xs
xsm
sm
md
lg

ดีเอสไอหลังพิงฝาต้องจับ “ธัมมชโย” สถานเดียว!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เมืองไทย 360 องศา


ในที่สุดก็เป็นความชัดเจนแล้วว่า ทางกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ต้องหาทางจับกุม พระเทพญาณมหามุณี หรือธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ผู้ต้องหาตามหมายจับในข้อหาร่วมสมคบกันฟอกเงิน ร่วมกันฟอกเงิน และร่วมกันรับของโจร เพื่อนำตัวมาส่งฟ้องต่อศาล หลังจากเมื่อวันที่ 13 มิถุนายนที่ผ่านมาได้ส่งสำนวนไปให้อัยการทั้งหมด 13 แฟ้ม จำนวนกว่าหมื่นหน้า โดยทางอัยการสูงสุดได้ขอเวลาในการพิจารณาสำนวนหนึ่งเดือนเต็มซึ่งมีกำหนดสรุปความเห็นในวันที่ 13 กรกฎาคม ว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป นั่นคือมีสามทาง 1. ให้สอบเพิ่ม 2. สำนวนสมบูรณ์ส่งฟ้องเลย และ 3. สั่งไม่ฟ้อง ซึ่งทุกทางเป็นไปได้ทั้งนั้น

หากพิจารณาเฉพาะกรณีที่ทางกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ได้ส่งสำนวนคดีดังกล่าวถึงมืออัยการโดยไม่มีผู้ต้องหาจำนวน 2 คน (คนหนึ่งหนีไปต่างประเทศ ส่วนอีกคนหนึ่ง คือ ธัมมชโย ยังดื้อแพ่งไม่ยอมให้จับกุม) ส่วนสามคนที่เหลือถูกจำคุกหนึ่งส่วน ที่เหลือได้ประกันตัวชั่วคราว ก็ต้องมาโฟกัสกันเฉพาะกรณีของธัมมชโย ที่ตามขั้นตอนแล้วดีเอสไอจะต้องหาทางนำตัวไปปรากฏตัวต่อศาลในวันส่งฟ้อง หากไม่ได้ตัวก็ต้องเลื่อนฟ้องเฉพาะบุคคลออกไปก่อน จนกว่าจะได้ตัวมาเหมือนกับเป็นการจำหน่ายคดีชั่วคราว

น่าสนใจก็คือ ทางดีเอสไอได้ส่งสำนวนคดีต่ออัยการสูงสุดพิจารณาตั้งแต่วันที่ 13 มิถุนายน ก่อนที่จะถึงกำหนดนัดหารือสามฝ่าย คือ ดีเอสไอ พระเทพรัตนสุธี เจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี ในฐานะผู้บังคับบัญชาทางสงฆ์โดยตรง สมศักดิ์ โตรักษา ทนายความวัดปากน้ำภาษีเจริญ ในฐานะตัวแทนผู้ประสานงานวัดพระธรรมกาย และสมเกียรติ ธงศรี ผู้อำนวยการสำนักเลขาธิการสมาคม โดยการประชุมสามฝ่ายดังกล่าว มีขึ้นในวันที่ 14 มิถุนายน ซึ่งก็เป็นไปตามความคาดหมาย คือ “ไม่ได้เรื่องได้ราว” อะไร

เพราะหากจำกันได้เมื่อสัปดาห์ก่อน ก็มีการนัดหมายประชุมมาครั้งหนึ่งแล้ว แต่ก็ไม่ได้ข้อสรุป มีการตั้งเงื่อนไขจากฝ่ายผู้ต้องหา และฝ่ายเจ้าคณะจังหวัดก็อ้างว่าไม่เกี่ยวกับทางสงฆ์ จนต้องเลื่อนมาวันที่ 14 มิถุนายนดังกล่าว

อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาจากความเคลื่อนไหวล่าสุดของทางฝ่ายกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ที่ตีดสินใจส่งสำนวนฟ้องผู้ต้องหาทั้ง 5 รายต่ออัยการสูงสุดไปก่อน โดยที่ยังไม่ได้ตัวผู้ต้องหาสองราย ซึ่งหนึ่งในนั้น คือ ธัมมชโย คงอ่านเกมขาดแล้วว่า หากรอผลการเจรจาก็คง “เสียเวลาเปล่า” มองออกว่าการเจรจาดังกล่าวเป็นเพียงการยื้อเวลาออกไปเรื่อยๆ

แต่ขณะเดียวกัน การยื้อเวลาออกไปดังกล่าว โดยที่ทางฝ่ายดีเอสไอยอมผ่อนปรนออกไปเรื่อย ๆ มันก็ยิ่งทำให้ดีเอสไอเสียหาย โดยเฉพาะการถูกสังคมมองว่า “ไร้น้ำยา” ไม่สามารถบังคับใช้กฎหมาย และยังเสี่ยงต่อการถูกดำเนินคดีเสียเอง “ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่” และยังส่งผลกระทบลามไปถึงรัฐบาล และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อีกด้วย

มองอีกด้านหนึ่งก็ชัดเจนเช่นกันว่า ทางฝ่ายธัมมชโยไม่มีทางมอบตัวแน่นอน มีแต่การหาทางยื้อคดีออกไปเรื่อยๆ โดยอ้างอาพาธ ขณะเดียวกัน ก็ปฏิเสธให้คณะแพทย์จากภายนอกเข้าไปตรวจอาการ

ดังนั้น ถ้าให้สรุปนาทีนี้ก็คือ ถึงเวลาที่ทางฝ่ายกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) จะต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเต็มที่เสียที หากฟังจากคำพูดของ พ.ต.ท.สมบูรณ์ สาระสิทธิ์ รองอธิบดีดีเอสไอกล่าวว่า ต่อจากนี้ก็เหลือเพียงการเข้ามอบตัว โดยต้องประสานงานกับอัยการไปมอบตัวที่ศาล กับอีกทางหนึ่งคือถูกจับกุม ซึ่งเป็นไปตามแนวปฏิบัติปกติของหมายจับ และหมายจับก็ยังจะมีผลบังคับใช้อยู่ถึง 15 ปี ซึ่งเงื่อนไขการมอบตัวแล้ว จะได้รับการประกันตัวไม่มีอยู่อีกแล้ว การทำหน้าที่ของคณะทำงานชุดนี้เป็นการทำหน้าที่เกี่ยวกับการเจรจาเพื่อให้พระธัมมชโยเข้ามอบตัวรับทราบข้อกล่าวหา สำหรับการบังคับตามหมายจับจะเป็นคนทำหน้าที่คนละส่วนกัน

“สำนวนพ้นจากชั้นพนักงานสอบสวนไปแล้ว ขณะนี้รอแต่เพียงว่าทางอัยการจะมีความเห็นทางคดีอย่างไร หากมีความเห็นสั่งฟ้อง อัยการจะฟ้องเฉพาะผู้ที่มีตัวอยู่เท่านั้น ส่วนผู้ต้องหาตามหมายจับที่ยังไม่ได้ตัวไป ทางอัยการจะยังไม่ฟ้องต่อศาล หรือหากอัยการมีความเห็นสั่งฟ้องครบทั้งหมด 5 ราย ก็จะสั่งการให้ทางดีเอสไอส่งตัวผู้ต้องหาไปให้”

ขณะที่ พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีดีเอสไอ กล่าวว่า หลังจากนี้จะดำเนินการตามมาตรการอื่นๆ ประกอบด้วย มาตรการที่ 1 การทำแผนปฏิบัติการตามหมายจับ 2. มอบหมายจับขยายอำนาจให้ตำรวจและฝ่ายปกครอง ช่วยจับกุม 3. ทำหนังสือถึงฝ่ายปกครองคณะสงฆ์ทุกระดับ 4. ใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิอาญา) มาตรา 189 เอาผิดต่อผู้ให้ที่พักพิงหรือช่วยเหลือก็จะถูกดำเนินคดี และ 5. เร่งรัดการดำเนินคดีให้เสร็จโดยเร็ว

“การดำเนินการตามหมายจับ ดีเอสไอจะดำเนินการไปตามสถานการณ์ ส่วนกรณีที่สงฆ์ไม่สามารถนำตัวพระธัมมชโยเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ทราบว่ามีผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษฐานเป็นเจ้าพนักงานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่แล้ว ในส่วนการประสานงานทางสงฆ์ สำหรับดีเอสไอถือว่ายุติลงแล้วเช่นกัน”

จากคำพูดของอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ และรองอธิบดีดังกล่าว ทำให้เกิดความชัดเจนว่าต่อไปนี้ดีเอสไอจะทำตามหน้าที่ตามกฎหมาย และธัมมชโยที่เป็นต้องหาตามหมายจับมีทางเลือกแค่สองทางคือ หนึ่งจะมอบตัว หรือถูกจับกุม และยังแสดงให้เห็นอีกว่าต่อไปนี้หากใครขัดขวางหรือช่วยเหลือให้ที่พักพิงผู้ต้องหาจะมีความผิดตามกฎหมายอีกด้วย

ท่าทีแบบนี้ถือว่าชัดเจนและเข้มข้นแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน และฝ่ายที่จะ “หนาว” ในเวลานี้น่าจะเป็น “ธัมมชโย” เพราะต้องอยู่อย่างหวาดผวา ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่เจ้าหน้าที่จะบุกเข้ามาจับกุมเมื่อไหร่ ส่วนวิธีการใช้ “โล่มนุษย์” นั้น ก็อาจจะทำได้ แต่คนพวกนี้ก็มีความเสี่ยงต่อการถูกดำเนินคดีอาญาตามมาในหลายข้อหาอีก และที่สำคัญ คำพูดของอธิบดีดีเอสไอที่บอกใบ้ว่าจะมีการ “มอบหมายจับขยายอำนาจ” ให้ตำรวจและฝ่ายปกครองช่วยจับกุม จึงเป็นที่มาของการได้เห็นความเคลื่อนไหวที่มีการประชุมร่วมกันกับฝ่ายตำรวจที่มี พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เพียงแค่นี้มันก็ผวานอนสะดุ้งทั้งคืนแล้ว

นอกจากนี้ยังมีการส่งสัญญาณออกมาอีกว่าในส่วนของทางฝ่ายสงฆ์ที่ไม่ยอมร่วมมือก็แาจถูกดำเนินคดีฐานละเว้นฯ เนื่องจากขณะนี้มีผู้ไปร้องเรียนแล้ว

ดังนั้น ถ้าบอกว่าทั้งสองฝ่ายมาถึงจุดที่ต้องเดินไปข้างหน้าแล้วจะประวิงเวลาออกไปอีกไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายธัมมชโย ยิ่งยื้อยิ่งเสียหาย ขณะที่ฝ่ายดีเอสไอก็ต้องถือว่าหลังพิงฝา หากไม่จับกุมก็มีความเสี่ยงทั้งต่อสถานะตัวเอง และยังกระทบไปถึงรัฐบาล คณะรักษาความสงบแห่งชาติ อีกทางหนึ่งด้วย ถูกมองในทางลบ ซึ่งฝ่ายหลังก็ไม่มีทางเลือกเหมือนกันต้องลุย!
กำลังโหลดความคิดเห็น