโภคฯ, นางพฤษภา พนมยันตร์ ประธานแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวฯ, นายธนฤกษ์ นิติเศรณี ประธานแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองฯ, นายนิยุต สุภัทรพาหิรผล ประธานแผนกคดีแรงงานฯ และนายธนสิทธิ์ นิลกำแหง ประธานแผนกคดีเลือกตั้ง เป็นองค์คณะ เพื่อพิจารณาคดีดังกล่าว โดยหลังจากนี้ผู้พิพากษาทั้ง 9 คนจะประชุมกันเป็นการภายใน เพื่อเลือกผู้พิพากษา 1 คนในองค์คณะเป็นเจ้าของสำนวน ขณะที่ศาลฎีกาฯ นัดฟังคำสั่งว่าจะประทับรับฟ้องเป็นคดีหรือไม่ในวันที่ 24 ก.พ.นี้ เวลา 10.00 น.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคดีดังกล่าว ป.ป.ช.ได้ยื่นฟ้องคดีเองต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยคำฟ้องบรรยายพฤติการณ์สรุปว่า เมื่อวันที่ 6- 7 ต.ค. 2551 ขณะจำเลยทั้งสี่ดำรงตำแหน่งได้มีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ ดำเนินการสลายการชุมนุมของกลุ่มพธม. เพื่อเปิดทางให้ส.ส.ได้เข้าประชุมสภาในวันที่ 7 ต.ค. 2551 หลังจากที่กลุ่มผู้ชุมนุมได้ปิดล้อมทางเข้ารัฐสภา โดยนายสมชาย จำเลยที่ 1 ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีขณะนั้น ได้เรียกประชุมครม.นัดพิเศษ และเรียก พล.ต.อ.พัชรวาท จำเลยที่ 3 ผบ.ตร.ขณะนั้น และ พล.ต.ท.สุชาติ จำเลยที่ 4 ผบช.น.ขณะนั้น พร้อมคณะเข้ารับฟังนโยบายของรัฐบาลต่อสถานการณ์ชุมนุม ซึ่งนายสมชาย จำเลยที่ 1 มีคำสั่งให้ พล.ต.อ.พัชรวาท จำเลยที่ 3 ต้องดำเนินการให้สมาชิกรัฐสภาเข้าประชุมให้ได้ ต่อมาได้มีการใช้กำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าทำการสลายการชุมนุมโดยยิงและขวางแก๊สน้ำตาที่บรรจุด้วยวัตถุระเบิดแรงสูงเข้าใส่กลุ่มผู้ชุมนุม โดยจำเลยทั้งสี่เป็นเจ้าพนักงานที่มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบดูแลการชุมนุมของประชาชนที่เป็นการใช้สิทธิตามระบอบประชาธิปไตย แต่กลับใช้อำนาจสั่งสลายการชุมนุมโดยไม่ได้คำนึงถึงความเหมาะสม และไม่ได้ดำเนินการตามหลักสากลที่ใช้ในการสลายการชุมนุมกระทั่งเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย รวมทั้งได้รับบาดเจ็บ และได้รับบาดเจ็บสาหัส 471 ราย เหตุเกิดที่หน้ารัฐสภา ถ.อู่ทองใน, ถ.พิชัย และถ.สุโขทัย, บริเวณหน้ากองบัญชาการตำรวจนครบาล ลานพระบรมรูปทรงม้า และบริเวณใกล้เคียงท้องที่เขตดุสิต กทม. โดยโจทก์ขอให้ศาลฎีกาฯ พิจารณาพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสี่ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ประกอบมาตรา 83 และพ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2550 มาตรา 70 และ 92 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 295 และ 302
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า คดีนี้นับเป็นคดีแรกที่ได้มีการยื่นฟ้องนายกรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่มิชอบจากการสั่งสลายการชุมนุม โดยคดีดังกล่าว ป.ป.ช.ได้มีคำสั่งชี้มูลความผิดจำเลยทั้งสี่เมื่อปี 2552 และได้ส่งสำนวนให้นายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ อัยการสูงสุด ขณะนั้น กระทั่งเมื่อวันที่ 9 ต.ค. 2555 อัยการได้มีคำสั่งไม่ฟ้อง และส่งเรื่องกลับไปที่ป.ป.ช. โดย ป.ป.ช.ได้ทำคำฟ้องและรวบรวมสำนวนพยานหลักฐานทั้งหมดยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาฯ เองในเดือน ม.ค. 58 นี้ นับเวลาตั้งแต่วันเกิดเหตุเมื่อปี 51 จนถึงวันฟ้องใช้เวลามากกว่า 6 ปีเศษ
ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า สำหรับนายสมชายถือเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 2 ที่ถูกยื่นฟ้องเป็นจำเลยต่อศาลฎีกาฯ นับจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ถูกยื่นฟ้องเป็นคนแรกในคดีทุจริตหลายสำนวน