สัมภาษณ์พิเศษ : “วิชา มหาคุณ” งัดคำพิพากษาศาลฎีกาฯ แย้งศาล ปค. ยัน ป.ป.ช.มีอำนาจชี้มูลความผิด “คุณหญิงณัษฐนนท” หลังศาล ปค.สั่งคืนตำแหน่งปลัด กทม.
จากกรณีที่ศาลปกครองได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 21 ต.ค.ให้คืนตำแหน่งปลัดกรุงเทพมหานครแก่คุณหญิงณัษฐนนท ทวีสิน ที่เคยถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ( ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดวินัยร้ายแรงคดีจัดซื้อรถและเรือดับเพลิง และถูก กทม.สั่งปลดออกจากตำแหน่ง ซึ่งศาลปกครองระบุเหตุผลในการคืนตำแหน่งปลัด กทม.แก่คุณหญิงณัษฐนนทว่า เนื่องจาก ป.ป.ช.ใช้ดุลพินิจที่ไม่ชอบในการชี้มูลความผิด และมีการตีความกฎหมายในลักษณะเพิ่มอำนาจ ป.ป.ช. รวมทั้งมองว่า ป.ป.ช.ไม่มีอำนาจวินิจฉัยกรณีประมาทเลินเล่อ สามารถวินิจฉัยกรณีที่เกี่ยวกับการทุจริตเท่านั้น
นายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช. ได้ให้สัมภาษณ์ Manager Radio ถึงท่าทีของ ป.ป.ช.ต่อคำสั่งของศาลปกครองดังกล่าว โดยยืนยันว่า ป.ป.ช.ไม่ได้ใช้ดุลพินิจในการชี้มูลความผิดคุณหญิงณัษฐนนทโดยมิชอบ เพราะเคยมีคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองก่อนหน้านี้ที่การันตีได้ว่า ป.ป.ช.มีอำนาจวินิจฉัยเกี่ยวกับความผิดทางวินัยหรือประมาทเลินเล่อ ซึ่งครั้งนั้น ป.ป.ช.เคยชี้มูลความผิดนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เมื่อครั้งเป็นปลัดกระทรวงยุติธรรม และว่า ป.ป.ช.เตรียมร้องสอดในคดีที่คุณหญิงณัษฐนนทร้องศาลปกครอง เพื่อเข้าไปช่วย กทม.ในการโต้แย้งคำสั่งศาลปกครอง และอุทธรณ์คดีนี้ต่อศาลปกครองสูงสุด
นายวิชา ยังเผยด้วยว่า เข้าใจว่าคนที่ถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด ก็ต้องดิ้นรนสู้จนสุดฤทธิ์ด้วยการยื่นร้องศาลปกครอง ขณะที่บางคนดิ้นรนต่อสู้โดยใช้วิธีการรบนอกแบบด้วยการมายิง ป.ป.ช.ก็เห็นกันอยู่ พร้อมโอด ไม่มีองค์กรตรวจสอบที่ไหนในโลกที่ทำงานสบาย บางทีองค์กรก็ถูกยุบด้วยซ้ำ ย้ำ ป.ป.ช.จะอยู่ได้ ก็ด้วยมหาชน ไม่ใช่อำนาจรัฐ เพราะ ป.ป.ช.ตรวจสอบอำนาจรัฐเพื่อประชาชน เพื่อให้ประชาชนอยู่เย็นเป็นสุข และเพื่อให้แผ่นดินเป็นของประชาชน ไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่ง
คลิกที่นี่ เพื่อฟัง สัมภาษณ์พิเศษ : “วิชา มหาคุณ” งัดคำพิพากษาศาลฎีกาฯ แย้งศาล ปค. ยัน ป.ป.ช.มีอำนาจชี้มูลความผิด “คุณหญิงณัษฐนนท” หลังศาล ปค.สั่งคืนตำแหน่งปลัด กทม.
อ่านบทสัมภาษณ์
ถาม - อาจารย์รู้สึกอย่างไรบ้างกับเหตุผลที่ศาลปกครองสั่งคืนตำแหน่งปลัด กทม.ให้คุณหญิงณัษฐนนท?
ตอบ – ก็ไม่มีอะไรนะ คือเรื่องของคดีก็ต้องว่ากันไป มันยังไม่จบ แค่ศาลปกครองชั้นต้น ถ้าเราไม่เห็นด้วย เราก็ต้องโต้แย้งไปที่ศาลปกครองสูงสุด เพราะฉะนั้นเราก็รอฟังอยู่ว่า ในรายละเอียดจะเป็นยังไง เพราะจะต้องไปคัดเอกสารเกี่ยวกับคำวินิจฉัยทั้งหมดมา ก็ได้เห็นแต่ทางเว็บไซต์ว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ โดยเฉพาะทาง ASTV ก็เป็นเว็บไซต์ที่ผมก็ติดตามอยู่นะ ก็ยังไม่เห็นทั้งหมด
ถาม-แสดงว่า หลังจากนี้ ป.ป.ช.จะอุทธรณ์ไปถึงศาลปกครองสูงสุด?
ตอบ-คืออย่างนี้ ในชั้นแรกมันไม่ใช่เป็นคดีที่เราได้ดำเนินการมาตั้งแต่ต้น ต้องเข้าใจว่ามันเป็นเรื่องทางวินัย ซึ่งทาง กทม.เขาเป็นคนวินิจฉัยใช่มั้ย เมื่อการวินิจฉัยของ กทม.ไม่เป็นที่ถูกใจของทางด้านผู้ถูกกล่าวหา ทางคุณหญิงณัษฐนนท ท่านก็ไปโต้แย้งที่ศาลปกครอง ในกรณีของการไปโต้แย้งที่ศาลปกครองเนี่ย เรายังไม่ได้เข้าไปเลย ต้องเข้าใจจุดนี้ด้วยนะ เพราะนี่เป็นการโต้แย้งระหว่างผู้ถูกกล่าวหา ที่ถูกให้ออกไปตามมติของคณะกรรมการ ป.ป.ช.เนี่ย เพราะประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงเนี่ย ทางเรายังไม่ได้เข้าไปเลย เป็นเรื่องระหว่างคุณหญิงฯ กับฝ่าย กทม. ซึ่งอันนั้นอัยการเขาสู้คดีแทน กทม.ให้ เพราะฉะนั้นในจุดแรก เราก็ต้องร้องสอดเข้าไปก่อนว่า เราขอเข้าไปเพื่อที่จะได้เข้าไปช่วยดำเนินการในการโต้แย้งด้วย แต่ในจุดแรกเราก็ต้องเคารพในอัยการเขาด้วย ที่เขาดำเนินคดีไว้ตั้งแต่ต้น ก็ต้องขอให้เขาช่วยโต้แย้งในบางจุด ก็ต้องมาพูดคุยกัน ปรึกษาหารือกัน
ถาม – ศาลปกครองบอกว่า ป.ป.ช.ใช้ดุลพินิจชี้มูลความผิดคุณหญิงณัษฐนนทไม่ชอบ อันนี้ฟังดูค่อนข้างแรง
ตอบ – อันนี้ไงที่เราบอกว่ามันขัดกับคำวินิจฉัยของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คดีหมายเลขแดงที่ อม 5/2552 ซึ่งเคยวินิจฉัยเอาไว้ว่าเรามีอำนาจในการวินิจฉัยในทางวินัย ถึงแม้ว่าจะไม่ได้ดำเนินการในเรื่องของการทุจริต คือหมายความว่าเป็นเรื่องของการปฏิบัติโดยมิชอบ ซึ่งเราเห็นว่าเป็นกรณีของการผิดวินัยร้ายแรง ก็คือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง เรามีอำนาจทำได้ ก็คือคดีนั้น ผมเรียนสั้นๆ ว่า ร.ต.ต.เชาวริน ลัทธศักดิ์ศิริ กับพวก ก็คือ ส.ส.ทั้งหลายเนี่ย เข้าชื่อกัน 141 คน บอกว่าเราปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ โดยยื่นต่อศาลฎีกา เพื่อให้เราได้ถูกดำเนินคดี มาร้องเราทั้งชุดเลย 9 คนว่า ไม่มีอำนาจวินิจฉัยในกรณีที่ให้คุณสมชาย วงศ์สวัสดิ์ สมัยเป็นปลัดกระทรวงยุติธรรม ว่าประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ผิดวินัยร้ายแรง เราวินิจฉัยว่าผิดวินัยร้ายแรง แล้วปรากฏว่า ศาลฎีกาฯ ก็วินิจฉัยว่า เรามีอำนาจวินิจฉัย
ถาม – ก็ชัดเจนว่ามีอำนาจวินิจฉัย
ตอบ – มีอำนาจวินิจฉัย นี่ล่ะคือคำวินิจฉัยของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้บอกไว้ว่า การกระทำของผู้ร้องเรียนเนี่ย ก็คือกรณีของคุณสมชายเนี่ย เราไต่สวนข้อเท็จจริงแล้วเห็นว่า การกระทำของคุณสมชายเนี่ย ไม่ได้เป็นการกระทำฐานปฏิบัติหน้าที่ราชการ โดยจงใจไม่ปฏิบัติตามกฎหมายที่สั่งระงับเรื่องโดยดำเนินการทางวินัยและไม่ดำเนินการเพื่อหาผู้รับผิดทางแพ่ง คงฟังได้แต่เพียงว่าเป็นการประมาทเลินเล่นในหน้าที่ราชการ ตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2535 มาตรา 84 วรรคสอง ซึ่งเป็นพฤติการณ์ที่เบากว่า ป.ป.ช.ย่อมมีอำนาจที่จะฟังข้อเท็จจริงตามมูลฐานดังกล่าวมาวินิจฉัยชี้มูลความผิดฐานประมาทเลินเล่อในหน้าที่ราชการ ตามมาตรา 84 วรรคสอง โดยไม่ต้องแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมแต่อย่างใด เพราะข้อเท็จจริงที่ ป.ป.ช.อาศัย รวมอยู่ในสำนวนการไต่สวนเรียบร้อยแล้ว เพราะฉะนั้นการมีมติวินิจฉัยดังกล่าวของ ป.ป.ช.จึงไม่ใช่เป็นการวินิจฉัยนอกสำนวนข้อเท็จจริง อันเป็นการฝ่าฝืนต่อมาตรา 53 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ซึ่งบทบัญญัติที่กล่าวหาได้ห้ามไม่ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ชี้มูลในความผิดฐานอื่น ที่ได้จากสำนวนการไต่สวนข้อท็จจริงที่กล่าวหาแต่อย่างใด คงบัญญัติให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.พิจารณาข้อกล่าวหาจากสำนวนข้อเท็จจริง และมีมติวินิจฉัยว่า ข้อกล่าวหามีมูลหรือใม่ หากมีมติว่าข้อกล่าวหาใดไม่มีมูล ก็ให้ข้อกล่าวหาตกไปเท่านั้น ซึ่งเมื่อได้พิจารณาจากสำนวนไต่สวนโดยชอบแล้ว การกระทำของ ป.ป.ช.จึงไม่ใช่การปฏิบัติหรือการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพราะฉะนั้นจึงไม่ถือว่าเป็นการกลั่นแกล้งให้นายสมชายต้องรับผิดอยู่ในตัว ดังนั้นจึงให้ยกคำร้อง เราจึงอยู่รอดมาได้จนปัจจุบันนี้ เพราะคดีนี้
ถาม – เพราะฉะนั้น ศาลฯ จะมาบอกว่า ป.ป.ช.ตีความขยายความเพิ่มอำนาจหน้าที่ไม่ได้?
ตอบ – นี่ล่ะมันขัดกับคำวินิจฉัยของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนี่ไงล่ะ
ถาม – ศาลฯ มองว่าคุณหญิงณัษฐนนท ไม่ได้มีอำนาจตรงที่ไปลงนามอนุมัติจัดซื้อครุภัณฑ์
ตอบ – นั่นเป็นเรื่องของการฟังข้อเท็จจริง ถ้าจะฟังข้อเท็จจริงว่าเขาไม่มี เพราะฉะนั้นเขาไม่มีความผิด ก็ว่าไป นี่มากระทบ ป.ป.ช.บอกว่า ป.ป.ช.ไม่มีอำนาจวินิจฉัยเนี่ย ผมถึงบอกว่า ป.ป.ช.มีอำนาจวินิจฉัย เรื่องข้อเท็จจริงที่สู้กันเนี่ย เราไม่ไปโต้แย้งนะ อย่าไปเที่ยวโต้แย้ง เพราะจริงๆ แล้ว ศาลปกครองเขามีอำนาจแต่จะพิจารณาถึงกรอบในการประพฤติปฏิบัติของ ป.ป.ช. ว่า ป.ป.ช.ชี้มูลเนี่ยว่าเป็นไปตามกระบวนการที่ถูกต้องมั้ย ถ้าเป็นไปตามกระบวนการที่ถูกต้อง ก็จะมาบอกว่า เอ๊ะ! นี่ ป.ป.ช.ไม่มีอำนาจอย่างโน้นอย่างนี้เนี่ย มันไม่ได้
ถาม – แล้วศาลปกครองก็ยังนำกรณีคุณณัษฐนนทไปเทียบกับกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญอนุญาตให้บุตรซึ่งเป็นเลขาฯ ของตนเองไปเรียนที่เมืองนอก
ตอบ – มันคนละเรื่องกัน มันคนละแบบกัน เราจะเห็นได้ว่าการกระทำเนี่ย นั่นเป็นเรื่องของการที่เขาวินิจฉัยว่า ตัวคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญท่านมีหรือไม่มีอำนาจที่จะอนุมัติให้ลูกของตัวไปเรียนหนังสือ แล้วมาขอให้จ่ายเงินเดือนระหว่างที่ไปเรียน พูดกันตรงๆ อ่ะ อย่างนี้เป็นการชอบหรือไม่ชอบ เราก็บอกว่า นี่มันไม่มีระเบียบอะไรที่ว่าไว้เลย ระเบียบในคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ไม่มีระเบียบพูดไว้เลยในเรื่องนี้ มันต่างกับการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะปลัดกระทรวงนะ มันคนละแบบเลย จะเอามาตีความเทียบเคียงกันไม่ได้ แต่อย่างไรก็ดี ผมพูดไว้ตั้งแต่แรกแล้วว่า ยังไม่ได้ดูเลยในรายละเอียดว่าเขาวินิจฉัยไว้ว่ายังไง เดี๋ยวพูดไปเนี่ย เดี๋ยวจะเป็นการเกินเลยไป ก็เอาเป็นว่า เราก็จะรอดูในรายละเอียด แล้วเราก็จะยึดถือตามหลักของคำวินิจฉัยของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหมายเลขแดงที่ อม 5/2552 เป็นหลักในการอุทธรณ์นะ
ถาม – อาจารย์ในฐานะกรรมการ ป.ป.ช.รู้สึกหนักใจ หรือรู้สึกว่า เอ๊ะ! อำนาจในการทำหน้าที่ของ ป.ป.ช.เนี่ย กำลังถูกท้าทายหรือลิดรอนมั้ยคะ เพราะว่า ป.ป.ช.สามารถตัดสินชี้มูลความผิดคดีต่างๆ ไปแล้ว แต่สุดท้ายผู้ถูกชี้มูลเนี่ย สามารถไปร้องศาลปกครองได้ เหมือนกับ ป.ป.ช.กำลังถูกตรวจสอบโดยศาลปกครอง
ตอบ – ก็ต้องถูกตรวจสอบอย่างนี้อยู่แล้ว มันเป็นเรื่องที่เรารู้อยู่แล้ว เรามีคดีอยู่ที่ศาลปกครองเยอะแยะเลย ศาลยุติธรรมก็มี เขาฟ้องว่าเราปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเนี่ย สู้กัน โอ้! เรียกว่าถึงพริกถึงขิงน่ะ มีอะไรมา เราก็ต้องโต้แย้งไป ตอบโต้ไป เราต้องยึดหลักการที่เราได้ดำเนินคดี ส่วนว่าในที่สุดแล้วศาลท่านจะวินิจฉัยอย่างไร ก็ต้องแล้วแต่ท่าน ทำไงได้ ก็อำนาจใครอำนาจมันน่ะ ก็ต้องแยกออกจากกัน เราจะไปโต้แย้ง ไปคัดค้านว่า โอ๊ย! ท่านทำไมถึงตัดสินอย่างนี้ คงไม่ได้หรอก
ถาม – หลังจากนี้น่าจะกินเวลานานมั้ยคะกว่าเราจะทราบผลศาลปกครองสูงสุด?
ตอบ – ไม่ทราบเหมือนกัน เพราะบางคดีก็ต้องดูแนวโน้ม ก็ต้องรอ จะช้าหรือเร็วก็ต้องรอ ทำไงได้ เอางี้นะ เราไม่ได้ถือว่าเป็นเรื่องสลักสำคัญถึงขนาดว่าจะเป็นจะตาย เรื่องการดำเนินคดีเนี่ย ผมชินแล้ว อยู่ศาลฎีกา อยู่ศาลยุติธรรมมาเนี่ย เรามองเห็นภาพเลย คนที่เขาต้องเดือดร้อน ต้องเป็นฝ่ายที่ถูกชี้มูลหรือวินิจฉัยว่ากระทำผิด เขาก็ต้องสู้จนสุดฤทธิ์น่ะ สู้จนกว่าจะเห็นดำเห็นแดง และยุตินะ ถึงขนาดบางคน เห็นมั้ยว่ายอมตนเพื่อที่จะดิ้นรนในการต่อสู้ จนกระทั่งใช้วิธีการรบนอกแบบก็มี มายิง ป.ป.ช.ก็มี เพราะฉะนั้นเราก็เห็นว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดาสำหรับคนที่ดิ้นรน
ถาม – อาจารย์อยากฝากอะไรกับสังคมหรือคนที่อาจจะไม่เข้าใจการทำงานของ ป.ป.ช.มั้ยในโอกาสทำงานมา 8 ปีแล้ว
ตอบ – ก็ให้เข้าใจล่ะครับว่า การทำงานเนี่ย ยิ่งเป็นเรื่องการชี้มูลคนกระทำความผิดที่เขามีอำนาจ มีพรรคพวก มีคนหนุนหลังอยู่มากมาย เราก็ต้องเข้าใจ เราถือว่าเป็นธรรมชาติ ที่ไม่มีองค์กรที่ตรวจสอบไหนที่จะทำงานสบาย ทั่วโลกก็เห็นตรงกันหมด บางทีเขาก็ยุบองค์กรด้วยซ้ำไป เขามีอำนาจแล้วเนี่ย เขาบอกว่า คุณยุบไปเลย อันนี้เราก็เข้าใจ แต่ข้อสำคัญที่สุดก็คือ คนที่จะหนุนหลังเราคือประชาชน ไม่ใช่อำนาจรัฐนะ ต้องเข้าใจจุดนี้นะ ว่าประชาชนเท่านั้นนะ มวลชนเท่านั้นที่จะรู้ซึ้งว่าเขาจะเอาอะไรเป็นหลักประกัน เพราะเราตรวจสอบอำนาจรัฐ ตรวจสอบเพื่ออะไร เพื่อประชาชน เพื่อให้เขาอยู่เย็นเป็นสุข เพื่อให้แผ่นดินนี้เป็นแผ่นดินที่เป็นของมวลมหาประชาชนทั้งหลาย ไม่ใช่เป็นแผ่นดินของใครคนใดคนหนึ่ง แล้วเขาก็จะสืบทอดไปถึงลูกถึงหลาน เพราะฉะนั้นถ้าเขาเข้าใจตรงนี้เนี่ย เขาจะยืนหยัดต่อสู้ องค์กร ป.ป.ช.ทั่วโลกคิดตรงกันหมดว่า เราอยู่ได้ด้วยประชาชน ด้วยมหาชน อยู่ได้ด้วยความเข้าใจ และด้วยการพิทักษ์รักษาของมหาชน