โฆษก กมธ.ยกร่างฯ เผยมีแนวทางรับผิดชอบร่วมกัน มท.-กกต.หาก รธน.ผ่าน สปช. วันรุ่งขึ้นชง กกต.จัดทำร่างแจก ปชช.เพื่อประชามติโดยเร็ว รอดูกฎการรณรงค์ ลั่นหัวคะแนนชี้นำผู้ใช้สิทธิไม่ได้ แต่แสดงความเห็นได้ ไม่หนักใจกระแสคว่ำร่าง ชี้ยื่นตีความคำปรารภเร็วไป ยันร่างอยู่ในส่วนเจตนารมณ์แล้ว การลงมติควรมองที่ประเพณีปฏิบัติ
วันนี้ (28 ส.ค.) พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษกกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงแนวทางการลงพื้นที่เพื่อพบปะกับประชาชนจากการประชุมร่วมกับนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย และนายศุภชัย สมเจริญ ประธานกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และได้มีแนวทางการกำหนดความรับผิดชอบกันระหว่าง กมธ.ยกร่างฯ กระทรวงมหาดไทย และ กกต. โดยชัดเจน สำหรับ กมธ.ยกร่างฯนั้นต้องคำนึงถึงสิ่งสำคัญว่าภายในวันที่ 7 ก.ย.หลังจากผ่านการมติของ สปช.ในวันที่ 6 ก.ย. กมธ.ยกร่างฯจะต้องนำไฟล์ร่างรัฐธรรมนูญ สรุปสาระสำคัญและอาร์ตเวิร์กส่งไปให้ กกต. เพื่อให้ กกต.จัดทำร่างรัฐธรรมนูญส่งให้ประชาชนได้ศึกษาต่อไป เพื่อให้การทำประชามติเกิดขึ้นโดยเร็วที่สุด ซึ่งตนคาดว่าคงจะเป็นในช่วงกลางเดือน ม.ค.ส่วนเรื่องการออกไปรณรงค์เรื่องการลงมตินั้น ต้องดูที่กฎเกณฑ์ของทาง กกต.ซึ่งจะต้องไปผ่านความเห็นชอบของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในสัปดาห์ที่ 2 ของเดือน ก.ย.ก่อนว่าจะมีรายละเอียดอย่างไร หากอนุญาต กมธ.ยกร่างฯก็พร้อมที่จะทำตามในกรอบและกติกานั้น โดยทาง กกต.จะมีการตั้งคณะบุคคล อาสาสมัครนักวิชาการมาช่วยในเผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญด้วย
เมื่อถามว่า กมธ.ยกร่างฯ พร้อมจะเผชิญหน้ากับผู้ที่รณรงค์ให้ลงมติไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ พล.อ.เลิศรัตน์กล่าวว่า การรณรงค์ให้เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย โดยมีหัวคะแนนไปโน้มน้าวผู้ใช้สิทธิ์เลือกตั้งให้ลงมติตามสถานที่ต่างๆนั้นทำไม่ได้อยู่แล้ว เพราะเป็นการขัดกับหลักกฎหมาย แต่สิ่งที่สามารถทำได้ก็คือการชี้แจงเนื้อหาสาระของร่างรัฐธรรมนูญ การแสดงความเห็นนั้นสามารถทำได้ตลอด ไม่มีการปิดกั้น ตามหลักกฎหมายการทำประชามติ
“กระแสข่าวการคว่ำร่างรัฐธรรมนูญคิดว่าก็คงเป็นแค่กระแสข่าว ไม่มีความหนักใจแต่อย่างใด ทาง กมธ.ยกร่างฯ จะให้ความสำคัญกับการประชุมในวันนี้ ซึ่งเป็นพิจารณาในเรื่องของเจตนารมณ์รวมของร่างรัฐธรรมนูญเป็นวันสุดท้ายมากกว่า แต่ละคนนั้นทำงานกันมานานแล้ว และก็มีความเป็นผู้ใหญ่มากพอคงไม่ไปห่วงในเรื่องที่ไม่อยู่ภายใต้การควบคุม ถ้าผ่านก็ถือว่าเป็นประโยชน์กับประเทศชาติแต่ไม่ผ่านก็ต้องเสียเวลากันเพิ่มอีก 6 เดือนหรือ 10 เดือน”
ส่วนที่ สปช.มีการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความเรื่องคำปรารภในร่างรัฐธรรมนูญ และรวมถึงการลงมติของ สมาชิก สปช.ที่เป็น กมธ.ยกร่างฯ ว่าสามารถทำได้หรือไม่ พล.อ.เลิศรัตน์กล่าวว่า เรื่องคำปรารภนั้น ตนคิดว่าน่าจะเร็วไปสำหรับผู้ที่มองว่าร่างรัฐธรรมนูญไม่สมบูรณ์ ร่างรัฐธรรมนูญในแต่ละฉบับก็มีความเรื่องการตีความในคำปรารภต่างกันออกไป ซึ่งเมื่อผ่านจากการลงมติของ สปช.ก็จะมีการหารือกับสำนักนายกรัฐมนตรีเพื่อยกร่างคำปรารภต่อไป แต่ขอยืนยันว่าในขณะนี้นั้นมีการร่างคำปรารภไว้ส่วนหนึ่งอยู่ในส่วนของเจตนารมณ์แล้ว เมื่อ สปช.ได้รับเจตนารมณ์ทั้ง 4 ภาคกับบทเฉพาะกาล ก็จะเห็นคำปรารภไปด้วยจำนวน 1 หน้า ส่วนเรื่องของสิทธิการลงมติของสมาชิก สปช.ที่เป็น กมธ.ยกร่างฯ นั้น เรื่องนี้ตนคิดว่าควรมองที่ประเพณีปฏิบัติที่ได้เคยปฏิบัติกันมาจะดีกว่า