xs
xsm
sm
md
lg

อภิสิทธิ์ ยิ่งลักษณ์ และพรรคพวกประสานเสียงให้คว่ำร่างรัฐธรรมนูญ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปัญญาพลวัตร
โดย พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต

นักการเมืองน้อยใหญ่ต่างพรรคต่างพวก อย่างคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ คุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และพรรคพวกของเขาและเธอทั้งหลาย เกิดอาการสามัคคีกันอย่างไม่ต้องนัดหมาย ร่วมแสดงฝีปากวิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญอย่างเผ็ดร้อน และยังเรียกร้องให้สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ลงมติคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับนี้อย่างพร้อมเพรียงกัน ปรากฏการณ์นี้เป็นเรื่องที่น่าสนใจยิ่งนัก

จะเรียกว่าเป็นปรากฏการณ์ที่แปลกประหลาดทางการเมืองไทยอย่างหนึ่งก็ได้ เพราะในอดีตนั้นการปรองดองสมานฉันท์อย่างนี้ของบรรดานักการเมืองเกิดขึ้นได้ยากมาก เท่าที่เห็นก็มีแต่เมื่อฝ่ายหนึ่งพูดอย่าง ส่วนอีกฝ่ายก็จะวิจารณ์เสมอ

 คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ วิจารณ์ว่าการใส่เนื้อหาเรื่องคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป.) ลงไปในรัฐธรรมนูญอย่างกระชั้นชิด ก่อนที่จะส่งร่างให้สปช. เป็นการสร้างปัญหารัฐซ้อนรัฐ ซึ่งจะทำให้เกิดความขัดแย้งในอนาคต และเป็นปัญหาต่อระบอบประชาธิปไตย  จึงเสนอให้ สปช. ต้องคว่ำร่างรัฐธรรมนูญนี้ทันที เพื่อนำร่างกลับมาปรับปรุงเนื้อหาใหม่

ด้านคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทยก็วิจารณ์อย่างร้อนแรงไม่แพ้กัน เธอระบุว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เป็นฉบับที่รับไม่ได้ เพราะไม่ได้ให้อำนาจยึดโยงประชาชน เสมือนอยู่ในบ้านหลังใหญ่แต่ไม่ให้อำนาจประชาชน อยู่แล้วไม่สุขสบาย   และเสนอให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญปรับเสียใหม่ โดยรับฟังความเห็นคำวิพากษ์วิจารณ์ เธอเรียกร้องให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) พิจารณาหาทางออกเพราะมีอำนาจที่ทำได้ ซึ่งโดยนัยของข้อเสนอนี้ก็คือให้ สปช.คว่ำร่างรัฐธรรมนูญ และนำมาปรับปรุงเนื้อหาเสียใหม่เหมือนกับข้อเสนอของคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะนั่นเอง

ทางด้านนักการเมืองในระดับรองๆลงมาก็ออกมาแสดงความเห็นไปในทิศทางเดียวกัน คุณนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ วิจารณ์ว่าเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญ มีหลายประเด็นไม่เป็นประชาธิปไตย ทั้งในเรื่องที่มานายกรัฐมนตรีคนนอก และเรื่องคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดอง ซึ่งจะทำให้เกิดแนวร่วมในการคว่ำร่างรัฐธรรมนูญมีมากขึ้น

ส่วนคู่ขัดแย้งตลอดกาลของคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญและคสช. อย่างคุณจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ก็ออกมาวิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญอย่างต่อเนื่องในหลายประเด็น ทั้งวิจารณ์กระบวนการร่างว่าทำกันอย่างมุบมิบลับๆล่อๆ และวิจารณ์เนื้อหาอย่างรุนแรงว่า กำลังจะเป็นรัฐธรรมนูญที่เลวร้ายที่สุด เป็นเผด็จการที่สุดตั้งแต่เคยมีรัฐธรรมนูญกันมาในประเทศไทยก็ว่าได้ เขายังประกาศออกมาชัดเจนว่าไม่อาจรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ โดยให้เหตุผลหลายประการ ในที่นี้ขอยกมา 4 ประการ คือ

1). เป็นระบบที่ออกแบบไว้เพื่อเปิดทางและเอื้ออำนวยให้คนนอกมาเป็นนายกรัฐมนตรีซึ่งจะเข้ากันได้กับกลไกของรัฐธรรมนูญนี้มากกว่า 2). มีระบบการถอดถอนที่ทำลายหลักการของการตรวจสอบถ่วงดุลคือ ให้สว. ที่มาจากการลากตั้งมีอำนาจถอดถอนทุกฝ่ายและให้สส.ฝ่ายรัฐบาลมีอำนาจถอดถอนสส.ฝ่ายค้านได้ 3). เป็นการวางระบบการสืบทอดอำนาจของคสช.และกองทัพ โดยอาศัยคณะกรรมการยุทธศาสตร์ปฏิรูปฯควบคุมกำกับการทำงานของรัฐบาลและรัฐสภาต่อไปอีกยาวนาน และ4). เปิดช่องให้มีการสร้างเงื่อนไขสำหรับการนำระบบเผด็จการเบ็ดเสร็จเต็มรูปแบบ เช่นเดียวกับการปกครองโดย คสช.มาใช้อย่างง่ายดาย ซึ่งก็คือการทำรัฐประหารโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

ข้อวิจารณ์และเหตุผลที่บรรดานักการเมืองแสดงออกมาต่อสาธารณะนั้น หากมองเผินๆอย่างตื้นๆ อย่างคนที่ไม่เข้าใจประวัติศาสตร์ความเป็นมาของการเมืองไทยก็ดูเหมือนจะดีและมีหลักการที่น่าชื่นชม และคงถูกอกถูกใจบรรดาชาติตะวันตก ตลอดจนบรรดาผู้นิยมประชาธิปไตยแบบตะวันตกอย่างสุดโต่งเป็นแน่ ส่วนผู้ร่างรัฐธรรมนูญคงกลายเป็นผู้ร้ายที่รับใช้เผด็จการไป

ผมเองแม้ว่าจะมีหลายประเด็นไม่เห็นด้วยกับคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ แต่ก็พยายามที่จะทำความเข้าใจกับวิธีคิดของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งผมเห็นอย่างหนึ่งว่าวิธีคิดหลักในการร่างรัฐธรรมนูญคือการพยายามหาความสมดุลระหว่างแนวทางและมาตรการในการแก้ปัญหาทางการเมืองที่เกิดขึ้นในระยะสิบกว่าปีที่ผ่านมานี้กับหลักการประชาธิปไตยตามทฤษฎี เนื้อหาต่างๆของรัฐธรรมนูญที่ออกมาจึงออกมาแบบจับโน่นผสมนี้และดูเหมือนจะไม่ค่อยเป็นที่ถูกใจของกลุ่มใดเลย

จะเห็นได้ว่าประเด็นหลัก 3 ประเด็นที่นักการเมืองขุ่นเคืองมากเป็นพิเศษคือ นายกรัฐมนตรีไม่จำเป็นต้องมาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร การมี คปป. และอำนาจหน้าที่ของ สว.สรรหา

การที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้นายกรัฐมนตรีไม่จำเป็นต้องมาจาก ส.ส. นั้น ในมุมมองของผู้ร่างฯคือการเปิดช่องทางและโอกาสเอาไว้สำหรับกรณีเกิดวิกฤติทางการเมือง หรือในยามที่นายกรัฐมนตรีที่มาจาก ส.ส.ไม่ได้รับการยอมรับและถูกขับไล่จากประชาชนนั่นเอง ที่ผ่านมาเมื่อไม่เปิดช่องทางนี้เอาไว้ในรัฐธรรมนูญ ก็จะทำให้วิกฤติทางการเมืองมีความเข้มข้นมากขึ้นและนำไปสู่การรัฐประหารถึงสองครั้ง

การเปิดช่องทางให้นายกรัฐมนตรีไม่จำเป็นต้องมาจาก ส.ส.จึงเป็นความพยายามของผู้ร่างรัฐธรรมนูญในการเสนอมาตรการที่เป็นทางออกยามเกิดวิกฤติทางการเมืองเผื่อเอาไว้นั่นเอง แต่ว่าในมุมมองของนักการเมือง หาได้คล้อยตามเหตุผลและเจตนารมณ์ของผู้ร่างรัฐธรรมนูญ หากแต่กลับมองว่าเป็นการเปิดโอกาสในการสืบทอดอำนาจของ คสช.

อันที่จริงการเปิดช่องทางเอาไว้ให้นายกรัฐมนตรีไม่จำเป็นต้องมาจาก ส.ส. ก็เคยถูกนำมาใช้แล้วในอดีต ซึ่งมีทั้งในกรณีที่ประสบความสำเร็จในการคลี่คลายวิกฤติและสร้างความเสถียรภาพแก่ประเทศ ดังเช่น กรณีพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ และ คุณอานันท์ ปันยารชุน ส่วนที่ล้มเหลวและนำประเทศไปสู่วิกฤติคือ กรณี พลเอกสุจินดา คราประยูร

ดังนั้นมาตรการนี้โดยตัวของมันเองจึงไม่ใช่มาตรการที่เลวร้าย หรือในทางกลับกันก็ไม่ใช่มาตรการที่ดีเลอเลิศแต่อย่างใด ขึ้นอยู่กับว่าจะใช้มาตรการนี้ในบริบทแบบใดและใช้เพี่ออะไร หากใช้มาตรการนี้เพื่อการสืบทอดอำนาจและผู้ที่ถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีไม่ได้รับการยอมรับจากประชาชน ก็จะนำไปสู่ความขัดแย้งและวิกฤติทางการเมืองได้ ในทางกลับกันหากใช้มาตรการนี้เพื่อประโยชน์ของชาติและผู้ถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีได้รับการยอมรับนับถือจากประชาชน ก็จะทำให้การเมืองมีเสถียรภาพมากขึ้น

ส่วนในแง่หลักการของประชาธิปไตยนั้นก็ดูไม่ขัดแย้งมากนักเพราะว่า ผู้ที่ได้รับเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี แม้จะไม่ได้เป็น ส.ส. แต่ก็ต้องได้รับเสียงสนับสนุนจาก ส.ส. เกือบทั้งหมด ซึ่งหมายความว่ามีความเชื่อมโยงกับประชาชนระดับหนึ่งนั่นเอง

สำหรับประเด็น การมี คปป. ผู้ร่างฯอธิบายว่า มีไว้เพื่อทำหน้าที่ด้านนิติบัญญัติและบริหารในยามที่บ้านเมืองเกิดวิกฤติทางการเมือง ส่วนนักการเมืองมองว่าจะทำให้เกิดภาวะรัฐซ้อนรัฐขึ้นมา ในกรณีนี้เราต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่า โดยหลักการของผู้ร่างฯแล้ว ในยามปกติ คปป.จะไม่มีบทบาทอำนาจหน้าที่ในการบริหารประเทศแต่อย่างใด หากหลักการนี้ได้รับการปฏิบัติตามครรลอง ปัญหารัฐซ้อนรัฐก็ไม่เกิดขึ้น แต่หาก คปป.ทำเกินขอบเขตบทบาทของตนเองก็อาจจะมีปัญหาเกิดขึ้นได้ และนั่นก็อาจเป็นชนวนสร้างความขัดแย้งได้เหมือนกัน

คปป.ถูกกำหนดให้มีบทบาทหน้าที่ในยามประเทศเกิดวิกฤติ โดยให้กลุ่มชนชั้นนำทางอำนาจสามกลุ่มร่วมตัดสินใจหาทางออกร่วมกันคือ กลุ่มนักการเมืองฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน กลุ่มทหาร และกลุ่มผู้ทรงคุณวุฒิ โดยการใช้อำนาจของ คปป.จะเกิดขึ้นเมื่อ อำนาจรัฐแบบปกติสูญสิ้นหรือขาดความชอบธรรมไปแล้ว ซึ่งเท่ากับว่า เป็นภาวะเกิดสุญญากาศของอำนาจนั่นเอง

ดังนั้นการใช้อำนาจของ คปป.ตามฐานคิดนี้จึงไม่ใช่เป็นการใช้อำนาจแบบรัฐซ้อนรัฐ แต่เป็นการใช้อำนาจรัฐแบบพิเศษในยามที่ปราศจากอำนาจรัฐแบบปกติ และมีเป้าประสงค์อย่างหนึ่งคือป้องกันการรัฐประหาร และอาจทำให้เส้นทางการเมืองไทยสามารถฝ่าข้ามอุปสรรคไปได้โดยไม่ต้องสะดุดหรือต้องฉีกรัฐธรรมนูญและเริ่มต้นกันใหม่แบบเดิมๆ การมีอยู่ของ คปป.จึงไม่ใช่เป็นการรัฐประหารแบบถูกกฎหมายอย่างที่นักการเมืองบางคนตีความ

แต่ข้อกังวลของหลายฝ่ายก็เป็นเรื่องที่จะต้องรับฟัง และหากมี คปป.เกิดขึ้นก็จะต้องตระหนักและระมัดระวังในการใช้อำนาจให้มาก หากใช้อำนาจอย่างไม่ชอบธรรมก็จะทำให้ความขัดแย้งทางการเมืองรุนแรงยิ่งขึ้นกว่าเดิม

สำหรับการกำหนดให้ สว.ที่มาจากการสรรหามีบทบาทในการถอดถอนทุกฝ่ายได้นั้น ก็เป็นการสร้างสมดุลของอำนาจและคาดหวังให้การถอดถอนเกิดประสิทธิผลขึ้นมาบ้าง เพราะในอดีตนั้นการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง ด้วยเหตุที่ สว.เลือกตั้งส่วนใหญ่เป็นพวกเดียวและอยู่ภายใต้การชี้นำและกำกับของนักการเมืองที่ดำรงตำแหน่งบริหารและนิติบัญญัตินั่นเอง

แต่การให้ สว.สรรหามีอำนาจในการถอดถอนด้วยก็ไม่ใช่หลักประกันที่ทำให้การถอดถอนมีประสิทธิผลแต่อย่างใด เพราะในอดีต สว.จากการสรรหาจำนวนไม่น้อย แทนที่จะทำหน้าที่ให้สมศักดิ์ศรี กลับไปซุกปีกนักการเมืองโดยปราศจากความละอายเสียเอง

จะเห็นได้ว่ามาตรการเหล่านี้เป็นมาตรการที่ ผู้ร่างฯสร้างขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาที่นักการเมืองทำไว้ในอดีต แต่ดูเหมือนนักการเมืองยังไม่ตระหนักว่าพวกเขาคือต้นเหตุหลักของปัญหา กลับดาหน้าออกมาวิจารณ์และเสนอให้คว่ำร่างรัฐธรรมนูญ

เหตุผลหลักคือบรรดานักการเมืองทุกพรรคทุกกลุ่มมีความหวาดกลัวว่าตนเองสูญเสียอำนาจ ผลประโยชน์ และมิอาจทำอะไรได้ตามอำเภอใจดังเดิมนั่นเอง ส่วน สปช. จะทำตามที่นักการเมืองเรียกร้องและคว่ำร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้หรือไม่ อีกไม่นานก็คงจะทราบกันครับ



กำลังโหลดความคิดเห็น