“กรมการปกครอง” ไม่ตัดสิทธิ์กลุ่ม “ฝ่าหลุนกง” จัดตั้งสมาคมในประเทศไทย โยน ผอ.เขตพื้นที่-ปลัด กทม.รับจดทะเบียน ชี้ไม่น่าห่วง เปิดดูคำชี้แจง “บัวแก้ว ปี 2544” กฎหมายบังคับเบ็ดเสร็จหากดำเนินกิจการกระทบต่อประเทศหรือสัมพันธ์อันดีระหว่างไทยกับจีน มีอำนาจสั่งระงับการดำเนินงานขององค์การได้ทันที
เมื่อวันที่ 6 ส.ค. หลังจากศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษากลับคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้นให้จัดตั้งสมาคมฝ่าหลุนกงในประเทศไทย มีรายงานว่า นายกกชัย ฉายรัศมีกุล ผู้อำนวยการส่วนการรักษาความเรียบร้อย 2 (สรร.2) กรมการปกครองมหาดไทย กล่าวว่า จากคำพิพากษาดังกล่าว นายทะเบียนสมาคมกรุงเทพมหานคร คือ ปลัดกรุงเทพมหานคร อาจจะต้องจดทะเบียนให้กับสมาคมฯ ขณะเดียวกัน ผู้จัดตั้งสมาคมในฐานะผู้ฟ้องคดีได้ประสานมาทาง สรร.2 แล้ว
“เราก็แนะนำให้ไปยื่นเรื่องตามกระบวนการการขอจดทะเบียนในกรุงเทพมหานคร โดยจะต้องเริ่มขอจัดตั้งที่สำนักงานเขต จากนั้นจึงส่งเรื่องไปให้สำนักงานปลัดกรุงเทพมหานคร แล้วจึงส่งต่อมายังกรมการปกครอง ที่มีอธิบดีกรมการปกครองเป็นนายทะเบียนฯ ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้มีคำสั่งจัดตั้งเมื่อนานมาแล้ว ในส่วนพื้นที่ต่างจังหวัด ทางผู้ว่าราชการจังหวัดจะเป็นนายทะเบียน”
นายกกชัยกล่าวต่อว่า ถ้าเขายื่นเรื่องโดยอ้างอิงถึงคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด เราก็จะต้องมาดูอีกทีว่าจะจดทะเบียนให้เขาได้หรือไม่ ส่วนแนวโน้มการจัดตั้งคงยังตอบไม่ได้ เหมือนกับว่าทางกระทรวงการต่างประเทศเขาก็ประสานมาว่าทางสถานทูตจีนเขาไม่สบายใจที่ศาลมีคำพิพากษาออกมา ประมาณว่าอาจกระทบความสัมพันธ์ไทยกับจีน ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่พอสมควร ยังไม่ชัดเจนว่าผลสรุปจะออกมาเป็นอย่างไร
สำหรับกระบวนการตามกฏหมายต่อจากนี้ ผู้ฟ้องคดีในฐานะผู้ที่มีความประสงค์ที่จะจดทะเบียนสามารถไปยื่นขอจัดตั้งใหม่ตามขั้นตอน โดยอ้างคำพิพากษาดังกล่าว
ส่วนกรณีดังกล่าวจะกระทบความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับจีนหรือไม่ นายกกชัยกล่าวว่า เป็นเรื่องละเอียดอ่อนพอสมควร มิฉะนั้นทางสถานทูตจีนคงไม่มีปฏิกิริยาตอบกลับมาแบบนี้ อย่างไรก็ตาม ศาลปกครองอาจมองว่านายทะเบียนฯ คงกังวลเหตุการณ์ในอนาคตมากจนเกินไป ขณะเดียวกันก็เป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญที่ผู้จัดตั้งสามารถทำได้ นายทะเบียนฯ ไม่มีอำนาจที่จะพิจารณาไม่จดทะเบียนให้
มีรายงานจากกระทรวงการต่างประเทศว่า เบื้องต้นสถานทูตจีนประจำประเทศไทยได้แจ้งผ่านกระทรวงการต่างประเทศ จะขอเข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ขณะที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง ได้ประสานขอสำเนาคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น และประสานกระทรวงการต่างประเทศจัดทำข้อมูล อย่างไรก็ตาม พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ต่างประเทศ ซึ่งอยู่ระหว่างร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ 48 ที่มาเลเซียก็รับทราบเรื่องนี้แล้ว
มีรายงานด้วยว่า เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2544 กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ เคยเผยแพร่ข้อเท็จจริง ประเด็น “ลัทธิฝ่าหลุนกงในไทย” โดยมีใจความว่า ตามที่มีรายงานข่าวเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวของลัทธิฝ่าหลุนกงในไทยนั้น กระทรวงการต่างประเทศขอชี้แจงเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ดังนี้
1. จีนยังไม่เคยยื่นหนังสือประท้วงไทยในเรื่องนี้ 2. เท่าที่ทราบในชั้นนี้ กลุ่มฝ่าหลุนกงยังไม่ได้ขออนุญาตจัดการประชุมหรือขอจดทะเบียน และฝ่ายไทยยังไม่ได้มีการอนุญาตแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม หากมีการขออนุญาต หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยจะพิจารณาด้วยความรอบคอบ โดยวัตถุประสงค์ของการประชุมและการดำเนินกิจกรรมใดๆ ต้องอยู่ในกรอบของกฎหมายไทย และไทยจะไม่ยินยอมให้มีการใช้ดินแดนไทยโจมตีประเทศอื่น ฝ่ายไทยคำนึงถึงความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศไทยกับจีนเสมอ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยได้ติดตามพฤติกรรมของผู้ฝึกฝ่าหลุนกงมาตลอด แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่ปรากฏการเคลื่อนไหวที่ขัดต่อกฎหมายไทย เป็นเพียงแต่การฝึกสมาธิและออกกำลัง ฝ่ายจีนคงเข้าใจดีว่า รัฐธรรมนูญไทยให้สิทธิเสรีภาพแก่ประชาชนชาวไทยที่จะเป็นสมาชิกขององค์กรใด ๆ ตราบใดที่กิจกรรมอยู่ในกรอบของกฎหมาย
นอกจากนั้น “ระเบียบกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมว่าด้วยการเข้ามาดำเนินงานขององค์การเอกชนต่างประเทศในประเทศไทย พ.ศ.2541” ซึ่งประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2541 ได้ระบุไว้ตอนหนึ่งว่า
“การพิจารณาอนุญาตการเข้ามาดำเนินกิจกรรมขององค์การเอกชนต่างประเทศเป็นอำนาจของคณะกรรมการพิจารณาการดำเนินงานขององค์การเอกชนต่างประเทศ ซึ่งมีปลัดกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมเป็นประธาน โดยคณะกรรมการจะคำนึงถึงนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจสังคม และความมั่นคงของประเทศ ความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศไทยกับประเทศอื่นๆ วัตถุประสงค์และแนวทางการดำเนินงานขององค์การเอกชนต่างประเทศนั้นตลอดจนความเห็นและข้อเสนอแนะของส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง”
"องค์การเอกชนต่างประเทศที่จะขอเข้ามาดำเนินการจะต้องไม่มุ่งหวังผลกำไร หรือมุ่งหวังผลทางการเมือง และจะต้องมีวัตถุประสงค์ในการเข้ามาให้ความช่วยเหลือที่สอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาและความมั่นคงของประเทศไทย และมีแนวทางการดำเนินงานที่ไม่ขัดกับนโยบายของรัฐบาลไทย"
“กรณีองค์การฯ ที่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาดำเนินงานกระทำการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามระเบียบ หรือในกรณีที่คณะกรรมการพิจารณาว่าการดำเนินงานไม่เป็นประโยชน์ต่อประเทศไทย หรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดี หรือกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของประเทศ หรือความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศไทยกับประเทศอื่น คณะกรรมการอาจมีหนังสือเตือน เพื่อให้ปฏิบัติให้ถูกต้อง ซึ่งหากองค์การฯ ยังไม่ปฏิบัติให้ถูกต้อง หรือการฝ่าฝืนเป็นเรื่องร้ายแรง คณะกรรมการมีอำนาจสั่งระงับการดำเนินงานขององค์การฯ ทั้งหมดหรือบางส่วนได้”