xs
xsm
sm
md
lg

กมธ.ยกร่างฯ เปลี่ยนใช้คำ “องค์กรบริหารท้องถิ่น” ให้เอกชน-ชุมชน ทำภารกิจแทนได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


โฆษก กมธ.ยกร่างฯ เผยที่ประชุมเปลี่ยนใช้คำ “องค์กรบริหารท้องถิ่น” แทน “องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” กันเข้าใจผิดใช้อำนาจปกครอง ปชช. ชี้ดูแลไม่ใช่บริหาร ปัดมีนัย พร้อมให้เอกชน-ชุมชนทำภารกิจแทนองค์กรท้องถิ่น ใต้การดูแลเหมาะสม เผย 16 พ.ค.จัดสัมมนาหลักการใหม่เกี่ยวกับระบอบการเมือง คาดพรรคการเมืองตบเท้าร่วม



วันนี้ (5 ก.พ.) พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ แถลงว่า ที่ประชุมได้มีการพิจารณาหมวด 7 การกระจายอำนาจและการบริหารท้องถิ่น โดยได้มีเปลี่ยนถ้อยคำ “องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” เดิมในรัฐธรรมนูญ 50 มาใช้คำว่า “องค์กรบริหารท้องถิ่น” ให้สอดคล้องกับการบริหารงานตามความเป็นจริงที่ต้องมีรูปแบบการบริหารที่หลากหลายเหมาะสมตามภูมิสังคมแต่ละพื้นที่ เพราะในความเป็นจริงการดูแลส่วนท้องถิ่นไม่ใช่การปกครองแต่เป็นการบริหาร ไม่มีนัยสำคัญเป็นพิเศษ เพียงแค่ต้องการจะสื่อความหมายให้ชัดเจน เพื่อไม่ให้ผู้ทำหน้าที่ผู้บริหารท้องถิ่นเข้าใจผิดและใช้อำนาจในไปทางการปกครองประชาชน ขณะเดียวกันก็จะทำให้การดำเนินการของผู้บริหารท้องถิ่นในอนาคตมีความใกล้ชิดกับประชาชนในท้องถิ่นมากขึ้น ดังนั้น ในมาตรา 1 ของหมวดนี้จึงมีการกำหนดให้รัฐต้องให้ความเป็นอิสระแก่องค์กรบริหารท้องถิ่นตามหลักแห่งการปกครองตนเองตามเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่น โดยให้มีรูปแบบองค์กรบริหารท้องถิ่นที่หลากหลาย เหมาะสมกับการบริหารจัดการตามภูมิสังคมแต่ละพื้นที่ รวมทั้งต้องกระจายอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบ และต้องส่งเสริมให้องค์กรบริหารท้องถิ่นเป็นหน่วยงานหลักในการจัดบริการสาธารณะตลอดจนให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจแก้ไขปัญหาในพื้นที่ได้อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ

นอกจากนี้ยังการมีกำหนดให้การจัดทำบริการสาธารณะใดที่ชุมชน หรือบุคคล สามารถดำเนินการได้โดยมีมาตรฐาน คุณภาพ และประสิทธิภาพไม่น้อยกว่า องค์กรบริหารท้องถิ่น รัฐ หรือองค์กรบริหารท้องถิ่น ต้องกระจายภารกิจดังกล่าวให้ชุมชน หรือบุคคลดังกล่าว ดำเนินการภายใต้การกำกับดูแลที่เหมาะสมทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ ซึ่งบทบัญญัตินี้จะทำให้ภาคเอกชน ชุมชน สามารถเข้ามาทำหน้าที่แทนรัฐ หรือองค์กรบริหารท้องถิ่นได้ในภารกิจบางอย่างเพื่อประโยชน์ของท้องถิ่นนั้นๆ โดยการพิจาณาในหมวดดังกล่าวยังเหลืออีก 5 มาตรา ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในวันพรุ่งนี้ (วันที่ 5 ก.พ.) จากนั้นในวันที่ 9 ก.พ.ที่ประชุมจะเริ่มเข้าการพิจารณารายมาตรา ในภาค 4 การปฏิรูปและการสร้างความปรองดอง หมวด 1 การปฏิรูปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรม

พล.อ.เลิศรัตน์ยังกล่าวอีกว่า ในวันที่ 16 ก.พ.นี้ คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญจะมีการจัดสัมมนา เรื่อง “หลักการใหม่เกี่ยวกับระบอบการเมือง นักการเมือง และสถาบันการเมือง” ที่ห้องประชุมคณะกรรมาธิการ อาคารัฐสภา 2 ตั้งแต่เวลา 09.00-13.00 น. โดยจะมีการเชิญคณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) คณะอนุกรรมาธิการประสานเพื่อรับความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของสปช.และองค์กรอื่น สถาบันพระปกเกล้า ตัวแทนจากพรรคเมือง กลุ่มการเมือง สื่อมวลชน เข้าร่วมรับฟังและแสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับระบอบการเมือง นักการเมือง และสถาบันการเมือง โดยหวังว่าการจัดสัมมนาดังกล่าวจะสร้างความเข้าใจให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องและถือเป็นการให้ข้อมูลกับคณะกรรมาธิการที่จะมีการยกร่างเรื่องสถาบันการเมืองในช่วงต้นเดือน มี.ค.ด้วย

ผู้สื่อข่าวถามว่า คิดว่าจะได้รับการตอบรับจากพรรคการเมืองหรือไม่ พล.อ.เลิศรัตน์กล่าวว่า พรรคการเมืองมีทั้งสิ้น 73 การเมืองครั้งที่แล้วกรรมาธิการมีหนังสือไปขอรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการยกร่างรัฐธรรมนูญ มีหลายพรรคที่อยากจะเข้ามาพบกับกรรมาธิการซึ่งในครั้งนี้พรรคการเมืองใด หรือกลุ่มการเมืองใด จะใช้โอกาสนี้มาหรือไม่มาแสดงความคิดเห็น ก็เป็นสิทธิ แต่ในวันพรุ่งนี้ ( 6 ก.พ.) คณะกรรมาธิการฯจะออกหนังสือเชิญไปยังทุกพรรคการเมือง และคิดว่าทุกพรรคการเมืองจะให้ความสนใจเข้าร่วมรับฟังแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ถือเป็นการช่วยกันทำให้ระบบการเมืองดีขึ้นเพราะแม้ก่อนหน้านี้ทางกรรมาธิการจะวางแนวทางในการยกร่างไว้แล้ว แต่ถ้ามีความคิดเห็นที่ดีก็พร้อมที่จะรับฟังอยู่ตลอด


กำลังโหลดความคิดเห็น