“จาตุรนต์” ดักคอถ้า คสช. กดดัน กมธ. ยกร่างฯ ล็อกที่มา ส.ว. แค่สรรหาจริง ตีความได้หวังสืบทอดอำนาจ พร้อมชี้ล่าชื่อ สปช. คว่ำ รธน. แลกเก้าอี้สภาขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศ เกมต่อรองผลประโยชน์การเมือง
วันนี้ (8 ส.ค.) เมื่อเวลา 15.00 น. นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีต รมว.ศึกษาธิการ กล่าวถึงกรณีข่าว กมธ. ยกร่างรัฐธรรมนูญ อึดอัดหลังถูก คสช. กดดันให้ปรับแก้ร่างรัฐธรรมนูญให้ ส.ว. มาจากการสรรหาอย่างเดียว ว่า เรื่องที่ กมธ. ยกร่างฯ บางคน บอกมีแรงกดดันจาก คสช. มันพิสูจน์ไม่ได้ แต่น่าเชื่อได้ว่าเกิดขึ้นจริง แต่จะจริงไม่จริง มันก็แสดงให้เห็นว่า ในหมู่ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการร่างรัฐธรรมนูญ กับผู้มีอำนาจทั้งหลาย ยังมีความคิดที่ทำให้มั่นใจว่า ต้องการให้ผู้ที่มาจากการเลือกตั้ง และรัฐบาล อยู่ภายใต้การกำกับควบคุมของผู้ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งต่อไป เพราะ ส.ว. มีอำนาจแต่งตั้งบุคคลในองค์กรอิสระ มีอำนาจถอดถอนบุคคลสำคัญที่ดำรงตำแหน่งระดับสูง มีอำนาจในการปฏิรูป โดยเฉพาะมีอำนาจออกกฎหมาย ซึ่ง ส.ว. จะมีอำนาจเหนือสภาผู้แทนราษฎร เพราะฉะนั้น เขาอาจกลัวว่า ถ้ามี ส.ว. เลือกตั้งเข้ามา การถอดถอนที่ต้องทำร่วมกับ ส.ส. จะทำได้ยาก การออกกฎหมายผลักดันการปฏิรูปอาจไม่ได้ดั่งใจ เป็นความพยายามหลังการเลือกตั้งที่ต้องการกำกับนโยบาย ถือเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามสืบทอดอำนาจจากปัจจุบันไปนั่นเอง
นายจาตุรนต์ กล่าวว่า ขณะที่การร่างรัฐธรรมนูญที่พยายามทำกันอยู่ เป็นการสร้างการปกครองที่ไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างถาวร ถ้าแรงกดดันจาก คสช. มีอย่างนั้นจริง ต้องการไม่ให้เป็นประชาธิปไตยหนักยิ่งขึ้นไปอีก หลักใหญ่ใจความของร่างรัฐธรรมนูญนี้ เป็นการหาทางไม่ให้ประชาชนได้มีส่วนในการตัดสินอนาคตของบ้านเมือง และต้องการทำให้สิ่งที่ผู้มีอำนาจในปัจจุบันคิดอยู่ ถูกนำมาใช้ต่อไปอย่างยืดเยื้อยาวนาน
นายจาตุรนต์ กล่าวว่า จากการปล่อยข่าวว่ามีการให้เข้าชื่อ สปช. บางคนเพื่อให้คว่ำร่างรัฐธรรมนูญเพื่อแลกกับการเป็นสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ถ้ามีจริงการผ่านหรือคว่ำร่างรัฐธรรมนูญของสปช. กำลังไม่ใช่เรื่องของการใช้เหตุผลในเนื้อหาสาระข้อดีข้อเสียของร่างรัฐธรรมนูญ แต่เป็นเรื่องของผลประโยชน์ทางการเมืองเป็นหลัก นอกจากนั้น ที่น่าเสียดายคือ ความคืบหน้าในการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญขั้นสุดท้าย ไม่ได้มีการเผยแพร่ต่อสาธารณะ ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ไม่รู้ว่า เนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญมีเนื้อหาสาระอย่างไร จากการติดตามข่าวพบว่าร่างรัฐธรรมนูญช่วงหลังไม่ได้มีการแก้ไขให้แตกต่างจากช่วงแรกเลย ไม่มีการเปิดเผยข้อสรุป ทำกันแบบงุบงิบ และเมื่อเปิดเผยออกมาเป็นคำตอบที่แก้ไขอะไรไม่ได้อีกแล้ว
นายจาตุรนต์ กล่าวว่า ถ้า สปช. กำลังจะตัดสินใจบนพื้นฐานผลประโยชน์การเมืองพวกตน มากกว่าความดีหรือไม่ดีของร่างรัฐธรรมนูญ ในแง่ของผู้ที่ต้องการเห็นบ้านเมืองเป็นประชาธิปไตย คงไม่สามารถเข้าไปร่วมกับเกมผลประโยชน์ทางการเมือง ที่ สปช. และผู้มีอำนาจทั้งหลายกำลังเล่นกันอยู่นี้ได้ และเมื่อเร็ว ๆ นี้ มีการให้ข่าวว่า นักการเมืองไปล็อบบีให้ สปช. ผ่านร่างรัฐธรรมนูญเพื่อให้มีการเลือกตั้งเร็ว ๆ ตนคิดว่าเรื่องนี้น่าเป็นยกเมฆ กุข่าวขึ้นมากกว่า เพราะว่าถ้าหากพิจารณาตามเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญแล้ว ร่างรัฐธรรมนูญนี้เป็นร่างรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างยิ่ง นำไปสู่การเป็นรัฐบาลที่บริหารประเทศไม่ได้ การเมืองไม่มีเสถียรภาพ และในที่สุดไม่สามารถแก้ปัญหาของประชาชน หรือตอบสนองความต้องการประชาชนได้ และสุดท้ายนำไปสู่ความขัดแย้งของประชาชนยิ่งกว่าเดิม เพราะฉะนั้นเชื่อว่าถ้ามาถามนักการเมืองที่ยังยึดมั่นในหลักการประชาธิปไตย เห็นอย่างไรกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ถ้าไม่มีปาฏิหาริย์หรือมีการแก้ไขหน้ามือเป็นหลังมือแล้ว คำตอบก็จะต้องเป็นว่าไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญแบบนี้ และเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อประเทศ