xs
xsm
sm
md
lg

ชื่อใหม่อปท."องค์กรบริหารท้องถิ่น" เปิดช่องเอกชนรับงานรัฐ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (5ก.พ.) พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ แถลงว่า ที่ประชุมได้มีการพิจารณา หมวด 7 การกระจายอำนาจ และการบริหารท้องถิ่น โดยได้มีเปลี่ยนถ้อยคำ "องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น" เดิมในรัฐธรรมนูญปี 50 มาใช้คำว่า“องค์กรบริหารท้องถิ่น”ให้สอดคล้องกับการบริหารงานตามความเป็นจริง ที่ต้องมีรูปแบบการบริหารที่หลากหลาย เหมาะสมตามภูมิสังคมแต่ละพื้นที่ เพราะในความเป็นจริงการดูแลส่วนท้องถิ่น ไม่ใช่การปกครอง แต่เป็นการบริหาร ไม่มีนัยยะสำคัญเป็นพิเศษ เพียงแค่ต้องการจะสื่อความหมายให้ชัดเจน เพื่อไม่ให้ผู้ทำหน้าที่ผู้บริหารท้องถิ่นเข้าใจผิด และใช้อำนาจในไปทางการปกครองประชาชน ขณะเดียวกันก็จะทำให้การดำเนินการของผู้บริหารท้องถิ่นในอนาคต มีความใกล้ชิดกับประชาชนในท้องถิ่นมากขึ้น
ดังนั้น ในมาตรา 1 ของหมวดนี้ จึงมีการกำหนดให้รัฐต้องให้ความเป็นอิสระแก่องค์กรบริหารท้องถิ่น ตามหลักแห่งการปกครองตนเองตามเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่น โดยให้มีรูปแบบองค์กรบริหารท้องถิ่นที่หลากหลาย เหมาะสมกับการบริหารจัดการตามภูมิสังคมแต่ละพื้นที่ รวมทั้ง ต้องกระจายอำนาจหน้าที่ และความรับผิดชอบ และต้องส่งเสริมให้องค์กรบริหารท้องถิ่นเป็นหน่วยงานหลักในการจัดบริการสาธารณะ ตลอดจนให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจแก้ไขปัญหาในพื้นที่ได้อย่างทั่วถึง และมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ
นอกจากนี้ ยังการมีกำหนดให้การจัดทำบริการสาธารณะใดที่ชุมชน หรือบุคคล สามารถดำเนินการได้โดยมีมาตรฐาน คุณภาพ และประสิทธิภาพไม่น้อยกว่า องค์กรบริหารท้องถิ่น รัฐ หรือองค์กรบริหารท้องถิ่น ต้องกระจายภารกิจดังกล่าวให้ชุมชน หรือ บุคคลดังกล่าว ดำเนินการภายใต้การกำกับดูแลที่เหมาะสม ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ ซึ่งบทบัญญัตินี้ จะทำให้ภาคเอกชน ชุมชน สามารถเข้ามาทำหน้าที่แทนรัฐ หรือองค์กรบริหารท้องถิ่นได้ในภารกิจบางอย่าง เพื่อประโยชน์ของท้องถิ่นนั้นๆ โดยการพิจาณาในหมวดดังกล่าว ยังเหลืออีก 5 มาตรา ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในวันนี้ (วันที่ 6 ก.พ.) จากนั้น ในวันที่ 9 ก.พ. ที่ประชุมจะเริ่มเข้าการพิจารณารายมาตรา ในภาค 4 การปฏิรูป และการสร้างความปรองดอง หมวด 1 การปฏิรูปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างความเป็นธรรม
พล.อ.เลิศรัตน์ ยังกล่าวอีกว่า ในวันที่ 16 ก.พ. คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ จะมีการจัดสัมมนา เรื่อง "หลักการใหม่เกี่ยวกับระบอบการเมือง นักการเมือง และสถาบันการเมือง" ที่ห้องประชุมคณะกรรมาธิการ อาคารัฐสภา 2 ตั้งแต่เวลา 09.00-13.00 น. โดยจะมีการเชิญ คณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) คณะอนุกรรมาธิการประสานเพื่อรับความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของ สปช. และองค์กรอื่น สถาบันพระปกเกล้า ตัวแทน จากพรรคเมือง กลุ่มการเมือง สื่อมวลชน เข้าร่วมรับฟัง และแสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับระบอบการเมือง นักการเมือง และสถาบันการเมือง โดยหวังว่า การจัดสัมมนาดังกล่าว จะสร้างความเข้าใจให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องและถือเป็นการให้ข้อมูลกับคณะกรรมาธิการที่จะมีการยกร่าง เรื่องสถาบันการเมืองในช่วงต้นเดือนมี.ค.ด้วย
ผู้สื่อข่าวถามว่าคิดว่าจะได้รับการตอบรับจากพรรคการเมืองหรือไม่ พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวว่า พรรคการเมืองมีทั้งสิ้น 73 พรรคการเมือง ครั้งที่แล้วกรรมาธิการมีหนังสือไปขอรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการยกร่างรัฐธรรมนูญ มีหลายพรรคที่อยากจะเข้ามาพบกับกรรมาธิการ ซึ่งในครั้งนี้ พรรคการเมืองใด หรือกลุ่มการเมืองใด จะใช้โอกาสนี้มา หรือไม่มา แสดงความคิดเห็น ก็เป็นสิทธิ แต่ในวันนี้ ( 6 ก.พ.) คณะกรรมาธิการฯ จะออกหนังสือเชิญไปยังทุกพรรคการเมือง และคิดว่าทุกพรรคการเมืองจะให้ความสนใจเข้าร่วมรับฟัง แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ถือเป็นการช่วยกันทำให้ระบบการเมืองดีขึ้น เพราะแม้ก่อนหน้านี้ทางกรรมาธิการจะวางแนวทางในการยกร่างไว้แล้ว แต่ถ้ามีความคิดเห็นที่ดี ก็พร้อมที่จะรับฟังอยู่ตลอด

**17เม.ย.ส่งร่างรธน.ให้สปช.พิจารณา

ด้านนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงกรณีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ระบุว่า การยกร่างรัฐธรรมนูญ อาจจะเสร็จเร็วกว่ากำหนดว่า ตนไม่รู้สึกกดดัน ซึ่งอาจมีความเป็นไปได้ แต่ก็ยังไม่สามารถกำหนดกรอบเวลาที่แน่นอนชัดเจนได้ ว่าจะมีการจัดการเลือกตั้งได้ช่วงใด เพราะต้องดูทิศทางหลังจากร่างรัฐธรรมนูญแรกเสร็จสิ้นก่อน ที่จะเสนอให้สภาปฏิรูปแห่งชาติพิจารณา ในวันที่ 17 เม.ย.นี้
ทั้งนี้ การร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ จะต้องมีการจัดทำ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญให้เสร็จสิ้นทั้ง 11 ฉบับ ทุกฉบับก่อนจะมีการบังคับใช้ เพื่อไม่ให้ซ้ำรอย เหมือนกับรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ที่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญหลายฉบับไม่ออกมาพร้อมกับรัฐธรรมนูญ ส่วนเรื่องการทำประชามติ หรือไม่ ก็จะมีความชัดเจน ก่อนวันที่ 6 สิงหาคม ซึ่งจะเป็นวันสุดท้าย ที่มีการปรับแก้ไขร่างฯ เนื่องจากการกำหนด พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ จะต้องระบุไว้ในส่วนของบทเฉพาะกาล อีกทั้งหากจะมีการทำประชามติ ก็จะต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว เพื่อเปิดทางให้สามารถดำเนินการได้
นายบวรศักดิ์ ยังกล่าวถึงการให้มี คณะกรรมการดำเนินการแต่งตั้งข้าราชการโดยระบบคุณธรรม จำนวน 7 คน ประกอบด้วย กรรมการผู้ทรงคูณวุฒิในข้าราชการพลเรือน 2 คน ผู้ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวง หรือเทียบเท่า 3 คน และประธานกรรมการจริยธรรมของทุกกระทรวง ซึ่งเลือกกันเอง จำนวน 2 คน ซึ่งมองว่าเป็นการแก้ปัญหาที่มีการแทรกแซงการแต่งตั้งโยกย้ายจากฝ่ายการเมือง เหมือนกับระบบของประเทศอังกฤษ ซึ่งข้าราชการจะต้องมีความเป็นกลางทางการเมือง และจะทำตามนโยบายของฝ่ายบริหาร แต่ก็ก็มีสิทธิ์ที่จะทักท้วงนโยบายที่เห็นว่าอาจขัดต่อกฎหมายต่อ เลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้ ยืนยันว่า ไม่ได้เป็นการสร้างรัฐข้าราชการ
กำลังโหลดความคิดเห็น