xs
xsm
sm
md
lg

ศาลปกครองสั่งคืนตำแหน่งปลัด กทม. “คุณหญิงณัษฐนนท”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คุณหญิงณัษฐนนท ทวีสิน (ภาพจากแฟ้ม)
ศาลปกครองกลางสั่งคืนตำแหน่งปลัด กทม.ย้อนหลังให้ “คุณหญิงณัษฐนนท” ชี้กรณีร่วมทุจริตจัดซื้อรถดับเพลิง กทม. แค่ประมาทเลินเล่อบกพร่องต่อหน้าที่ราชการ ยังไม่เข้าข่ายทำให้ราชการเกิดความเสียหายร้ายแรง ซ้ำ ป.ป.ช.ใช้อำนาจเกินขอบเขต ทั้งที่เคยวินิจฉัยวางแนวปฏิบัติไว้แล้วในคดีตุลาการศาล รธน.ใช้งบหลวงส่งลูกเรียนนอกว่าไม่ใช่ความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่

วันนี้ (21 ต.ค.) ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่งกรุงเทพมหานคร ที่ 5313/2551 ลงวันที่ 29 ธ.ค. 2551 เรื่องลงโทษปลดคุณหญิงณัษฐนนท ทวีสิน อดีตปลัดกรุงเทพมหานคร พ้นจากตำแหน่งปลัดกรุงเทพมหานคร และเพิกถอนมติคณะกรรมการข้าราชการกรุงเทพมหานคร (ก.ก.) เมื่อวันที่ 27 พ.ค. 2552 วันที่ 24 มิ.ย. 2552 และวันที่ 17 ก.ย. 2552 ที่วินิจฉัยยกอุทธรณ์คำสั่งกรุงเทพมหานคร ที่ 5313/2551 และเพิกถอนคำสั่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 16 ส.ค. 2553 โดยให้มีผลย้อนหลังนับแต่วันที่มีคำสั่งหรือมติดังกล่าว

ทั้งนี้ คดีดังกล่าวคุณหญิงณัษฐนนท ได้ยื่นฟ้องกรุงเทพมหานคร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ก.ก. รมว.มหาดไทย และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เมื่อวันที่ 24 ธ.ค. 53 หลังจากเกษียณอายุราชการเมื่อปี 49 และถูก ป.ป.ช.ชี้มูลว่ากระทำผิดวินัยร้ายแรงกรณีจัดซื้อรถและเรือดับเพลิง รวมถึงอุปกรณ์บรรเทาสาธารณภัยของกรุงเทพมหานคร ซึ่งกรุงเทพมหานครได้มีคำสั่งปลดออกจากราชการ คุณหญิงณัษฐนนทเห็นว่าไม่คำสั่งดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ส่วนที่ศาลฯ สั่งเพิกถอนคำสั่งปลดออกจากราชการ ระบุว่า แม้ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย มีอำนาจโดยชอบในการออกคำสั่งลงโทษคุณหญิงณัษฐนนท และยกอุทธรณ์ และได้ดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมาย ใน พ.ร.ป.ว่าด้วย ป.ป.ช. 2542 และ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 แต่เนื่องจากการชี้มูลความผิดคุณณัษฐนนทของ ป.ป.ช. เป็นการใช้ดุลพินิจที่ไม่ชอบ เป็นการตีความในลักษณะของการขยายความเพิ่มขอบเขตอำนาจหน้าที่ของผู้ใช้บังคับกฎหมาย เพราะจากข้อเท็จจริงยังฟังไม่ได้ว่า คุณหญิงณัษฐนนทจงใจฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามระเบียบของราชการที่กำหนดไว้ การที่คุณหญิงณัษฐนนทลงนามผ่านหนังสือบันทึกข้อความของผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ผอ.สปภ.) เรื่องขออนุมัติจัดซื้อคุรุภัณฑ์และยานพาหนะและบรรเทาสาธารณภัยจำนวน 15 รายการ โดยวิธีพิเศษลงวันที่ 25 ส.ค. 47 เสนอผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ซึ่งหนังสือดังกล่าว ผอ.สปภ.ได้ทำขึ้นจำนวนสองฉบับ โดยคุณหญิงณัษฐนนท์ไม่ได้ตรวจสอบว่าข้อความในหนังสือทั้งสองฉบับมีความแตกต่างกัน จนนำไปสู่การลงนามจัดซื้อที่ไม่ถูกต้อง เป็นเพียงความบกพร่องของการปฏิบัติหน้าที่ต่อตำแหน่งราชการเท่านั้น ไม่ถึงกับทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อทางราชการ ซึ่งความเสียหายร้ายแรงต่อทางราชการที่แท้จริงนั้นเกิดจากการกระทำของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครโดยตรงซึ่งอาจมีบุคคลอื่นร่วมด้วย ดังนั้น แม้คุณหญิงณัษฐนนท์จะไม่ได้ตรวจสอบใดๆ เลย ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครก็สามารถลงนามอนุมัติการจัดซื้อและเข้าทำสัญญากับผู้ขายได้ เนื่องจากเป็นอำนาจของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คุณหญิงณัษฐนนทไม่มีอำนาจจะไปยับยั้งหรือทักท้วงใดๆได้ และตามมาตรา 84 วรรคสอง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน 2535 ได้กำหนดว่าความเสียหายอย่างร้ายแรงที่เกิดขึ้นต่อทางราชการต้องเป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นโดยตรงจากผลแห่งการกระทำหรืองดเว้นการกระทำของผู้ถูกกล่าวหาเท่านั้น ซึ่งเรื่องความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ได้ยึดหลักเกณฑ์จากการกระทำผู้ต้องรับผิดต้องเป็นผู้กระทำ หรือร่วมกระทำโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงเท่านั้น ดังนั้นหากเกิดความเสียหายไม่ร้ายแรงต่อทางราชการ ผู้ประมาทเลินเล่อผู้นั้นก็อาจมีความผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรง

นอกจากนี้ ตาม พ.ร.บ. ป.ป.ช. 2542 มาตรา 19 (3) กำหนดให้ ป.ป.ช.มีอำนาจหน้าที่ไต่สวนและวินิจฉัยว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม เท่านั้น หาได้มีอำนาจหน้าที่ไต่สวนและวินิจฉัยว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำผิดวินัยฐานประมาทเลินเล่อในหน้าที่ราชการ ตาม มาตรา 84 ของ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 แต่อย่างใด ซึ่ง ป.ป.ช.ได้เคยแถลงผลการประชุม ป.ป.ช. เมื่อวันที่ 22 ส.ค. 2556 และวันที่ 27 ส.ค. 2556 กรณีความผิดตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ได้อนุญาตให้บุตรซึ่งเป็นเลขานุการของตนเองไปศึกษาในต่างประเทศโดยไม่มีระเบียบกำหนดให้มีอำนาจอนุญาตได้ เป็นการกระทำพลการ ปราศจากอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย แต่การกระทำดังกล่าวไมได้กระทำในฐานะเป็นเจ้าพนักงานที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย จึงไม่เป็นความผิดฐานทุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม แต่เป็นเรื่องความรับผิดทางแพ่ง ซึ่งเป็นเรื่องที่หน่วยงานจะไปดำเนินการต่อไป กรณีจึงเห็นได้ว่า เมื่อมีการกล่าวหาแล้วป.ป.ช.ไต่สวนและวินิจฉัยแล้วและไม่เห็นว่าเป็นกรณีตามมาตรา 19 (3) ของ พ.ร.บ. ป.ป.ช. ทาง ป.ป.ช.ก็จะไม่ดำเนินการตามมาตรา 91และ 92 ของ พ.ร.บ.เดียวกัน ซึ่งในกรณีของคุณหญิงณัษฐนนทการที่ ป.ป.ช.ดำเนินการตามมาตรา 91 (1) และ 92 ย่อมแสดงว่า ป.ป.ช.เห็นว่ากรณีประมาทเลินเล่อในหน้าที่ราชการถือเป็นการกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการกรณีหนึ่ง ซึ่งศาลไม่เห็นพ้องด้วย ข้อโต้แย้งของคุณหญิงณัษฐนนทจึงฟังขึ้น ป.ป.ช.ไม่มีอำนาจหน้าที่ไต่สวนและวินิจฉัยเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยประมาทเลินเล่อ ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อทางราชการแต่อย่างใด เนื่องจาก พ.ร.บ.ป.ป.ช. เป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสิทธิเสรีภาพของบุคคล และเป็นกฎหมายที่การใช้บังคับก่อให้เกิดผลร้ายหรือเสียหายต่อบุคคล การตีความจึงจำต้องกระทำอย่างเคร่งครัด ไม่สมควรตีความในลักษณะขยายความเพิ่มขอบเขตอำนาจหน้าที่ของผู้ที่ใช้บังคับกฎหมาย ดังนั้นการตีความของการกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการจึงสมควรตีความโดยจำกัดขอบเขตของการกระทำเพียงว่าหน้าที่ราชการนั้นๆ เป็นหน้าที่ราชการที่มีการกำหนดวิธีปฏิบัติหน้าที่ไว้โดยเฉพาะ เช่น การเป็นเจ้าพนักงาน การเป็นนายทะเบียนในเรื่องใด การเป็นผู้มีอำนาจพิจารณาอนุมัติอนุญาตในเรื่องใด เป็นต้น หาใช่การปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยทั่วไปตามตำแหน่งที่ครองอยู่เว้นแต่เป็นกรณีทุจริตต่อหน้าที่
กำลังโหลดความคิดเห็น