xs
xsm
sm
md
lg

กกต.ถกแผนปราบโกงเลือกตั้ง สืบสวน-ดำเนินคดีต้องรวดเร็ว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (ก.ย.) ที่โรงแรมคลาสสิค คามิโอ อยุธยา จ.อยุธยา สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จัดประชุมเชิงวิชาการเรื่อง "การดำเนินการคดีเลือกตั้งระดับภูมิภาค" ครั้งที่ 9 โดย นายศุภชัย สมเจริญ ประธานกกต. ,นายบุญส่ง น้อยโสภณ กกต.ด้านสืบสอนสอบสวนและวินิจฉัย , นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านกิจการการบริหารงานเลือกตั้ง , นายธีรวัฒน์ ธีระโรจน์วิทย์ กกต.ด้านกิจการพรรคการเมือง และการออกเสียงประชามติ นายประวิช รัตนเพียร กกต.ด้านกิจการการมีส่วนร่วม และ นายภุชงค์ นุตตราวงศ์ เลขาธิการ กกต. ทั้งนี้มีกกต.ประจำจังหวัดเข้าร่วม 10 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัด พระนครศรีอยุธยา กรุงเทพมหานคร ชัยนาท นนทบุรี ปทุมธานี ลพบุรี สมุทรปราการ สระบุรี สิงห์บุรี และ อ่างทอง
นายศุภชัย กล่าวเปิดประชุมตอนหนึ่งว่า การจัดประชุมเชิงวิชาการในครั้งนี้ จัดเป็นครั้งที่ 9 เป็นครั้งสุดท้าย โดยมีนายบุญส่ง เป็นผู้รับผิดชอบ เพื่อเป็นการขยายผล และรับฟังความคิดเห็นของระดับภูมิภาค ที่มีการเสนอแนะต่างๆ มาปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และระบบสืบสอนสอบสวนในศาลให้ได้ประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น
ทั้งนี้ นายศุภชัย ยังกล่าวแสดงความคิดเห็น กรณีมีการตั้งข้อสังเกตถึงคำร้องของกกต. ว่าทำไมสำนวนถึงมีรายละเอียดมากมายว่าเป็นเพราะ กกต.รุ่นที่แล้วทำมาอย่างนี้ เพื่อจะได้รู้รายละเอียดของผู้ถูกร้อง และยังมีรายละเอียดเกี่ยวกับพยานรู้หมดว่าใครเป็นบ้าง แต่บางครั้งศาลก็ไม่ได้เรียกพยานตามที่ กกต. เสนอไป อย่างไรก็ตามกกต.ก็จะนำความคิดเห็นไปปรับปรุง เพื่อให้ได้ผลสำเร็จ
ขณะที่ นายบุญส่ง น้อยโสภณ กกต. ด้านกิจการสืบสวนสอบสวนและวินิจฉัย กล่าวว่าผลการประชุม 8 ครั้งที่ผ่านมา ได้ข้อสรุปตรงกันว่า การปราบปรามการทุจริตการเลือกตั้งให้ได้ผลต้องปรับปรุงระบบการสืบสวนสอบสวน และการดำเนินคดีในศาลให้มีความกระชับและรวดเร็วยิ่งขึ้น โดยมีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญให้อำนาจ กกต.ในการโยกย้ายเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีพฤติกรรมไม่เป็นกลางออกนอกพื้นที่ในช่วงเลือกตั้ง รวมทั้งดำเนินการทางวินัยได้ แก้ไขปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การสอบสวนของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง เป็นไปโดยรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ เช่น ให้พนักงานสืบสวนสอบสวนของสำนักงานกกต. เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มีอำนาจในการตรวจค้น ยึด หรือ อายัด เอกสาร ทรัพย์สิน หรือพยานหลักฐานอื่น ที่ใช้ในการกระทำผิดให้พยานในคดีเลือกตั้งได้รับการคุ้มครองและให้อำนาจ กกต. ในการกันบุคคลไว้เป็นพยาน และจ่ายเงินรางวัลนำจับแก่ผู้ชี้เบาะแส รวมทั้งการเพิ่มโทษผู้กระทำผิดกฎหมายเลือกตั้งให้รุนแรงขึ้น ในการดำเนินคดีเลือกตั้งให้ศาลใช้สำนวนของ กกต. เป็นหลักในการพิจารณาคดี และให้ศาลมีอำนาจให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งชดใช้จ่ายในการเลือกตั้งและดำเนินคดีอาญาในคดีเดียวกันกับการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังมีความเห็นเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมาผู้บริหารท้องถิ่นส่วนใหญ่จะลาออกก่อนครบวาระ เพื่อเอาเปรียบคู่แข่งหรือหลีกเลี่ยงการกระทำผิดต่อกฎหมาย อันเป็นผลให้สิ้นเปลืองงบประมาณในการจัดการเลือกตั้งเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ ควรจะมีกฎหมายห้ามบุคคลดังกล่าวลงสมัครรับเลือกตั้งในครั้งต่อไป และในกรณีที่ศาลรับคำร้องของกกต. ไว้พิจารณาควรให้ผู้บริหารท้องถิ่นหยุดปฏิบัติหน้าที่ทั้งคณะ การให้รองนายกรักษาการ เช่น ในปัจจุบันทำให้การลงโทษทางกฎหมายไม่มีผลและนักการเมืองไม่เกรงกลัว
ด้านนายศรีอัมพร ศาลิคุปต์ ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกากล่าวบรรยายเรื่อง "ข้อสังเกตและข้อเสนอแนะในการพิจารณาคดีเลือกตั้ง" ตอนหนึ่ง ว่า กรอบแนวคิดของกระบวนการยุติธรรม จะไม่ตีความขยายอำนาจของตัวเอง เพื่อที่จะพิจารณาคดีอื่น การทำคดีในศาลฎีกาจะไม่กระจายคดี แต่จะใช้อำนาจตามกฎหมายที่กำหนดเท่านั้น สิ่งที่ควรระมัดระวังที่สุดคือ ความเป็นกลางทางการเมือง และตกไปอยู่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ซึ่งการพิจารณาคดีเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ประธานศาลฎีกา จะเป็นผู้สั่งจ่ายคดี เพื่อให้เกิดการตรวจสอบป้องกันการกำหนดตัวผู้พิพากษา เพื่อความเป็นกลางในการทำคดี จึง พยายามกระจายสำนวนไม่ให้ตกกับใครคนใดคนหนึ่ง
นอกจากนี้เห็นว่า ร่างรัฐธรรมนูญที่ตกไปที่มีข้อเสนอเกี่ยวกับการฟ้องคดีเลือกตั้งของ กกต. โดยให้กกต. เอาคดีอาญา คดีเพิกถอนสิทธิเลือก (ใบเหลือง-ใบแดง) และคดีแพ่ง มารวมฟ้องในสำนวนเดียวกัน และให้ใช้ระบบการไต่สวนเหมือนกันนั้น เป็นหน้าที่ของกกต.ที่จะผลักดันให้บรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ส่วนการที่จะเพิ่มอำนาจ กกต.ให้มีหมายเรียก หมายค้น หมายจับนั้น ตนเห็นว่า น่าส่งเรื่องให้ศาลเป็นผู้ดำเนินการ ขณะที่ปัญหาการข่มขู่พยาน ตนเห็นว่า ฝ่ายผู้บริหารจำเป็นต้องหามาตรการแก้ไขเพื่อไม่เกิดปัญหา
ด้านนายรุ่งเรือง ลำพองชาติ ผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ กล่าวว่า การส่งสำนวนเรื่องร้องเรียนของ กกต.ไปยังศาลเพื่อให้พิจารณานั้น ละเอียดเกินไป ที่จริงควรจะใส่เพียงกรอบของกฎหมาย
กำลังโหลดความคิดเห็น