xs
xsm
sm
md
lg

“สมบัติ” โวย “บวรศักดิ์” ใช้ข้อมูลผิดสร้างวาทกรรม ยันเลือกนายกฯ ไม่ใช่ซูเปอร์ ปธน.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ประธาน กมธ.ปฏิรูปการเมือง โต้ “บวรศักดิ์” ยันเลือกนายกฯ เองไม่ใช่ซูเปอร์ประธานาธิบดี จวกข้อกล่าวหาที่อันตรายมาก ชี้ดีกว่าซักฟอกเยอะแต่ต้องออกแบบตรวจสอบให้กำจัดพวกโกงด้วย ใช้เลือกตั้ง 2 รอบแก้ได้ ไม่พูด กกต.จ่อหาคนผิดทำเลือกตั้งโมฆะ



วันนี้ (22 ธ.ค.) ที่รัฐสภา นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง สภาปฏิรูปแห่งชาติ กล่าวถึงกรณีที่นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ มองการเลือกนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีโดยตรง เป็นเหมือนซูเปอร์ประธานาธิบดีมีอำนาจล้นฟ้าว่า ทางคณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมืองทำตามหน้าที่ในการนำเสนอข้อคิดเห็นเพื่อการปฏิรูป ซึ่งแนวคิดที่เสนอไปแม้จะเป็นมติของเสียงข้างมากในคณะกรรมาธิการฯ ซึ่งก็มีความคิดเห็นที่แตกต่างกันออกไป แต่เรื่องดังกล่าวเป็นการเข้าใจผิด องค์ประกอบของเนื้อหาที่คณะกรรมาธิการฯ นำเสนอ ไม่ได้ต้องการมีซูเปอร์ประธานาธิบดี การพูดในลักษณะนี้ไม่เป็นธรรมต่อคณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง และเป็นข้อกล่าวหาที่อันตรายมาก ยืนยันว่าการเลือกตั้งนายกฯโดยตรงมีกระบวนการตรวจสอบที่ดีกว่าการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เพราะการแยกอำนาจการบริหารจะชัดเจนกว่าที่ผ่านมา ในกรณีเรื่องของซูเปอร์ประธานาธิบดีนั้น ยังมีความเข้าใจที่ไม่ตรงกัน เพราะตำแหน่งประธานาธิบดีคือการเรียกประมุขของประเทศ แต่ถ้าระบบประธานาธิบดีคือต้องเป็นประมุขของประเทศและต้องเป็นหัวหน้ารัฐบาลด้วย ซึ่งประเทศไทยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ดังนั้น ข้อเสนอการเลือกนายกฯ โดยตรงจึงไม่ใช่ระบบประธานาธิบดีหรือระบบซูเปอร์ประธานาธิบดีตามที่มีนักวิชาการบางคนได้มีการระบุ

นายสมบัติกล่าวว่า กรณีที่นายบวรศักดิ์ได้ตั้งคำถามถึงจุดเสี่ยงเกี่ยวกับข้อเสนอของคณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง ในประเด็นความเสี่ยงเชิงโครงสร้างที่ว่า ครม.ที่มาจากการเลือกตั้งตามข้อเสนอนี้มีอาจมีอำนาจมากกว่าประธานาธิบดีสหรัฐฯ เพราะประธานาธิบดีสหรัฐฯ ใช้ระบบแบ่งแยกอำนาจเด็ดขาด ที่จะเสนอกฎหมายไม่ได้ เสนองบประมาณไม่ได้ แต่ระบบที่เสนอเป็นระบบแบ่งแยกอำนาจเทียม เพราะห้าม ครม.เป็น ส.ส. และห้ามยุบสภาแต่ให้เสนอกฎหมายได้ เรื่องนี้เป็นความเข้าใจที่ผิด เพราะที่ถูกต้องคือ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ มีอำนาจในการเสนอร่างกฎหมายงบประมาณต่อสภาได้ อีกทั้งกลไกและกระบวนการของระบบแบ่งแยกอำนาจนั้นจะแตกต่างจากกลไกของระบบรัฐสภา จึงต้องทำความเข้าใจให้ชัดเจนว่า เมื่อยึดหลักแบ่งแยกอำนาจแล้ว ต้องออกแบบให้การตรวจสอบเพื่อกำจัดฝ่ายบริหารที่ประพฤติมิชอบให้มีประสิทธิภาพด้วย ข้อเสนอเหล่านี้เป็นเพียงข้อเสนอที่พูดถึงหลักการแต่ยังไม่ได้มีการลงไปในรายละเอียด เพราะเวลาในการจัดทำข้อเสนอมีจำกัด ก็เป็นไปได้ที่ข้อเสนอบางอย่างของคณะกรรมาธิการฯ จะถูกวิจารณ์ได้ ซึ่งตนก็เพียงทำหน้าที่ในการเสนอแนะ ส่วนจะกำหนดอยู่ในร่างหรือไม่อย่างไรนั้น ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญที่จะพิจารณา

ส่วนที่นายบวรศักดิ์ความเห็นว่าข้อเสนอของทางกรรมาธิการฯ จะทำให้มีความขัดแย้งมากขึ้นและจะการทุ่มซื้อเสียงรุนแรงนั้น นายสมบัติกล่าวว่า ทางออกก็คือจะมีการเลือกตั้งแยกออกจากกับการเลือกตั้ง ส.ส. และมีแนวทางไว้ว่าจะมีการเลือกตั้งในรอบที่สอง หากการเลือกตั้งในครั้งแรก ไม่มีพรรคใดได้เสียงเกินครึ่ง จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะใครทุ่มซื้อเสียงทั้งสองรอบ โดยทาง กมธ.มีแนวคิดว่า การซื้อ ส.ส.เพื่อเป็นนายกรัฐมนตรีง่ายกว่าการซื้อเสียงโดยตรงทั่วประเทศ

“การพูดว่าข้อเสนอดังกล่าวเป็นระบบซูเปอร์ประธานาธิบดีนั้น เป็นการใช้ข้อมูลที่ผิดมาสร้างวาทกรรมโดยใช้ศัพท์ทางวิชาการให้ดูน่าเชื่อถือเท่านั้น” นายสมบัติกล่าว

ทั้งนี้ นายสมบัติยังกล่าวถึงข้อเสนอของกมธ.ปฏิรูปการเมือง ในส่วนขององค์กรอิสระ โดยจะมีการนำประเด็นปัญหาที่มีในอดีตมาแก้ไข เช่น กรณีการจัดการเลือกตั้งที่ไม่สามารถดำเนินการได้ มีข้อพิจารณาคือ ให้อำนาจ กกต.ในการกำหนดวันเลือกตั้งได้เอง โดยไม่ต้องเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา นอกจากนั้นแล้วในเรื่องการพิจารณาคดีความที่เกี่ยวข้อง ที่ก่อนหน้านี้ต้องส่งศาลให้พิจารณา แต่ท้ายสุดศาลพิจารณาแล้วมีมติยกฟ้อง มีข้อเสนอให้พิจารณา อาทิ ศาลเลือกตั้ง เป็นต้น

ส่วนที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เตรียมดำเนินการเรียกค่าเสียหายจากบุคคลที่ทำให้การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ทั่วไป เมื่อวันที่ 2 ก.พ. 57 เป็นโมฆะ มูลค่ารวมกว่า 3,000 ล้านบาทนั้น นายสมบัติขอไม่แสดงความเห็นโดยอ้างว่า ตนถือมีส่วนได้ส่วนเสียกับเรื่องดังกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่ สปช.เตรียมดำเนินการเรื่องการสร้างความปรองดอง โดยตั้งคณะกรรมการว่าด้วยการปรองดองพิจารณา นายสมบัติกล่าวว่า ในกรรมาธิการปฏิรูปการเมืองมีการตั้ง คณะอนุกรรมาธิการปฏิรูปการเรียนรู้ การปรองดอง และการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน เพื่อพิจารณาศึกษาแนวทาง ขณะเดียวกัน ทราบว่า สปช.และกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญได้ตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณาเรื่องดังกล่าวด้วย ส่วนตัวมองว่าในแนวทางการสร้างความปรองดอง ลดความขัดแย้งถือเป็นความพยายามที่ควรทำงานร่วมกัน


กำลังโหลดความคิดเห็น