xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ร่างรัฐธรรมนูญผ่าน สปช.ฉลุย แต่ประชามติลุ้นเหนื่อย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ไปอวยพรวันเกิดนายบรรหาร ศิลปอาชา พร้อมกับวิพากษ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2558
ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ถึงเวลานี้ น่าจะฟันธงได้แล้วว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะผ่านการลงมติของสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.)ในวันที่ 6 กันยายน 2558 นี้แน่นอน ถึงแม้ว่าจะมีสมาชิก สปช.บางคนออกมาแสดงจุดยืนชัดเจนว่าจะคว่ำร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ตาม แต่นั่นก็เป็นเพียงเสียงส่วนน้อย

อย่างไรก็ตาม ก่อนที่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะมีผลบังคับใช้ ยังต้องผ่านด่านสำคัญคือการทำประชามติให้ประชาชนทั้งประเทศตัดสินว่าจะเอารัฐธรรมนูญฉบับนี้หรือไม่ ซึงกำหนดไว้คร่าวๆ ในราววันที่ 10 มกราคม 2559

ทั้งนี้ กำหนดวันจัดทำประชามติอาจจะมียืดหยุ่นบ้าง เพราะต้องแจกจ่ายร่างรัฐธรรมนูญให้ได้ร้อยละ 80 ของครัวเรือนทั่วประเทศ หรือประมาณ 13.3 ล้านเล่มเสียก่อน จากจำนวนทั้งหมด 16.58 ล้านครัวเรือน ถ้ายังแจกไม่เสร็จก็อาจเลื่อนเป็น 17 หรือ 24 มกราคม 2559

หากวัดจากกระแสความเห็นของประชาชนขณะนี้ ก็พอจะมองเห็นคร่าวๆ ว่า ผลการทำประชามติจะออกมาอย่างไร โดยมีดัชนีชี้วัดคือ ท่าทีของพรรคการเมืองต่างๆ ที่เริ่มจะมีความชัดเจนแล้วว่า เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้หรือไม่

เริ่มตั้งแต่พรรคเพื่อไทย ซึ่งมีฐานเสียงมากที่สุด ในบรรดาพรรคการเมืองที่มีอยู่ปัจจุบัน

พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่อยู่ระหว่างหลบหนีคดี เจ้าของพรรคเพื่อไทยตัวจริง กล่าวกับบรรดาสาวกที่นครเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2558 ว่า รัฐธรรมนูญใหม่ที่กำลังร่างอยู่เป็นฉบับที่เลวร้ายที่สุดในประเทศไทย โดยอ้างถึงการมีคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ ที่มีผู้บัญชาการเหล่าทัพมาคุมรัฐบาลอีกที ทำให้ รัฐบาลไม่มีอำนาจเต็มที่ในการแก้ไขปัญหาประเทศ รวมทั้ง กระบวนการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่ส่วนใหญ่มาจากการแต่งตั้ง 237 คน มากกว่าการเลือกตั้งที่มี 77 คน ไม่มีอะไรยึดโยงกับประชาชน

ขณะที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี น้องสาวหัวแก้วหัวแหวนของ พ.ต.ท.ทักษิณ ก็ได้แสดงความคิดเห็นรับลูกพี่ชาย ในวันที่ไปอวยพรวันเกิดปีที่ 83 นายบรรหาร ศิลปอาชา เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2558 ว่า จากที่ฟังจากนักวิชาการและหลายๆ คนว่าเป็นร่างรัฐธรรมนูญที่ไม่ได้ยึดโยงกับประชาชน สิ่งที่ประชาชนอย่างเห็นคือการให้อำนาจและสิทธิประชาชนในการตัดสินใจ แต่ร่างรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้ให้อำนาจที่ยึดโยงกับประชาชนเลย จึงมีความมีความน่าเป็นห่วง ซึ่งในความเห็นส่วนตัวคิดว่ารับไม่ได้ เสมือนประชาชนเป็นผู้ที่อาศัยอยู่ในบ้านไม่ได้รับความสุขสบาย

อย่างไรก็ตาม เมื่อถามว่า ในการทำประชามติ พรรคเพื่อไทยจะรณรงค์ให้มีการไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ หรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ยังตอบแบบสงวนท่าที ว่า ยังไม่อยากพูดถึงตรงนั้น แต่อยากมองว่าร่างรัฐธรรมนูญเดินหน้าอย่างไรมากกว่า ไม่อยากให้วิจารณ์เพียงว่าจะรับหรือไม่รับ เพราะจะกลับมาสู่วังวนเดิมมานับหนึ่งใหม่ อยากให้มีทางออกแก่ประชาชนบ้าง อาจพิจารณาสิ่งที่ดีๆ ในรัฐธรรมนุญฉบับที่ผ่านมาหรือปรับปรุงแก้ไขตามที่มีเสียงวิจารณ์ นอกจากนี้อยากให้มีโรดแมปทางเดินที่ชัดเจน ไม่อยากให้ทุกอย่างลากยาวไป เพราะยิ่งลากยาวไปความเจ็บปวดจะตกอยู่ที่ประชาชน

ท่าทีแบบแทงกั๊กของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ อาจจะเป็นเพราะกลัวจะขัดคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ที่ห้ามเคลื่อนไหวทางการเมือง แต่คนในพรรคเพื่อไทยหลายคน รวมถึงแกนนำมวลชนคนเสื้อแดง ต่างก็แสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้

นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. ได้กล่าวผ่านรายการมองไกล ออกอากาศผ่านทางยูทิวบ์ เมื่อวันที่ 24 สิงหาคมว่า เป็นรัฐธรรมนูญที่มีเนื้อหาสาระมีความเลวร้ายที่สุดในรอบ 83 ปี เลวร้ายกว่า ปี 2550 ดังนั้น จึงอยากฝากแกนนำคนเสื้อแดงว่า อย่าอยู่ในวังวน หากมีคนถามว่าจะบอยคอตร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ มีคำตอบเดียวคือ ต้องคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ และคว่ำโดยประชาชน แต่หากมีเลือกตั้งก็ต้องพร้อมเลือกตั้ง

วันต่อมา 25 สิงหาคม นายจตุพรกล่าวผ่านรายการมองไกลอีกครั้ง เรียกร้องให้พรรคการเมืองทั้ง 70 พรรค ประกาศจุดยืนให้ชัดเจนว่าจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่วิพากษ์วิจารณ์ดีหรือไม่ดี การที่ตนเองประกาศคว่ำร่างถือเป็นสิทธิอันชอบธรรม ไม่มีความผิดเพราะประชามติมีให้คว่ำและไม่คว่ำ การประกาศจุดยืนให้ชัดเจนนั้นเพื่อให้ประชาชนได้รับรู้ความจริง ควรหยุดเล่นละครและแบ่งบทพูด ว่า คนนั้นจะคว่ำหรือไม่คว่ำอย่ากลัวว่าจะเสียเวลา

นายจตุพรยังประกาศอีกว่า ภายหลัง สปช.ลงมติในวันที่ 6 กันยายน ตนจะออกมาชำแหละแต่ละประเด็นในร่างรัฐธรรมนูญ ด้วยการจัดทำเป็นหนังสือชี้แจงให้ประชาชนได้รับทราบ ถึงเหตุผลที่ประชาชนทุกคนต้องคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ

ส่วนนายสามารถ แก้วมีชัย อดีต ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ทางพรรคเองยังไม่ได้มีการปรึกษาหารือกันถึงท่าทีที่จะออกมา แต่คนในพรรคก็ได้แสดงความเห็นไว้บ้างแล้ว รวมทั้ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ตนชื่อว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่น่าจะผ่านประชามติ เพราะเท่าที่ดู พรรคการเมืองใหญ่ ๆ ก็ไม่ใครเอาด้วยสักพรรค

ล่าสุด วันที่ 27 สิงหาคมที่ผ่านมา นายสามารถ แก้วมีชัย และ ร.ท.ปรีชาพล พงษ์พานิช อดีต ส.ส.ขอนแก่น พรรคเพื่อไทย ได้เข้ายื่นหนังสือถึงนายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช.เพื่อแสดงความเห็นและเสนอแนะต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในนามพรรคเพื่อไทย ให้สมาชิก สปช.ได้รับทราบก่อนจะลงมติในวันที่ 6 ก.ย. โดยพรรคเพื่อไทยเห็นว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นฉบับกดหัวประชาชน ทำให้รัฐบาลหลังการเลือกตั้งอ่อนแอ ไม่สามารถทำงานได้ เป็นเป็ดง่อย ไม่แก้ปัญหาของประเทศ เพราะจะมีอำนาจแฝงอื่นมาครอบงำอำนาจประชาชน โดยมีคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป.) มาสืบทอดอำนาจ และปราศจากการตรวจสอบ

ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ พรรคใหญ่อันดับสอง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค ได้แสดงท่าทีชัดเจนว่า ไม่อยากให้ สปช.ผ่านร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ไม่ใช่เพราะว่าทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อยู่ต่อ แต่ต้องการให้ปรับปรุงเนื้อหาในรัฐธรรมนูญให้ดีก่อนทำประชามติ เพราะมีหลายเรื่อง ไม่ได้มีแต่ปัญหาเรื่อง คปป.ซึ่งมีช่องโหว่ในอนาคต ดังนั้นไม่ควรนำความขัดแย้งไปสู่จุดการทำประชามติ หรือหลังเลือกตั้ง

หาก สปช.ผ่านร่างนี้จะนำไปสู่การทำประชามติ จะสร้างปัญหาแน่และความรุนแรงจะมากขึ้น เพราะคนที่ไม่เห็นด้วยก็ต้องเคลื่อนไหว หาก คสช.ไม่ให้เคลื่อนไหวก็จะเกิดปัญหาว่าจะทำประชามติทำไม ซึ่งเป็นความขัดแย้งเบื้องต้น ขั้นตอนต่อไปถ้าไม่ผ่านประชามติก็จะเกิดปัญหากับหลายฝ่ายโดยเฉพาะกับ คสช. แม้ว่าผ่านประชามติก็จะเข้าสู่การเลือกตั้งที่จะต่อสู้ในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จึงมองไม่เห็นว่าการเดินเช่นนี้จะช่วยให้ประเทศเดินไปข้างหน้า หลุดพ้นจากปัญหาเดิมได้อย่างไร

หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ในอดีตรัฐธรรมนูญเพียงวรรคเดียวเป็นชนวนจนทำให้ฆ่ากันตาย เกิดขึ้นมาแล้ว ไม่ใช่ว่าดี 99 เปอร์เซ็นต์ แล้วจะไม่มีปัญหา เพราะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ ที่ทำให้เกิดรัฐซ้อนรัฐจะทำให้เกิดความวุ่นวายมาก ถามง่ายๆ ว่าคณะกรรมการยุทธศาสตร์จะปฏิรูป แต่ไม่ให้รัฐบาลบริหารราชการแผ่นดินจะทำได้หรือ เพราะการบริหารราชการแผ่นดินและการปฏิรูปต้องควบคู่กัน

แม้ทั้งพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์จะเป็นไม้เบื่อไม่เมากันในสนามเลือกตั้ง แต่ในประเด็นร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ดูเหมือนว่าทั้งสองพรรคมีจุดยืนร่วมกันในเรื่องการคัดค้านการบัญญัติให้ คปป.ขึ้นมามีอำนาจเหนือรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งไปอีกเป็นเวลา 5 ปี

เวลานี้ ร่างรัฐธรรมนูญไม่อาจแก้ไขได้แล้ว และหาก สปช.ลงมติเห็นชอบในวันที่ 6 กันยายน ก็จะนำร่างฯ นี้ไปจัดทำประชามติทั้งร่าง นั่นหมายถึงว่าบทบัญญัติว่าด้วย คปป.ก็จะยังคงอยู่

หากทั้งพรรคเพื่อไทยและประชาธิปัตย์ยังคงจุดยืนเดิม ก็น่าจะพอคาดเดาได้ว่า ทั้งสองพรรคใหญ่นี้จะให้ประชาชนในเครือข่ายของพรรคลงประชามติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญค่อนข้างแน่นอน

หากจะวัดขนาดฐานเสียงของแต่ละพรรคการเมือง โดยดูจากผลการเลือกตั้งวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งที่ทุกพรรคลงสู่เวทีเลือกตั้งแบบเต็มสูบ ก็พอจะเห็นเลาๆ ว่า คะแนนการลงประชามติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญจะออกมาอย่างไร

การเลือกตั้งครั้งนั้น มีผู้ออกไปใช้สิทธิร้อยละ 75 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง พรรคเพื่อไทยได้คะแนนเสียงร้อยละ 48.41 พรรคประชาธิปัตย์ได้ร้อยละ 35.15 รวมสองพรรคนี้ ก็กินเข้าไปถึงร้อยละ 83.56 แล้ว

ถึงแม้ว่า จะมีคำสั่ง คสช.เป็นตัวขัดขวางไม่ให้มีการรณรงค์รับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ แต่อย่าลืมว่า กลไกการคุมคะแนนเสียงของพรรคการเมืองนั้น เขาใช้ระบบหัวคะแนน ซึ่งตลอดช่วง 1 ปีเศษที่ผ่านมา หลังจากการรัฐประหาร คสช.ไม่ได้เข้าไปแตะต้องกลไกนี้มากนัก

เพราะฉะนั้น หากจะให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านประชามติ คงต้องลุ้นกันน้ำลายเหนียวแน่ๆ


กำลังโหลดความคิดเห็น