xs
xsm
sm
md
lg

"ประสาร" โวยเลือกนายกฯ-ครม. ตรงซักฟอกยาก - "เทียนฉาย" แนะอย่ากังวล

เผยแพร่:

มติ กมธ. ปฏิรูปการเมือง ชงเลือกตั้งนายก-ครม.โดยตรง ด้าน “ประสาร” เสียงข้างน้อย ชี้ซักฟอกยาก เชื่อไม่ผ่านใน กมธ. ยกร่าง รธน. ด้าน “เทียนฉาย” ระบุยังไม่ใช่ความเห็นสุดท้าย อย่ากังวล

วันนี้ (8 ธ.ค.) นายประสาร มฤคพิทักษ์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ปฏิรูปการเมือง สปช. กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมืองว่า ที่ประชุมซึ่งมีนายสมบัติ ธำรงธัญวงค์ เป็นประธาน มีมติเสียงข้างมากเห็นชอบกับข้อเสนอเรื่องระบบการเลือกตั้งที่ให้มี ส.ส. ในระบบเขตเลือกตั้งเพียงอย่างเดียวโดยมีจำนวนทั้งสิ้น 350 คน โดยคิดสัดส่วนเป็น 1 ต่อ 2 แสนคน ไม่มีสส.ระบบบัญชีรายชื่อ และให้นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีมาจากการเลือกตั้งโดยตรง ส่วนวุฒิสภา หรือส.ว. ก็กำหนดให้มาจากการเลือกตั้ง และสรรหารวม 154 คน แบ่งเป็นเลือกตั้งจังหวัดละ 1 คน รวม 77คน และสรรหา 77 คน ซึ่งการสรรหาจะคัดเลือกจากกลุ่มอาชีพต่างเพื่อให้เกิดความหลากหลาย โดยนายสมบัติ ประธานคณะกรรมาธิการจะมีการแถลงถึงข้อเสนอที่ชัดเจนต่อคณะกรรมาธิการยกร่างในวันที่ 9 ธ.ค.นี้

นายประสารยังกล่าวด้วยว่า ตนเองและกรรมาธิการอีก 4 คนประกอบด้วย นายประสาร นายชัย ชิดชอบ นายชูชัย ศุภวงศ์ พล.ท.ฐิติวัจน์ กำลังเอก และนายชาติชาย ณ เชียงใหม่ เป็นเสียงข้างน้อยที่ไม่เห็นด้วยกับการที่จะให้มีการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีโดยตรง เพราะเห็นว่าขัดกับหลักการปฏิรูป ที่ต้องให้อำนาจประชาชนเหนือกว่ารัฐบาล อีกทั้งหากมีการเลือกตั้งนายกฯ และ ครม. เป็นคนละพรรคกับเสียงข้างมาก ก็ทำให้การทำงานลำบาก ขณะเดียวกัน หากเป็นกลุ่มเดียวกันก็จะเอื้อประโยชน์ให้แก่กัน หรือถึงเป็นคนละขั้วการเมืองก็อาจะมีการสมยอมกันจนไม่มีฝ่ายค้านในสภาก็ได้

ซึ่งในที่ประชุมฝ่ายเสียงข้างน้อยก็ได้ตั้งข้อสังเกตว่า ระบบดังกล่าวมีจุดอ่อนมากกว่าจุดแข็งโดยเฉพาะการตรวจสอบการทำงานของฝ่ายบริหาร เพราะเมื่อมาจากการเลือกตั้งโดยตรง การตรวจสอบในสภาเฉพาะอย่างยิ่งการอภิปรายไม่ไว้วางใจทำได้ยาก แต่ฝ่ายเสียงข้างมากก็ยืนยันว่าสามารถใช้กระบวนการถอดถอนในการดำเนินการได้ ซึ่งส่วนตัวก็เห็นว่ากว่าจะถอดถอนได้ต้องใช้เวลานาน และระหว่างดำเนินกระบวนการถอดถอนหากนายกฯ ไม่หยุดปฏิบัติหน้าที่ หรือหยุดปฏิบัติหน้าที่เป็นระยะเวลานานบ้านเมืองก็จะเกิดความเสียหาย อย่างไรก็ตามฝ่ายเสียงข้างน้อยก็จะได้เสนอความเห็นดังกล่าวต่อกรรมาธิการยกร่างในวันที่ 15-17 ธ.ค. เชื่อว่ากรรมาธิการยกร่างฯ จะไม่เห็นชอบกับแนวทางที่ฝ่ายเสียงข้างมากเสนอมา

นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวถึง กล่าวถึงกรณีที่ คณะกรรมาธิการการปฏิรูปการเมือง เสนอให้เลือกนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีโดยตรง ว่า อย่ากังวลกับคำวิพากษ์วิจารณ์ของข้อเสนอดังกล่าว เพราะถือว่ายังไม่ใช่ข้อยุติ และต้องขอบคุณที่มีการให้ความเห็นและอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง มีความเห็นที่หลากหลาย เชื่อว่าประชาชนจะไม่สับสนสามารถแยกออกได้ว่า ใครให้ความเห็นหรือข้อสรุป ขณะที่รัฐธรรมนูญชั่วคราวก็เปิดโอกาสให้เสนอความเห็นได้ และทุกคนที่เสนอต้องเข้าใจว่า ไม่ใช่ความเห็นสุดท้าย อย่างไรก็ตามตนไม่สามารถให้ความเห็นในเรื่องดังกล่าวได้ เพราะต้องทำหน้าที่ประธานสปช. แม้มีความเห็นส่วนตัวก็ต้องเก็บเอาไว้ ทำให้ต้องระมัดระวัง


กำลังโหลดความคิดเห็น