“สปช.ไพบูลย์” ซัดทนายยื่นผู้ตรวจสอบ กมธ.ยกร่างฯ นั่ง สปช.ลงมติ รธน.เป็นขบวนการล้มร่าง ละเมิดสิทธิ สปช. ยก รธน.คุ้มครองใช้สิทธิได้ ร้องได้แต่ไร้ผลทางกฎหมาย แฉคนใน สนช.ชักใย ย้อนยุ่งตั้งแต่ปมอายุ สปช. พร้อมสืบมีใครบ้าง
วันนี้ (31 ส.ค.) ที่รัฐสภา นายไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงกรณีที่นายเฉลิมศักดิ์ กาญจนศิราธิป ทนายความ ยื่นหนังสือต่อนายศรีราชา วงศารยางกูร ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ให้ดำเนินการวินิจฉัย กมธ.ยกร่างที่เป็น สปช.ที่จะลงมติรับร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 6 ก.ย.สามารถทำได้หรือไม่ว่า เรื่องดังกล่าวเป็นการดำเนินการที่มีขบวนการเกี่ยวข้องกับการล้มร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้การแสดงความเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับร่างฯนั้นเป็นเอกสิทธิ์ของ สปช.ย่อมทำได้อย่างเต็มที่ แม้กระทั่งยื่นหนังสือฟ้องศาลรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับคำปรารภก็สามารถทำได้ แต่การที่จะล่วงละเมิดเอกสิทธิ์ของ สปช.นั้น ตนมองว่าไม่สมควรและเห็นว่าขบวนการเคลื่อนไหวเรื่องนี้เป็นการเคลื่อนไหวที่ไม่ตรงไปตรงมา ต้องการขยายอำนาจและสร้างความสุ่มเสียงแก่ คสช. และไม่เป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติ
“ถ้าใช้กฎเกณฑ์เดียวกับคนไปร้องนั้นใน สนช.มีการพิจารณาในกฎหมายหลายเรื่อง รวมทั้งกฎหมายงบประมาณด้วยที่แจกจ่ายแก่ตนเองในองค์กรต่างๆ นอกจากนี้ การที่ สปช.ไปใช้สิทธิในการเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 6 ก.ย. ไม่ใช่เป็นการใช้สิทธิที่สิ้นสุด ถ้าไม่เห็นชอบถือว่าจบแต่ถ้าเห็นชอบจะต้องส่งให้ประชาชนออกเสียงประชามติอีกขั้นหนึ่ง ส่วนกระบวนการที่กล่าวว่าเป็นกระบวนการทับซ้อนนั้น ผมมองว่าเป็นการอ้างและใส่ร้ายซึ่งกันและกัน เรื่องนี้ผมทราบมีเบื้องหลังหลายประการเกี่ยวกับบุคคลซึ่งอยู่ใน สนช. ขอฝากว่าถ้าจะทำเรื่องอื่นทำไป แต่ถ้าจะล่วงละเมิดเอกสิทธิ์ของสมาชิก สปช. อย่าทำ” นายไพบูลย์กล่าว
นายไพบูลย์กล่าวอีกว่า ขบวนการนี้ไม่ใช่บุคคลที่อยู่ใน สปช. แต่อยู่ใน สนช. แต่จะเกี่ยวข้องอย่างไรต้องไปสอบสวนดู บางท่านอาจรู้เห็นในเรื่องนี้หรือไม่นั้นไม่ทราบ ขอให้สื่อมวลชนไปตรวจสอบ ซึ่ง สนช.ไม่ได้ยุ่งเฉพาะเรื่องนี้เท่านั้น แต่เรื่องการสิ้นสุดวาระการทำงานของ สปช.ก็เป็นอีกเรื่องที่กลุ่มเดียวกันมีส่วนเกี่ยวข้อง
นายไพบูลย์กล่าวต่อว่า ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 มาตรา 18 วรรคแรก เป็นเรื่องของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เชื่อมโยงกับมาตรา 31 วรรคท้ายซึ่งเป็นเรื่องของ สปช.ในการให้สิทธิในการออกเสียงลงมติไม่สามารถฟ้องร้องได้เนื่องจากเป็นเอกสิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ การใช้สิทธิออกเสียงลงมติดังกล่าวของ สปช.ที่เป็น กมธ.ยกร่างฯ ด้วยนั้นได้รับความคุ้มครองโดยรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตาม สามารถยื่นหนังสือร้องเรียนได้แต่ผลจะเป็นไปตามกฎหมายไม่ได้เพราะจะขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ
ผู้สื่อข่าวถามว่า กมธ.ยกร่างฯ มีการพูดคุยถึงทำเนียมประเพณีในเรื่องนี้หรือไม่ นายไพบูลย์กล่าวว่า สมาชิกในสภานั้นๆ ย่อมมีสิทธิออกเสียงเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบในเรื่องที่เป็นเรื่องความรับผิดชอบของสภา อันเป็นประเพณีปฏิบัติตลอด 80 ปี โดยในข้อบังคับการประชุมสภาทุกครั้งก็รับรองเอกสิทธิ์เด็ดขาด ผู้ใดจะนำไปฟ้องร้องมิได้
เมื่อถามถึงอุปสรรคที่ กมธ.ยกร่างฯ ต้องทำงานร่วมกับ สปช.เมื่อร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติ นายไพบูลย์กล่าวว่า ไม่มีปัญหา เนื่องจากสมาชิก สนช.ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีอุดมการณ์ แต่เมื่อมีการยื่นฟ้องและตนเป็นหนึ่งในสมาชิก สปช.ที่เป็น กมธ.ยกร่างฯ จึงตั้งใจจะตรวจสอบเบื้องหลังว่ามีบุคคลใดเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้บ้าง