xs
xsm
sm
md
lg

“นิรันดร์” ทำหนังสือถึงนายกฯ ขอศาลวินิจฉัย รธน.ไร้คำปรารภ “สมชาย” ร่วมหนุน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

“สปช.นิรันดร์” ทำหนังสือถึง “ประยุทธ์” ขอส่งประเด็นร่างรัฐธรรมนูญให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ชี้ไม่มีส่วนคำปรารภทำรัฐธรรมนูญไม่แล้วเสร็จ หวั่นเกิดปัญหาภายหลัง รัฐธรรมนูญ “สมชาย” หนุนให้ศาลตัดสิน

วันนี้ (28 ส.ค.) นายนิรันดร์ พันทรกิจ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ได้ทำหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เรื่องขอส่งประเด็นปัญหาร่างรัฐธรรมนูญให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย พร้อมกับแนบเอกสาร 4 ชิ้นให้แก่ พล.อ.ประยุทธ์ ประกอบด้วย 1. คำปรารภของร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 จำนวน 1 ชุด 2. คำปรารภของร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 จำนวน 1 ชุด 3. คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 1/2557 และคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 15-18/2556 และ 4. สำเนาหนังสือกฎหมายรัฐธรรมนูญของนายวิษณุ เครืองาม

ทั้งนี้ ในเอกสารของนายนิรันดร์ระบุถึงเหตุผลที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ควรส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่า “ข้าพเจ้าในฐานะสมาชิก สปช.ซึ่งต้องพิจารณาลงมติให้ความเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญและได้ตรวจพบว่าร่างรัฐธรรมนูญยังไม่มีส่วนของคำปรารภ อันทำให้การจัดทำร่างรัฐธรรมนูญไม่แล้วเสร็จตามมาตรา 37 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ซึ่งมีความต่างจากร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 และ พ.ศ. 2550 ที่มีการเขียนคำปรารภไว้แล้วก่อนเสนอต่อสภาฯ เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ เพราะคำปรารภเป็นการแสดงถึงหลักการและเหตุผลของรัฐธรรมนูญเช่นเดียวกับการเสนอร่าง พ.ร.บ.อื่นๆ ที่ต้องมีหลักการและเหตุผลประกอบร่าง พ.ร.บ.นั้นด้วย

“ดังนั้น ประเด็นปัญหาความความแล้วเสร็จของร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว หากมีผู้หยิบยกเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในภายหลังอาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินการที่ได้ทำไปมาแล้ว ดังนั้น เพื่อให้เกิดความรอบคอบและชัดเจนมากกว่าหากได้ส่งประเด็นปัญหานี้ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเสียตั้งแต่ต้นเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ใดหยิบยกมาเป็นปัญหาอีก จึงอาศัยบทบัญญัติมาตรา 5 วรรคสองของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ส่งเรื่องดังกล่าวมาเพื่อเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวเป็นการเร่งด่วนต่อไป” นายนิรันดร์ระบุในหนังสือ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2558 มาตรา 5 มีเนื้อหาว่า เมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้กระทําการนั้นหรือวินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แต่ประเพณีการปกครองดังกล่าวต้องไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้

ในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับการวินิจฉัยกรณีใดตามความในวรรคหนึ่งเกิดขึ้นในวงงานของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาด หรือเมื่อมีกรณีที่เกิดขึ้นนอกวงงานของ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ คณะรัฐมนตรี ศาลฎีกา หรือศาลปกครองสูงสุดจะขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาดก็ได้ แต่สําหรับศาลฎีกาและศาลปกครองสูงสุดให้กระทําได้เฉพาะ เมื่อมีมติของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาหรือที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด และเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการพิจารณาพิพากษาคดี

นายสมชาย แสวงการ เลขานุการคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิปสนช.) กล่าวว่า ส่วนตัวสนับสนุนให้มีการยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเกี่ยวกับกรณีที่ไม่มีคำปรารภในร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญส่งให้กับ สปช. เพราะจะเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาในอนาคต

“หากมีใครไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยภายหลัง สปช.ลงมติเห็นชอบและผ่านการทำประชามติ อาจส่งผลให้เกิดปัญหาและผลกระทบมาถึงการทำงานของคณะ กมธ.ยกร่างฯ และ คสช.ได้ จึงคิดว่าควรส่งเรื่องและรอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีความเห็นน่าจะดีที่สุด” นายสมชายกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น