สภาพัฒนาการเมือง หนุนคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ ระบุมีจุดอ่อนเพียบ สร้างกลไกขัดแย้งประชาธิปไตย ซ้ำยังผุด คปป. เป็น “อภิมหากรรมการแห่งชาติ” สร้างกลไกตรวจสอบที่ไร้ประสิทธิภาพ เป็นตรรกะวิบัติ
วันนี้ (4 ก.ย.) สภาพัฒนาการเมือง นำโดย นายธีรภัทร เสรีรังสรรค์ ประธานสภาพัฒนาการเมือง ออกแถลงการณ์มีมติไม่เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญที่สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติกำลังจะมีการลงมติรับหรือไม่รับในวันที่ 6 ก.ย.นี้ โดยเห็นว่าเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญมีจุดอ่อนถึง 11 ประเด็น คือ คือ
1. ไม่มีคำปรารภเป็นพื้นฐาน ทั้งที่เป็นส่วนสำคัญยิ่งในการเจตนารมณ์ และวัตถุประสงค์ของร่างรัฐธรรมนูญ ทำให้เป็นการร่างรัฐธรรมนูญที่ขาดจิตวิญญาณ ขาดองค์ประกอบที่ สปช. และประชาชนจะตัดสินใจว่าควรจะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าว
2. ทำให้เกิดความไม่ชัดเจนในพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ตามมาตรา 7 และการเพิ่มเติมบทบัญญัติในวรรคสองที่ให้อำนาจการพิจารณาปัญหาเกี่ยวกับการกระท ำหรือวินิจฉัยเป็นของศาลรัฐธรรมนูญ กลายเป็นการลดทอนพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ลง ขัดแย้งกับประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งมีหลักการว่าพระราชอำนาจดั้งเดิมของพระมหากษัตริย์จะปรากฏขึ้นโดยอัตโนมัติ
3. ทำให้ประเทศไม่มีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อำนาจอธิปไตยไม่ได้เห็นชอบของปวงชนชาวไทยอย่างที่บัญญัติในมาตรา 2 และ 3 เพราะมีการบัญญัติให้มีคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป) ซึ่งการมีอยู่ของ คปป. ไม่ได้เป็นลักษณะเฉพาะกาลชั่วคราวแค่ 5 ปี แต่มาตรา 258 (1) จะทำให้ คปป. อยู่ได้ไม่มีกำหนดเวลา และ คปป. ยังมีอำนาจหลายกรณีเหนือกว่าคณะรัฐมนตรี รัฐสภา ศาล โดยสามารถสั่งระงับยับยั้ง การกระทำใด ๆ ได้ไม่การกระทำนั้นจะมีผลในทางนิติบัญญัติ บริหาร ถือเป็นอภิมหาคณะกรรมการแห่งชาติ
4. ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการสร้างระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขให้เกิดขึ้นอย่างแท้จริง ยั่งยืนในสังคมไทย ละเลยการมุ่งส่งเสริมการศึกษาทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย เพื่อนำไปสู่การสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองที่เอื้ออำนวยต่อระบอบประชาธิปไตย และวิถีชีวิตแบบประชาธิปไตยของประชาชน เพราะแม้มาตรา 27 วรรคสองจะบัญญัติให้รัฐมีหน้าที่ปลูกฝังประชาชน ให้การศึกษาอบรมในทุกระดับเพื่อให้เป็นพลเมืองที่ดี แต่บทบัญญัติลักษระดังกล่าวจะไม่เกิดผลทางปฏิบัติเพราะขาดมาตรการรองรับไม่มีบทลงโทษหากไม่ปฏิบัติ
5. ไม่ได้ให้เสรีภาพในทางวิชาการในการได้รับการคุ้มครองอย่างแท้จริง โดยมาตรา 51 ที่บัญญัติให้เสรีภาพทางวิชาการ การศึกษา เผยแพร่งานวิจัยย่อมได้รับการคุ้มครอง ก็เป็นหลักคุ้มครองเฉพาะการเรียนการสอน ไม่ได้คุ้มครองการให้ความคิดเห็นสาธารณะเพื่อความหลากหลายที่ถือเป็นหน้าที่และเสรีภาพทางวิชาการที่ต้องให้บริการแก่สังคม
6. พยายามสร้างกลไกที่ไม่ชอบธรรมทางการเมือง ทั้งที่มา ส.ว. ที่ให้มาจากการสรรหามากกว่าเลือกตั้ง เป็นสัดส่วนที่ถอยหลังกว่ารัฐธรรมนูญ 50 การเปิดโอกาสให้นายกมาจากบุคคลที่ไม่ได้เป็น ส.ส. เท่ากับเปิดโอกาสให้กลุมอิทธิพลนอกสภาทั้งฝ่ายอำมาตยธิปไตย ธนาธิปไตยสามารถใช้ช่องทางดังกล่าวเข้ามาดำรงตำแหน่งได้
7. ไม่สามารถสร้างกลไกที่จะนำไปสู่ความมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลทางการเมืองได้ โดยไม่มีบทบัญญัติที่วางพื้นฐานการได้มาซึ่งพรรคการเมืองที่เป็นพรรคของมหาชน ป้องกันการผูกขาดของกลุ่มบุคคลในพรรค ขาดมาตรการบังคับต่อผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองให้ต้องรับผิดชอบหากสร้างความเสียหายในการบริหารราชการแผ่นดินให้เกิดขึ้นกับบ้านเมือง
8. ไม่ให้ความสำคัญกับการสร้างเสถียรภาพทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย แต่มุ่งใช้กลไกนอกระบบมาค้ำจุน โดยหวังให้เกิดเสถียรภาพขึ้นมาแทนกลไกในระบบ เพราะแม้จะมีข้อดีเรื่องวิธีเลือกตั้งส.ส. แต่วิธีดังกล่าวนำมาซึ่งระบบการเมืองหลายพรรคอาจนำไปสู่การมีรัฐบาลที่อ่อนแอทางการเมือง และการกำหนดให้มีกลไกคปป. ซึ่งนำไปสู่ระบบรัฐซ้อนรัฐ หรือรัฐบาลซ้อนรัฐบาลเสี่ยงต่อการสร้างปัญหามากกว่าแก้ปัญหา
9. ขาดการสร้างกลไกในการตรวจสอบ ถ่วงดุล ที่มีประสิทธิภาพและกลไกถอนถอนปราศจากเหตุผลรองรับอย่างมีน้ำหนักหรือเรียกว่า “ตรรกะวิบัติ” เนื่องจากไม่มีบทบัญญัติที่แสดงให้เห็นถึงกลไกควบคุมการตรวจสอบเหมือนรัฐธรรมนูญในอดีต ขณะที่กลไกถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง การที่มาตรา 238 ของร่างรัฐธรรมนูญบัญญัติให้อำนาจรัฐสภาพิจารณาถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ส.ส. หรือ ส.ว. นั้นไม่สมเหตุสมผล เพราะ ส.ส. เสียงส่วนใหญ่ก็เป็นฝ่ายรัฐบาลอยู่แล้วตรงกันข้ามกลับจะเป็นการเปิดโอกาสให้ฝ่ายรัฐบาลสามารถถอดถอน ส.ส. ฝ่ายค้านได้ง่ายกว่าอีกด้วย
10. ละเลยไม่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาการปกครองระบอบประชาธิปไตย ไม่มีการกล่าวถึงการพัฒนาการเมืองการปกครอง รวมถึงแนวทางการปฏิรูปด้านต่าง ๆ ที่สำคัญ ปฏิรูปการเมืองที่เป้นหัวใจสัญในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของสถานการณ์การเมืองในทศวรรษที่ผ่านมา
11. ไม่ได้มีเจตนารมณ์ที่จะส่งเสริมความเข้มแข็งทางการเมืองของประชาชนและการกระจายอำนาจอย่างแท้จริง โดยเฉพาะการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด
“การแถลงข่าวครั้งนี้เป็นการสื่อไปถึง สปช. ว่าสภาพัฒนาการเมืองไม่เห็นด้วย แต่การแถลงครั้งนี้ไม่ได้ชี้นำประชาชน เพราะสภาพัฒนาการเมืองได้มีการพิจารณาเนื้อหาสาระของร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ อย่างมีเหตุมีผลรองรับจึงไม่ถือว่าเป็นการชี้นำ ซึ่งทั้งหมดเป็นไปตามบทบาทของสภาพัฒนาการเมืองที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย แต่ส่วนตัวเชื่อว่าหาก สปช. ผ่านร่างรัฐธรรมนูญ ก็จะมีการลงประชามติ ซึ่งก่อนจะมีการลงประชามติ ก็เชื่อว่าจะมีการปะทะทางความคิดของฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย สังคมเกิดวิวาทะทางความคิดของสังคมขึ้น” นายธีรภัทร กล่าว
ประธานสภาพัฒนาการเมือง กล่าวว่า ตนเชื่อว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะถูกคว่ำอย่างแน่นอน ไม่ถูกคว่ำในชั้น สปช. ก็จะถูกคว่ำในชั้นประชามติ