xs
xsm
sm
md
lg

“บวรศักดิ์” โต้อุตลุดร่างรัฐธรรมนูญไร้พิมพ์เขียว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ (แฟ้มภาพ)
“บวรศักดิ์” ติง “เกรียงไกร ภูมิเหล่าแจ้ง” กล่าวหาร่างรัฐธรรมนูญมีพิมพ์เขียว ยันไม่เป็นความจริง ชวนให้เข้าฟังการประชุมสรุปความเห็น สปช. ตั้งแต่ 18 ธ.ค. อย่าเพิ่งพูดเสื่อมเสีย

วันนี้ (17 ธ.ค.) เมื่อเวลา 21.55 น. ภายหลังสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สปช.) อภิปรายแสดงความเห็นจนครบถ้วนแล้ว นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ได้สรุปข้อสังเกตต่อที่ประชุม ว่าขอให้ที่ประชุม สปช.บันทึกความเห็นของสมาชิก สปช.ที่อภิปรายทุกคน เพื่อนำความเห็นจากทุกส่วนมาใช้พิจารณาหาข้อยุติในหลักการที่จะใส่ในรัฐธรรมนูญตั้งแต่วันที่ 18 ธ.ค. จะไม่ห้าม สปช.เข้ารับฟังการประชุม โดยเฉพาะ นายเกรียงไกร ภูมิเหล่าแจ้ง สปช. ที่พูดว่า คณะกรรมาธิการยกร่างฯจัดทำร่างรัฐธรรมนูญไว้เสร็จแล้ว ขอให้เข้าฟังด้วย อย่าเพิ่งกล่าวอะไรในทางเสื่อมเสียในการจัดทำรัฐธรรมนูญ ยืนยันว่า ขณะนี้ไม่มีพิมพ์เขียวใดๆ ทั้งสิ้น อย่ามากล่าวหากัน เวลานี้อย่าเพิ่งหวั่นไหวอะไร ขณะนี้แกงส้มหม้อนี้ ไฟยังไม่ได้ก่อ น้ำยังไม่ได้ต้ม โดยจะได้ข้อยุติทั้งหมด 23 ก.ค. 58

นายบวรศักดิ์กล่าวว่า การออกแบบระบบการเมืองเป็นเรื่องสำคัญเปรียบเป็นหัวรถจักรทุกเรื่อง การออกแบบจะทำเล่นๆไม่ได้ ต้องดูสภาพบ้านเมืองแท้จริงด้วย ระบบเลือกตั้งพระมหากษัตริย์ไม่เคยแต่งตั้ง ส.ส. วันนี้ กมธ.ปฏิรูปการเมืองเสนอระบอบใหม่ คือ ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข มี ครม.มาจากการเลือกตั้งโดยตรง เป็นระบอบที่มีนวัตกรรมจริงๆ อย่าว่าแต่ประเทศที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข แม้แต่ประเทศที่มีระบบรัฐสภากว่า 60 กว่าประเทศก็ไม่เคยใช้ ระบอบนี้มีการวิพากษ์วิจารณ์มากมาย และได้ศึกษาระบอบนี้มาตั้งแต่ปี 2517 ระบบนี้ถูกเรียกว่าเป็นระบบรัฐสภา ที่ทำให้เป็นระบบประธานาธิบดี

ซัดเป็นระบอบซูเปอร์ ปธน.

นายบวรศักดิ์กล่าวว่า คำถามที่ต้องตอบวันนี้ 1. ความเสี่ยงถ้าเลือกตั้ง ครม. โดยตรง จะทำให้พรรค ข. ทั้งหัวหน้าพรรคและคนของพรรคตกงานอยู่บ้าน 4 ปี ทำอะไรไม่ได้เลย ตอบได้หรือไม่ว่า ความสงบสุขจะเกิดขึ้น ถ้าตอบได้ก็น่าจะพิจารณา 2. มีความเสี่ยงที่จะได้นายกรัฐมนตรีมาจากกระแส เช่น ประเทศฟิลิปปินส์ ที่นำดารามาเป็นนายกรัฐมนตรี 3. มีความเสี่ยงที่เมื่อมีนายกรัฐมนตรี และ ครม. ที่เข้มแข็งเกินไป ปลดไม่ได้ นายกรัฐมนตรีปรับ ครม. ก็ลำบาก เพราะต่างคนต่างมาจากการเลือกตั้งของประชาชน 4. ความเสี่ยงเชิงโครงสร้างที่สูงมาก คือ นายกรัฐมนตรีมีอำนาจมากกว่าประธานาธิบดีสหรัฐฯ เพราะแบ่งแยกอำนาจเทียม ที่นายกรัฐมนตรีเสนอกฎหมายและงบประมาณได้ หรือเรียกว่าระบบรัฐสภา ทำให้เป็นระบบซูเปอร์ประธานาธิบดี เกิดอำนาจล้นฟ้า เมื่อฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติเป็นพรรคเดียวกัน เพราะผู้เสนอและผู้พิจารณากฎหมายเป็นพรรคเดียวกัน การตั้งกระทู้ถามก็ไม่มีประโยชน์ 5. ความเสี่ยงเรื่องระบบตรวจสอบที่ กมธ. ปฏิรูปการเมืองเสนอ ไม่เพียงพอที่จะจำกัดอำนาจมหาศาลที่รัฐบาลมี และไม่สามารถอดถอนจากตำแหน่งได้

จากนั้นผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่นายบวรศักดิ์กล่าวจบ นางทัศนา บุญทอง รองประธาน สปช.คนที่ 2 ในฐานะประธานที่ประชุม ได้ขอให้ที่ประชุมลงมติว่า จะส่งรายงานความเห็นของคณะกรรมาธิการปฏิรูปทั้ง 18 ด้าน ให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญพิจารณาหรือไม่ แต่ปรากฏว่า มีสมาชิก สปช.บางคนคัดค้านเนื่องจากเห็นว่าเรื่องการเลือกตั้งนายกฯ โดยตรงมี สปช.คัดค้านเป็นจำนวนมาก หากมีการโหวตลงมติครั้งเดียวว่าจะให้ส่งความเห็นทั้งหมดให้คณะกรรมาธิการยกร่างฯ จะถูกมองว่า ที่ประชุม สปช.ทั้งหมดเห็นด้วยกับการเลือกตั้งนายกฯ โดยตรง จึงควรหาวิธีการโหวตที่เหมาะสมกว่านี้ ทำให้ที่ประชุมเกิดการถกเถียงถึงวิธีการโหวตลงมติกันอยู่นาน โดยมีการเสนอความเห็นกันหลากหลาย แต่ไม่ได้ข้อยุติ จนกระทั่งมีสมาชิก สปช.เสนอญัตติให้ปิดการอภิปราย เพื่อลงมติว่าจะส่งรายงานความเห็นและข้อเสนอแนะการยกร่างรัฐธรรมนูญของคณะกรรมาธิการปฏิรูปทั้ง 18 ด้าน ให้คณะกรรมาธิการยกร่างฯหรือไม่ ผลปรากฏว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้ส่งความเห็นของคณะกรรมาธิการปฏิรูป 18 ด้านให้คณะกรรมาธิการยกร่างฯด้วยคะแนน 212 ต่อ 1 จากนั้นนางทัศนาได้สั่งปิดประชุมเวลา 23.25 น.


กำลังโหลดความคิดเห็น