xs
xsm
sm
md
lg

รมว.เกษตรฯ จ่อคุยไอยูยู 20 ก.ค. “อำนวย” มั่นใจยุโรปมองดีขึ้น แต่รับแก้ 6 เดือนยังไม่พอ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกลาโหม นำประชุมแก้ประมงผิดกฎหมาย “สมคิด” เข้าด้วย “ปีติพงศ์” เผยเตรียมคุย ไอยูยู 20 ก.ค. “อำนวย” รับถกอะไรบ้างทำไม่ได้ในช่วงโรดแมป พร้อมกระชับกลไกหลังเวลาประเมินงวดเข้ามา เร่งทำรายงานให้เสร็จเดือนหน้าก่อนส่งให้สหภาพยุโรปมาตรวจ แต่รับแก้เพียง 6 เดือนอาจไม่เพียงพอ ระบุงานหนักคือทำความเข้าใจ ยังมั่นใจแนวโน้มดีขึ้น แต่ไม่ง่ายปลดล็อก รอรัฐบาลหน้ารับช่วงต่อแก้ระยะยาว พร้อมเยียวยาพวกทำตามกฎหมายไม่ได้

วันนี้ (17 ก.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 09.00 น. พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมแก้ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (ไอยูยู) โดยมีพล.ร.อ.ไกรสร จันทร์สุวานิชย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) ในฐานะผู้บัญชาการศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และตัวแทนจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุม เช่น สำนักมาตรฐานเรือ กรมเจ้าท่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงแรงงาน กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กรมการปกครอง กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และกรมศุลกากร เป็นต้น

นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลังการประชุมว่า ระยะเวลาในการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับด้านการประมงนั้น ไทยต้องพิจารณาจากภาพรวมโดยไม่ให้กระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ โดยในวันที่ 20 กรกฎาคมนี้ตนจะหารือกับทางไอยูยูผ่านทางวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ถึงรายละเอียดต่างๆ โดยเฉพาะข้อกฎหมาย

ด้านนายอำนวย ปะติเส รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ที่ประชุมได้มีการหารือเกี่ยวกับมาตรการที่จะดำเนินว่ามีเรื่องอะไรบ้างที่ไม่สามารถทำได้ในช่วงโรดแมปของรัฐบาล และมีการหารือถึงการกระชับกลไกต่างๆ เพราะเวลาประเมินของไอยูยูใกล้เข้ามาแล้ว เราจะต้องกระชับทั้งกลไก ระบบการสื่อสาร การดำเนินการไม่ให้มีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดข้อผิดพลาดขึ้นได้ ซึ่งช่วงเดือนสิงหาคมนี้ เราจะต้องทำรายงานเป็นเอกสารจำนวน 6 เล่มให้แล้วเสร็จและเดือนกันยายนจะส่งรายงานนี้ให้ทางสหภาพยุโรป (อียู) ก่อนที่เขาจะเดินทางมาตรวจและให้คะแนนในช่วงเดือนตุลาคม ทั้งนี้ หากมีการประเมินแล้วก็คงมี 3 แนวทางคืออยู่ในระดับเดิม หรือดีขึ้น หรือแย่ลง ซึ่งยอมรับว่าการแก้ไขปัญหาเพียง 6 เดือน อาจไม่เพียงพอเพราะอาจจะต้องใช้เวลา 1-2 ปี

เมื่อถามว่า ประเด็นที่ทางอียูต้องการให้แก้ไขปัญหาคือเรื่องใด นายอำนวยกล่าวว่า เป็นเรื่องกฏหมายและนโยบายซึ่งในส่วนกฏหมายเป็นเรื่องของรูปแบบแต่ทางคณะกรรมการกฤษฎีกาก็ให้ความเห็นว่าไม่ใช่เรื่องใหญ่และสามารถทำความเข้าใจได้ ทางฝ่ายนโยบายก็ยืนยันว่าสามารถดำเนินการแก้ไขปัญหาได้ แต่สิ่งที่ต้องทำงานหนักคือการทำความเข้าใจ ขณะนี้ก็ได้รับความร่วมมืออย่างดีจากชาวประมงพื้นบ้านและประมงพาณิชย์ที่ทยอยเข้ามาร่วมเช่นกัน

เมื่อถามว่า ภายหลังการประเมินช่วงตุลาคมนี้ คาดว่าจะมีแนวโน้มดีขึ้นหรือไม่ นายอำนวยกล่าวว่า ตนมั่นใจอย่างนั้น แต่การปลดล็อกไม่ใช่เรื่องง่ายแบบนั้น หลายประเทศก็เคยมีประสบการณ์ โดยเราจะต้องยอมรับกฎกติกาและประเมินผลสัมฤทธิ์ของการดำเนินการ ตนตั้งเป้าว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาได้ภายใน 1 ปี โดยจะทำให้มีการเปลี่ยนอย่างมีนัยยะสำคัญ และเชื่อว่าทางอียูจะได้เห็นการแก้ปัญหาได้ภายในรัฐบาลนี้ แต่เขาจะปรับจากใบเหลืองให้ดีขึ้นหรือไม่นั้น ไม่สามารถตอบได้ เพราะจะเป็นการกดดันการทำงานของตัวเองและหน่วยงาน

นายอำนวยกล่าวด้วยว่า อย่างไรก็ตาม ต้องให้รัฐบาลหน้ามารับช่วงต่อในการบริหารกฎหมายและนโยบายเพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาระยะยาว ส่วนรัฐบาลนี้ถือเป็นการปรับปรุงโครงสร้างและรัฐบาลก็มีนโยบายชัดเจนว่าจะดำเนินไปสู่การปฏิรูปและส่งช่วงต่อไปตามโรดแมป และยืนยันว่าการแก้ไขต่างๆ ยังคงเป็นไปตามโรดแมป ยังไม่มีปัญหาอะไรที่จะต้องขอความช่วยเหลือ เพราะรัฐบาลมีการตั้งหน่วยเฉพาะกิจในการแก้ไขในระดับนโยบายและปฏิบัติซึ่งสามารถประสานงานในทุกส่วนทั้งในและต่างประเทศได้

ส่วนที่มีการให้ยกเลิกเครื่องมือประมงบางชนิดนั้น รมช.เกษตรฯ กล่าวว่า ถือเป็นการแก้ไขปัญหาทางหนึ่ง แต่หลักการนโยบายแล้วจะต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ส่วนคนที่ปฏิบัติตามกฎหมายไม่ได้หรือปฏิบัติแล้วเกิดความเดือดร้อนเสียหาย รัฐบาลก็ต้องเยียวยาไปตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น













กำลังโหลดความคิดเห็น