xs
xsm
sm
md
lg

“ประสาร” แจงไขก๊อกโฆษก กันสับสนปมเลือกตรงนายกฯ “อาณันย์” ชี้ชะตา สปช.อยู่ที่ รบ.ใหม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ประสาร มฤคพิทักษ์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ(แฟ้มภาพ)
โฆษก กมธ.ปฏิรูปการเมือง ปัดขัดแย้ง “สมบัติ” หลังลาออกโฆษก แจงกันสับสน เหตุเป็นเสียงส่วนน้อยค้านเลือกตรงนายกฯ “อาณันย์” รับเคารพการตัดสินใจ เล็งอภิปรายค้าน ชี้เสี่ยงมีอำนาจล้นฟ้า เผย สปช.ไม่ระบุหมดวาระตอนไหน อยู่ต่อหรือไม่อยู่ที่ รบ.ใหม่

วันนี้ (16 ธ.ค.) นายประสาร มฤคพิทักษ์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวว่า ตนได้ลาออกจากตำแหน่งโฆษกคณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง ไม่ใช่เพราะขัดแย้งกับนายสมบัติ ธำรงค์ธัญวงศ์ ประธานคณะกรรมาธิการ แต่ลาออกเพราะต้องการป้องกันไม่ให้เกิดความสับสน เนื่องจากตนทำหน้าที่เป็นโฆษกคณะกรรมาธิการที่ต้องแถลงข่าวไปตามความเห็นเสียงส่วนใหญ่ของคณะกรรมาธิการที่เห็นด้วยต่อแนวทางเลือกนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีโดยตรง ซึ่งตนไม่เห็นด้วยต่อแนวทางดังกล่าวและได้สงวนการแสดงความเห็นไว้อภิปรายในวันที่ 17 ธ.ค.นี้ด้วย จึงตัดสินใจยื่นหนังสือลาออกกับนายสมบัติซึ่งนายสมบัติก็ไม่ได้ว่าอะไร เพราะเข้าใจว่าตนลาออกเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความสับสน

ด้าน พ.ต.อาณันย์ วัชโรทัย สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และคณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง กล่าวว่า เชื่อว่านายประสารคงมีเหตุผลส่วนตัว ตนเคารพการตัดสินใจนี้ แต่ตนในฐานะที่เป็นคนหนึ่งในกรรมาธิการปฏิรูปการเมืองที่ไม่เห็นด้วยกับกรรมาธิการเสียงส่วนใหญ่ที่เสนอให้มีการเลือกนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีโดยตรงจะไม่ลาออกจากตำแหน่ง แต่จะทำการอภิปรายในวันที่ 17 ธ.ค.นี้ เพื่อให้เห็นว่า หากนำรูปแบบการเลือกตั้งดังกล่าวมาใช้จะสุ่มเสี่ยงต่อการได้มนุษย์พันธุ์ใหม่ที่มีอำนาจล้นฟ้า หากรัฐบาลและเสียงส่วนใหญ่ของ ส.ส.มาจากพรรคเดียวกัน

พ.ต.อาณันย์กล่าวถึงกรณีที่นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ฝากการบ้านให้สมาชิก สปช.หาแนวทางดำเนินการปฏิรูปต่อไปในอนาคต ว่า ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ. 2557 กำหนดไว้ว่า รัฐบาลจะพ้นจากตำแหน่งก็ต่อเมื่อมีรัฐบาลชุดใหม่ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะหมดวาระเมื่อเราได้สมาชิกรัฐสภา แต่สำหรับ สปช.ไม่ได้มีระบุเอาไว้ ส่วนเราจำเป็นต้องมีคณะทำงานเพื่อการปฏิรูปต่อไปในอนาคตหรือไม่นั้น มองว่าขึ้นอยู่กับแนวนโยบายและแผนงานของรัฐบาลชุดใหม่เป็นสำคัญว่าจะเห็นเป็นอย่างไร โดยอาจจะทำการประเมินจาก สปช.ชุดนี้ใน 2 ประเด็น คือ 1. ตัวบุคคลที่มาเป็น สปช.ได้รับการยอมรับหรือไม่ และ 2. ผลงานการปฏิรูปสำเร็จมากน้อยแค่ไหน ซึ่งรัฐบาลใหม่เห็นว่าจำเป็นต้องมีคณะทำงานปฏิรูปต่อก็อาจจะให้คง สปช.ไว้ในลักษณะเดียวกันกับสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติก็ได้ ส่วนการได้มาของสมาชิกก็อาจจะใช้การเลือกตั้งหรือสรรหาก็ได้แล้วแต่ความเหมาะสม


กำลังโหลดความคิดเห็น