ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ปฏิเสธให้ความเห็นแนวทางนิรโทษกรรมตามแนวทาง “เอนก” ชี้แค่อยู่ในชั้นอนุกรรมาธิการเท่านั้น เปิดให้สื่อมวลชนเข้าร่วมสังเกตการณ์ยกร่างบางมาตรา 5 ม.ค. ปีหน้า ยืนยันเป็นไปตามโรดแมป
วันนี้ (30 พ.ย.) ที่โรงแรมตรัง ถนนวิสุทธิกษัตริย์ เมื่อเวลา 15.15 น. นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ให้สัมภาษณ์ว่า กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ จะเป็นฉบับแรกที่มีหมวด 4 ที่ว่าด้วยการปฏิรูปลดความเหลื่อมล้ำในสังคม และการสร้างความปรองดอง ถือเป็นรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูป
ส่วนกรณีที่ นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ ในฐานะประธานอนุกรรมาธิการ เสนอให้มีการนิรโทษกรรม เพื่อสร้างความปรองดอง ก็ถือว่าไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะ นายเอนก รับผิดชอบพิจารณาการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญในหมวด 4 อยู่ แต่ทั้งหมดนี้ก็เป็นเพียงความเห็นในชั้นอนุกรรมาธิการ ซึ่งตนยังไม่สามารถให้ความเห็นอะไรได้ ต้องรับฟังคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญก่อนว่าจะเห็นเป็นอย่างไร
โดยอนุกรรมาธิการพิจารณาจัดทำรัฐธรรมนูญทั้ง 10 คณะ มีนัดส่งการบ้านต่อกรรมาธิการยกร่างฯ ในวันที่ 1 ธ.ค. ส่วน สปช. จะส่งการบ้านในวันที่ 15 - 17 ธ.ค. ซึ่งทางคณะกรรมาธิการยกร่างฯ ก็จะทำการตรวจการบ้านทั้งหมด ตั้งแต่วันที่ 18 - 26 ธ.ค. ทำให้ปลายเดือน ธ.ค. ก็จะพอทราบได้ว่าแนวทางและหน้าตาของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะเป็นอย่างไร
นายบวรศักดิ์ กล่าวว่า เบื้องต้นทางคณะกรรมาธิการยกร่างฯ จะเปิดให้สื่อมวลชนเข้าร่วมสังเกตการณ์ได้ต่อเมื่อเข้าสู่กระบวนการยกร่างรายมาตรา ที่จะเริ่มวันที่ 5 ม.ค. 2558 นี้ แต่ก็ต้องพิจารณาอีกว่า จะให้เข้าฟังในรายมาตราใดได้บ้าง เหมือนอย่างกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกา ที่จะไม่เปิดให้เข้าฟังได้เลย ตลอดระยะเวลาการร่างฯ 4 เดือนครึ่ง และไม่มีแม้แต่บันทึกการประชุม
“ส่วนระยะเวลาการร่างรัฐธรรมนูญยืนยันว่าจะเป็นไปตามโรดแมปแน่นอน เพราะหากไม่ทันก็ตายตกไปตามกัน ไม่มีใครอยากเอาชื่อเสียงมาทิ้งไว้ที่นี่อยู่แล้ว และขอยืนยันอีกครั้งว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะไม่มีพิมพ์เขียวเอาไว้ก่อน เนื่องจากยังมีกระบวนการที่ให้ สปช. สนช. คสช. และ ครม. ได้เสนอแก้ไขอีก” นายบวรศักดิ์ กล่าว
เมื่อถามถึงข้อเสนอที่ให้เลือกตั้ง คณะรัฐมนตรี และนายกรัฐมนตรี โดยตรง นายบวรศักดิ์ กล่าวว่า ข้อเสนอดังกล่าวมีมาตั้งแต่การร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 แล้ว ซึ่งประเทศอิสราเอลก็เคยใช้แนวทางนี้ ก่อนที่สุดท้ายจะยกเลิกไป การเสนอรูปแบบการเลือกตั้งใดจำเป็นต้องเสนอให้สอดคล้องต่อสภาพทางสังคมของไทย