มองต่างมุมของปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในวงการพุทธศาสนา โดยเฉพาะการปลุกเสกของขลัง หรือข่าวฉาวๆ ของวงการสงฆ์ที่เกิดขึ้น “เจ้าคุณพิพิธ” ชี้เป็นยุคที่พุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองที่สุด พระสงฆ์ที่มีชื่อเสียงจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของชาติ ยันพระสงฆ์เพียงร้อยละ 0.01 ที่อาศัยความขลัง สร้างผลประโยชน์ แล้วนำพาปัญหาเข้ามา ด้าน “พระไพศาล วิสาโล” พระปฏิบัติชื่อดัง ระบุการปกครองแบบรวมศูนย์ของคณะสงฆ์ ทำให้แก้วิกฤตศาสนาไม่ได้ รวมทั้งความเหินห่างระหว่างพระกับสังคม ทำให้ตกอยู่ภายใต้วัตถุ-บริโภคนิยมได้ง่าย ส่วน นายไพบูลย์ นิติตะวัน เรียกร้องพุทธบริษัทร่วมตรวจสอบไม่ให้ภิกษุ หรือฆราวาสบิดเบือนพระธรรมวินัย ส่วน “ตุ๊กตาลูกเทพ” มีการดึงศาสนามาอ้าง!
กระแสข่าวสะเทือนวงการพุทธศาสนา ที่มีออกมาเป็นระยะ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องพระมั่วสีกา ตั้งวงดื่มสุรา ใช้รถออกเรี่ยไรในสังคม การปลุกเสกของขลัง ทำเวทมนตร์คุณไสยให้กับญาติโยมต่างๆ หรือการออกมาเดินขบวนต่อต้านทางการเมือง รวมไปถึงปมร้อนของวัดธรรมกาย ในเรื่องคำสอน แนวทางการปฏิบัติที่ขัดกับหลักพุทธ ตลอดจนการตีความเรื่องอาบัติของพระเทพญาณมหามุนี (หลวงพ่อธัมมชโย) เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ที่มีโทษปาราชิกตามพระลิขิตของสมเด็จพระสังฆราช
อีกทั้งยังมีเรื่องของการแต่งตั้ง สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ และผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ขึ้นเป็นพระสังฆราช องค์ที่ 20 ซึ่งยังอยู่ในกระบวนการพิจารณา เพราะมีฝ่ายต้านออกมาร้องเรียนถึงความไม่เหมาะสม จากบทบาทผู้ให้การสนับสนุน ส่งเสริมวัดพระธรรมกายเป็นพิเศษ รวมถึงเรื่องรถหรูโบราณ ซึ่งระบุว่าอยู่ในความครอบครองของสมเด็จช่วงนั้น ยังคงอยู่ในขั้นตอนที่ดีเอสไอกำลังเข้าตรวจสอบ
มาถึงเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นล่าสุด เมื่อช่วงเช้าวันที่ 26 มกราคม 2559 พระพรหมสุธี (เสนาะ ปัญญาวชิโร) อดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศ ที่เพิ่งถูกปลดจากกรรมการมหาเถรสมาคม และถูกสั่งพักงานในตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดสระเกศ และเจ้าคณะภาค 12 ได้ทำอัตวินิบาตกรรม ผูกคอมรณภาพในกุฏิ
แต่ที่กำลังโด่งดังในเวลานี้คือการที่พระบางรูปได้ทำการปลุกเสกตุ๊กตาลูกเทพ จนเป็นเหตุให้ผู้คนในสังคมกลุ่มหนึ่งหลงใหลและเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้จะทำให้ผู้ที่มีไว้ในครอบครองจะมีชีวิตที่ดีขึ้น ด้วยการหอบหิ้วตุ๊กตาลูกเทพไปทุกหนทุกแห่ง จนทำให้เกิดผลกระทบต่อสังคมส่วนรวมและการเป็นช่องทางให้มิจฉาชีพหรือแก๊งค้ายาใช้ในการซุกซ่อนยาเสพติดได้เช่นกัน
ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้ ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่ฉุดรั้งให้พุทธศาสนามัวหมองหรือเสื่อมถอยอย่างไร Special Scoop ได้นำเสนอมุมมองของพระสงฆ์ และผู้ที่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนา
มองต่างมุม ของขลัง กระตุ้นเศรษฐกิจ
พระราชวิจิตรปฏิภาณ (สุนทร ญาณสุนทโร) หรือ “เจ้าคุณพิพิธ” ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร มองว่า ยุคนี้เป็นยุคที่ความเจริญรุ่งเรืองด้านเศรษฐกิจโดยมีความขลัง เด่น ดัง ของพระสงฆ์ไทย เป็นที่นับถือของพุทธศาสนาในสายตานานาประเทศนั้น เป็นผู้ขับเคลื่อนให้มีการกระจายรายได้ให้คนไทยในทุกอาชีพ
ในอีกมุมมองนั้น “พระไพศาล วิสาโล” เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต ชัยภูมิ ซึ่งท่านเป็นพระนักเผยแพร่ บทความ งานเขียน ธรรมบรรยาย ที่เป็นที่รู้จักดีในปัจจุบันนั้น เห็นว่า การประพฤติปฏิบัติตนอยู่ในพระธรรมในศีล 5 นั้นเป็นตัวชี้วัดความเจริญรุ่งเรืองของพุทธศาสนา
สอดคล้องกับความเห็นของฝั่งฆราวาส “นายไพบูลย์ นิติตะวัน” อดีตประธานคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์พระพุทธศาสนา สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ปัจจัยที่ทำให้ศาสนาเสื่อมนั้น เกิดขึ้นเพราะพระสงฆ์ไม่ปฏิบัติตามพระธรรมวินัย ส่วนฆราวาสเองก็หลงใหลมัวเมาต่อกิเลส ที่ไม่ใช่หลักของพุทธศาสนา
“เจ้าคุณพิพิธ” ยุคที่พุทธศาสนาเจริญรุ่งเรือง
พระราชวิจิตรปฏิภาณ (สุนทร ญาณสุนทโร) หรือ “เจ้าคุณพิพิธ” ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร กล่าวว่า พระสงฆ์ของไทยมีลักษณะที่เด่นกว่าพระสงฆ์ทั่วโลก คือ มีความขลัง ดัง เด่น แต่เมื่อมีคนนับถือพุทธศาสนามากขึ้น ก็จะมีคนมาแอบอ้าง แอบอิง โกงกินฉ้อฉล ซึ่งนั่นไม่ใช่เรื่องของพระ
ถ้าจะมองว่าพระพุทธศาสนาไทยเสื่อมเสีย ให้ลองไปเปรียบเทียบกับพระจากประเทศเพื่อนบ้านดู ยังคงมีพระจากประเทศกัมพูชาเข้ามาบิณฑบาต เรี่ยไรในเมืองไทย พุทธศาสนาในประเทศพม่า ลาว ก็ได้อาศัยพระไทย โยมคนไทย จัดงานบุญทอดกฐิน ทอดผ้าป่า ดูแลวัด สร้างโบถส์สร้างวิหารให้ แสดงให้เห็นว่าคุณภาพของพระสงฆ์ไทย
หากจะมองว่าศาสนาเสื่อมลงนั้น เรากำลังมองกันคนละมุม เพราะในที่ใดที่มีผลประโยชน์ ที่นั่นย่อมมีผู้ฉกฉวยผลประโยชน์
ปัจจุบันศาสนาพุทธในประเทศไทยไม่ได้เสื่อม แต่เรากำลังผลิตพระสงฆ์ที่มีคุณภาพ ซึ่งในกระบวนการผลิตของเรา พระรูปไหนดีก็ดีไปในแต่ละทาง เช่น ความรู้ความสามารถดี หรือในส่วนองค์ไหนมีความขลัง มีความดังก็ไปในทางนั้น
ของขลัง กระตุ้นเศรษฐกิจ
ด้านความขลังของไทยที่ในประเทศอื่นไม่มีนั้น ยกตัวอย่างเช่น พระสมเด็จพุฒาจารย์ ที่มีมูลค่าเป็นสิบล้าน หรือเบญจภาคีหาเช่าทั้งชุดก็หาเช่าไม่ได้ สิ่งเหล่านี้เกิดจากพระสงฆ์ไทยทั้งนั้น ตั้งแต่พุทธศาสนาสมัยพระเจ้าอโศก จนกระทั่งสมัยนี้ที่ยังคงไว้และรุ่งเรืองอยู่ สิ่งนี้เกิดจากคุณภาพของพุทธศาสนา ของพระที่มีความขลัง ดัง และเด่น เสกดินก้อนเล็กๆ เท่ากล่องไม้ขีด ให้มีมูลค่าเป็นหลักร้อยล้านบาทซึ่งไม่มีที่อื่นในโลก
แต่ในอีกด้านก็มีการฉ้อฉล ปลอมแปลงสร้างพระขึ้นมา โดยคนที่เป็นพระสงฆ์ หรือจากคนที่เป็นสถานะอื่นๆ ด้านพระสงฆ์ที่ทำความเสื่อมเสียนั้น ในที่สุดก็จะหายนะไปเอง เพราะมีสื่อเป็นผู้ตรวจสอบ เช่น กรณีเณรคำ เป็นเพราะย่ามใจ ประพฤตินอกลู่นอกทางมากขึ้น เมื่อสื่อเข้ามาเป็นผู้ตรวจสอบก็ทำให้เรื่องจบลงได้ ลักษณะที่กล่าวมานี้ คือ คนที่อาศัยความขลังของพระมาเป็นของตัวเอง จุดจบสุดท้ายจึงพบกับหายนะ
พระสงฆ์ที่มีชื่อเสียงนั้นท่านไม่ต้องการอะไรจากคน เพราะท่านเป็นผู้เชื่อมต่อเศรษฐกิจของชาติ สร้างงานให้ประชาชน ตัวอย่างเช่น การสร้างโบสถ์หนึ่งหลัง ให้พิจารณาว่าใครได้ประโยชน์ พระไม่ได้ประโยชน์อะไร โบสถ์มูลค่า 10 ล้านบาท วัดที่สร้างได้เงินทำบุญเข้าวัดเพียงแค่ 30% เท่านั้น ส่วนที่เหลือเป็นรายได้ให้กับการขนส่ง การทำงานด้านศิลปวัฒนธรรมของช่างจิตรกรรม เป็นต้น
เมืองไทยหากไม่มีศาสนาพุทธ เศรษฐกิจจะไปไม่รอด ลองคิดในอีกมุมว่า คนเดินทางไปไหว้หลวงพ่อทวด จากภาคเหนือถึงภาคใต้นั้น ต้องใช้เงินเป็นหลักหมื่นบาท มีการจับจ่ายใช้สอย เติมน้ำมันรถ กินอาหาร เรียกว่าใช้เงินมาตลอดทาง เมื่อถึงวัดเหลือเงินใส่ตู้แค่ร้อยเดียว
หลวงพ่อคูณ หลวงพ่อโสธร วัดไร่ขิง พระธาตุดอยสุเทพ เกิดจากพระสงฆ์ไทยทั้งนั้น เศรษฐกิจของประเทศไทยขับเคลื่อนได้เพราะพุทธศาสนา
ส่วนเรื่องของวัดพระธรรมกายนั้น ไม่ต้องนำมาพูดกัน เพราะถ้าไม่ใช่เรื่องจริง เรื่องถูกต้อง ที่สุดก็จะหายนะไปเอง
ดังนั้นคำว่าพุทธศาสนาเสื่อมนั้นยังไม่เสื่อมแน่นอน แต่กลับรุ่งเรืองจนถึงขนาดที่ประเทศจีน ฮ่องกง สิงคโปร์ มาเลเซีย เดินทางมาเช่าพระพิมพ์ที่วัดราชนัดดา ไปจำหน่ายจนร่ำรวยตามๆ กัน นี่เป็นสิ่งที่ชี้ให้เห็นว่า พุทธศาสนาในประเทศไทยมีความรุ่งเรืองมากจนถึงขนาดที่ว่าประเทศอื่นต้องอาศัยในความศรัทธาของที่นี่
คำตอบสำหรับพุทธพาณิชย์ คือ พุทธศาสนาสร้างพาณิชยกรรมให้กับประเทศดังที่กล่าวมา แม้แต่การจัดงานวัดแต่ละครั้ง สร้างรายได้ให้คนขายของ ขายอาหาร ตามธรรมเนียมพุทธศาสตร์กล่าวไว้ว่า งานวัดต้องดำรงไว้ โดยไม่มีการแสดงอนาจาร หรือการจำหน่ายสุรา ก็ต้องไปนอกวัด
การจัดงานศพ งานบวช หากไม่มีพุทธศาสนา ก็จะไม่สร้างงาน ทั้งคนปลูกดอกไม้ ร้านจัดดอกไม้ คนเขียนป้าย มอเตอร์ไซค์ส่งพวงหรีด ทำอาหาร การละเล่นปี่พาทย์ จึงอยากให้ลองไปคิดดูใหม่ในเชิงวิชาการ เพียงแค่งานศพ งานฉลองสมณศักดิ์ของพระผู้ใหญ่ มีเม็ดเงินที่กระจายสู่คนในแต่ละอาชีพมากเท่าไร ซึ่งพิธีกรรมเหล่านี้ในต่างประเทศไม่มี
วงการสงฆ์ไม่มีคอร์รัปชัน
ส่วนเรื่องคอร์รัปชันในวงการสงฆ์นั้นไม่มีทางเกิดขึ้นได้ เพราะมีกฏเกณฑ์ว่า เงินที่เข้าวัดจะต้องมีไวยาวัจกร 3 คน (ด้านกฎหมาย การเงิน และด้านโยธา) ที่คอยดูแล ซึ่งเป็นฆราวาส และมีกรรมการเป็นผู้รับเงินไปฝากไว้ที่ธนาคาร หากสมภารจะเบิกเงินมาใช้ในกิจการใดในวัด ต้องให้ไวยาวัจกรเป็นผู้เซ็นรับรอง สมภารจะไม่มีสิทธิ์จับต้องเงินเลย เวลาออกเทศน์คนทำบุญมาก็จะใส่ย่ามให้พระ ซึ่งจะนำมาให้ฆราวาสที่มาขอเงินไปเพื่อกิจการต่างๆ เช่น สร้างสะพาน สร้างโรงเรียนบ้าง ดูตัวอย่างจากหลวงพ่อจรัญ ที่ท่านบริจาค 50 ล้านบาทช่วยโรงพยาบาลศิริราชสร้างตึกใหม่
“ไม่มีการคอร์รัปชันหรอก เป็นสิ่งที่นำมาโจมตีกันไปโดยคิดเอาเอง พระคอร์รัปชันไม่ได้เพราะมีกระบวนการกำหนดไว้แล้ว พระไม่เอาเงินที่ได้มาไปทำอย่างอื่น นอกจากช่วยเหลือคน เพราะท่านรู้ว่าทุกวันนี้ก็อยู่ดี กินฟรีแล้ว โยมถวายมาก็จะเก็บสะสมถ้าเป็นพระอายุน้อยนำไปเรียนหนังสือ เลี้ยงพ่อเลี้ยงแม่ เมื่อตั้งตัวได้ก็เก็บสะสมไปสร้างวัด สร้างโรงเรียน”
พระรวยก็ไม่มีในโลก เพราะกฎหมายบังคับไว้ว่า เมื่อมรณภาพไปแล้วทุกอย่างจะเป็นของพุทธศาสนา พระ เณรนั้น คิดอย่างเดียวว่า จะนำเงินไปทำอะไรในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ ยิ่งขลังมากดังมาก ก็จะหาทางช่วยคน พระดีอย่างหลวงพ่อคูณ มีคนเลื่อมใสมาก มีคนทำบุญมาก ก็จะนำเงินไปช่วยสร้างวัด โรงเรียน ถนน สะพาน ส่วนพระรูปที่ไม่มีก็คิดหาทาง พระที่มีก็หาวิธีจัดสรรนำเงินมาใช้ประโยชน์ ช่วยเหลือในที่เดือดร้อน ดังนี้จึงมองว่าศาสนาไม่เสื่อม ในขณะนี้คนที่แบกประเทศชาติไว้ คนที่พัฒนาการศึกษา เศรษฐกิจสังคม ทุกอย่างนี้ คือ พระ
ส่วนที่มีข่าวไม่ดีออกไปนั้น อาจจะมีบางรูปที่แตกต่างจากนี้ ซึ่งก็จะเป็นการทำลายตัวเอง กรรมจะตามทันทุกรูป ดังนั้นหากมีพระสงฆ์ที่แปลกปลอมมา ประพฤติไม่ดี ก็อย่านำมาเป็นเรื่อง หากสื่อไปให้ความสำคัญก็จะตกเป็นเครื่องมือของคนที่ไม่หวังดีกับพุทธศาสนา เพราะพระในรูปแบบนี้มีเพียงร้อยละ 0.01 ที่อาศัยความขลัง ดี เด่น สร้างผลประโยชน์ แล้วนำพาปัญหาเข้ามาในที่สุด
พุทธศาสนาในประเทศไทยนั้นจะเห็นได้ว่า พระทั่วโลกเมื่อเจอพระไทยเค้ากราบหมด เพราะถือว่าพระไทยศักดิ์สิทธิ์ ทำประโยชน์มากที่สุดในโลก พระไทยทุกรูปคิดและประพฤติอยากช่วยคน มีภาระต้องรับผิดชอบกับสังคม ดังจะเห็นได้จากการที่ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์
การปกครองแบบรวมศูนย์แก้วิกฤตสงฆ์ได้ยาก
ด้าน “พระไพศาล วิสาโล” เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต ชัยภูมิ กล่าวว่า ความเสื่อมของพุทธศาสนา ทำให้มีข่าวจากวงการพระรายวันนั้น เกิดจากพระสงฆ์ไม่สามารถเข้ากับการเปลี่ยนแปลงของสังคมได้
เพราะฉะนั้น สิ่งที่เคยทำก็ยังคงทำต่อไป แต่ไม่เหมาะสมกับยุคสมัย โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้าง ซึ่งปัจจุบันโครงสร้างระบบการปกครองของสงฆ์ไทยเป็นการปกครองแบบรวมศูนย์ ระบบแบบนี้จึงไม่มีประสิทธิภาพในการปกครอง และยังทำให้การศึกษาของพระสงฆ์อ่อนแอ พระบางส่วนไม่ได้รับการอบรมกล่อมเกลา ไม่มีความรู้ทางธรรมะ ไม่สนใจเรื่องสมาธิภาวนา และขาดภูมิคุ้มกัน
ดังนั้นเมื่อมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในส่วนการปกครองของคณะสงฆ์ที่เป็นแบบรวมศูนย์ ก็ทำให้ไม่สามารถแก้ปัญหาที่ยิบย่อยลงไปได้ เวลามีเรื่องอะไรจึงโยนกันไปมาตั้งแต่ เจ้าคณะอำเภอ รอเจ้าคณะตำบล เจ้าคณะจังหวัด รอเจ้าคณะภาค รอมหาเถรสมาคม เป็นต้น
ประการต่อมา เกิดจากปัญหาที่พระใกล้ชิดรัฐบาลมากเกินไป นับวันจะยิ่งมีความใกล้ชิดมากขึ้น การที่คณะสงฆ์มีความสัมพันธ์กับรัฐใกล้ชิดเกินไปจนเหินห่างจากสังคม ทำให้คณะสงฆ์ไม่เป็นตัวของตัวเอง ได้แต่เอนเอียงตามอำนาจของบ้านเมือง ไม่ค่อยตอบสนองต่อปัญหาที่เกิดขึ้นกับสังคม ไม่สนใจความทุกข์ยากเดือดร้อนของพุทธศาสนิกชน และเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น มักจะให้รัฐบาลช่วยอุดหนุนคณะสงฆ์ แต่ไม่ได้คิดว่าสังคมจะมีส่วนร่วมอย่างไรบ้าง
ด้วยเหตุผลนี้ทำให้พระสงฆ์กลายเป็นส่วนหนึ่งของราชการไปโดยปริยาย แตกต่างจากในอดีต ที่พระในชนบทเป็นที่พึ่งพาของชาวบ้าน พระสงฆ์กล้าท้วงติงผู้ปกครอง เพราะไม่ได้มีผลประโยชน์ผูกพันและไม่ได้รับการอุปถัมภ์
ซึ่งทำให้เกิดปัญหาตามมา คือ ความเหินห่างระหว่างพระกับสังคม และคนในสังคมตกอยู่ภายใต้วัตถุ เป็นบริโภคนิยม
“ปัญหาทุกวันนี้เกิดจากบริโภคนิยม วัตถุนิยมทั้งนั้น ไม่มีเรื่องอื่น ดังนั้นการจะดูว่าศาสนาเจริญรุ่งเรืองหรืออย่างไร ต้องดูที่พฤติกรรมของคนไทยว่า ศีล 5 เป็นอย่างไร ทุกวันนี้มีปัญหามากมาย เช่น อาชญากรรม คอร์รัปชัน การฆ่ากัน แม้แต่การที่ผู้คนมีความสัมพันธ์ทางเพศโดยไม่รับผิดชอบ ทำให้เกิดปัญหาเด็กท้องไม่มีพ่อ หรือทิ้งลูกให้เป็นเด็กกำพร้า”
นอกจากนี้หากนำศีล 5 มาจับพฤติกรรมของชาวพุทธไทยจะพบว่า ล้าหลังเสื่อมถอย เพราะหากไม่มีคอร์รัปชัน บ้านเมืองจะเจริญไปกว่านี้อีกมาก และหากทุกคนมีศีล 5 จะเป็นสิ่งที่ชี้วัดความเจริญของพุทธศาสนาได้ดีมากกว่าความเจริญทางด้านวัตถุนิยม
สงฆ์และฆราวาส ตัวการฉุดศาสนาเสื่อม
ด้าน “นายไพบูลย์ นิติตะวัน” อดีตประธานคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์พระพุทธศาสนา สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวถึงปัจจัยสำคัญที่ทำให้ศาสนามัวหมอง คือ การที่พุทธบริษัท โดยเฉพาะพระภิกษุละเลย ไม่ปฏิบัติตามพระธรรมวินัย และบิดเบือนคำสอนของพระพุทธองค์ เป็นปัจจัยที่ทำให้เสื่อม ซึ่งพระพุทธองค์ได้เล็งเห็นว่าจะเกิดปัญหานี้ จึงให้ยึดพระธรรมวินัยเป็นศาสดาแทนพระองค์ และให้พุทธบริษัท 4 ร่วมกันดูแล
ดังนั้นการเสื่อมที่เกิดขึ้นมานั้น น่าจะเกิดจากพระภิกษุเป็นต้นเรื่อง เพราะเมื่อละเลย ไม่ประพฤติตามพระธรรมวินัย และบิดเบือนคำสอน ก็จะมอมเมาให้อุบาสก อุบาสิกา ที่ไม่รู้ในพระธรรมวินัยก็หลงใหลมัวเมาไปในเรื่องที่ไม่ใช่พุทธ เช่น การมัวเมาในเรื่องบุญที่เป็นพุทธพาณิชย์ ไม่ใช่ของพระพุทธศาสนา พระสงฆ์ที่ฝ่าฝืนพระธรรมวินัยนั้น โดยปกติความต้องการขอบวชในพุทธศาสนานั้น ต้องมีเจตจำนงที่จะละเลิกแล้วซึ่งกิเลสและแสวงหาหนทางแห่งการพ้นทุกข์ กลับกลายเป็นฝ่าฝืนพระธรรมวินัย โดยบวชมาเพื่อแสวงหาทรัพย์สินเงินทอง ความร่ำรวย ลาภ ยศ สรรเสริญ สมณศักดิ์ และการสรรเสริญเยินยอ ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนพระธรรมวินัยซึ่งเป็นหัวใจหลัก
โดยเฉพาะที่พระพุทธองค์ได้ทรงบัญญัติไว้ว่า ภิกษุต้องไม่รับและยินดีในทรัพย์สินเงินทอง เพื่อไม่ยึดติดในกิเลส ทรัพย์สินเงินทองเมื่อมีมาแล้วเป็นที่มาของกองทุกข์ ทั้งความโลภ ความโกรธ ความหลง เมื่อภิกษุไม่ได้มุ่งอยู่ในพระธรรมวินัย ไม่แสวงหาความหลุดพ้นที่แท้จริง แต่กลับเห็นช่องทางในการอาศัยศรัทธาในพระพุทธศาสนา ไปแสวงหาทรัพย์สิน เงินทอง และบิดเบือนพระธรรมวินัย เพราะคิดว่าทำได้ เช่น อ้างว่าไม่สามารถจะขัดศรัทธาได้
แต่จริงๆ แล้วเป็นเพราะมีความอยากได้ อยากมี อยากร่ำรวย มียศถาบรรดาศักดิ์ จึงทำให้ภิกษุเหล่านั้นเป็นอลัชชี คือฝ่าฝืนพระธรรมวินัย จึงเป็นที่มาของความเสื่อมของพระพุทธศาสนา
ในส่วนของฆราวาสที่ทำให้ศาสนาเสื่อม เกิดจากการร่วมกับภิกษุที่เป็นอลัชชีแสวงหาผลประโยชน์เข้าตนเอง เอาศรัทธามาเป็นการค้า เนื่องจากฆราวาสจะทำฝ่ายเดียวก็คงไม่สำเร็จ จึงต้องเป็นการร่วมมือกันระหว่างภิกษุที่เป็นอลัชชีกับฆราวาส
สำหรับกรณีลูกเทพที่กำลังเป็นกระแสนิยมนั้นไม่ใช่เป็นเรื่องของศาสนา แม้ใครจะอ้างว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ก็ถือว่าเป็นความเชื่อ หลงใหล งมงายในส่วนตัวของคนนั้น ยกเว้นแต่ว่าจะมีการเอาไปปลุกเสกโดยภิกษุ จึงเริ่มจะเข้าสู่การเอาศาสนามาอ้าง มาบิดเบือน พระพุทธเจ้าไม่มีการสอนเรื่องเดรัจฉานวิชาเช่นนี้ เรื่องลักษณะนี้ต้องแยกเป็นเรื่องๆ เช่นการทรงเจ้า ก็ไม่ได้เกี่ยวกับพุทธ แต่ถ้าเอาศาสนาไปอ้างเช่น เรื่องการปลุกเสกพระเครื่อง หรือพุทธพาณิชย์อื่นๆ ซึ่งเกี่ยวกับวัด เกี่ยวกับพระภิกษุ รวมทั้งการอ้างบิดเบือนเรื่องบุญบาปที่ไม่ตรงกับพระธรรมคำสอน ถือว่าเกี่ยวข้องกับความเสื่อมในพุทธศาสนาทั้งสิ้น
ดึงพลังพุทธบริษัทปกป้องพระธรรมวินัย
วิกฤตศรัทธาในวันนี้เกิดจากภิกษุอลัชชีที่มีเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตามพุทธบริษัททั้งหลายควรต้องตระหนักให้ดีว่า ภิกษุเหล่านั้นไม่ใช่ตัวแทนของพุทธศาสนา ตัวแทนของศาสนาพุทธนั้นพระพุทธองค์กล่าวไว้ว่าคือพระธรรมวินัย จะเห็นว่าพระธรรมวินัยที่บริสุทธิ์เป็นแก่นแท้ของพระพุทธองค์ยังคงเป็นที่ศรัทธาของพุทธบริษัทที่รู้ถ่องแท้ในเรื่องนี้ ความเสื่อมดังที่กล่าวมาเป็นเพราะภิกษุอลัชชี และฆราวาสที่ให้ความร่วมมือ แอบอ้างศาสนา พระธรรมวินัย
วิธีแก้คือพุทธบริษัทต้องสนใจ และศึกษาแก่นแท้ของพระธรรมวินัยให้เข้าใจอย่างแท้จริง ซึ่งในปัจจุบันมีเทคโนโลยีสารสนเทศ และการเผยแพร่ข้อมูลทางดิจิตอล ทำให้สามารถศึกษาได้อย่างลึกซึ้ง กว้างขวางและเข้าถึงง่ายกว่าในอดีต และเมื่อศึกษาได้เข้าใจอย่างแท้จริงแล้ว ก็ต้องนำมาปฏิบัติ
รวมทั้งพุทธบริษัทเองต้องร่วมกันตรวจสอบไม่ให้ภิกษุ หรือฆราวาสบิดเบือนพระธรรมวินัย นำไปใช้เป็นช่องทางหาประโยชน์ ไม่ควรปล่อยให้การแก้ไขเป็นหน้าที่ของคณะสงฆ์แต่เพียงฝ่ายเดียว เพราะการจัดการกันเองในหมู่สงฆ์นั้นเป็นความยากลำบาก จะทำได้ก็เพียงเฉพาะในสมัยพุทธกาลเท่านั้น หลังจากนั้นในทุกเหตุการณ์ของศาสนาต้องมีฆราวาสเข้ามาช่วยในการตรวจสอบจัดการทั้งสิ้น ตั้งแต่สมัยพระเจ้าอโศกมาจนถึงรัชกาลที่ 1 รัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 การจัดการกันเองนั้นพระภิกษุที่เป็นอริยสงฆ์ก็จะเมตตาปล่อยวางไม่จัดการอลัชชีอย่างเด็ดขาด
กระทั่งอลัชชีขยายอำนาจ ใช้ทรัพย์สินเงินทอง สมณศักดิ์มาเป็นเครื่องมือขยายเครือข่ายยึดครองสังฆมณฑล รวมทั้งใช้วาทกรรม เรื่องของสงฆ์ ฆราวาสไม่เกี่ยว พระอริยสงฆ์ที่ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบจะถูกกีดกันออกมาจากวงจร อำนาจการปกครอง อาจจะมีส่วนน้อยที่เข้าไปได้ แต่ก็ติดข้อจำกัด ไม่อยากทำอะไรให้กระทบกระเทือนคณะสงฆ์ จึงต้องวางเฉย ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของฆราวาสที่เข้ามาช่วยจัดการ
ความแตกต่างระหว่างการจัดการในประวัติศาสตร์กับปัจจุบัน มีทั้งส่วนที่ยากและง่าย ในอดีตจะมีอำนาจฝ่ายอาณาจักรที่เด็ดขาด(อำนาจรัฐ) ซึ่งสามารถจัดการให้ปัญหาต่างๆ ลุล่วงได้ ปัจจุบันนี้ฝ่ายอาณาจักรอ่อนแอลง ไม่ค่อยเข้ามายุ่งกับฝ่ายสงฆ์ แต่จุดแข็งของปัจจุบันคือการเรียนรู้ การศึกษาในพระธรรมวินัยของพุทธบริษัท ซึ่งมีจำนวนมหาศาล สามารถเข้าถึงได้ง่ายกว่าในอดีต ถ้าพุทธบริษัทมีการตื่นตัวกันเป็นจำนวนมาก ได้เรียนรู้พระธรรมวินัย ได้รู้เท่าทันก็สามารถแยกแยะและเข้าใจทั้งพระธรรม และหน้าที่ซึ่งพระพุทธองค์ได้มอบไว้ให้
โดยสรุปแล้วแก่นแท้ของศาสนานั้นก็คือพระธรรมวินัย ที่ให้แสวงหาการหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวง ดังที่ท่านพุทธทาสกล่าวไว้ว่าแก่นแท้ของศาสนาคือ “สุญญตา” นั่นคือความว่าง ปล่อยวางซึ่งรัก โลภ โกรธ หลงทั้งสิ้น